เล่มที่ 8
ศัลยศาสตร์และวิสัญญีวิทยา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาขณะได้รับยาดมสลบ

            เมื่อผู้ป่วยได้รับยาสลบโดยวิธีสูดดม ยาสลบมีฤทธิ์แทรกซึมผ่านเยื่อบุถุงลมที่ปอดเข้าสู่กระแสโลหิต ส่วนยาสลบที่ให้โดยวิธีฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ก็จะเข้าสู่กระแสโลหิตโดยตรง เมื่อยาสลบไหลเวียนผ่านไปตามกระแสโลหิตก็จะถูกดูดซึมที่อวัยวะต่างๆ ทั่วทั้งร่างกาย ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่ระบบประสาท ยาสลบมีฤทธิ์กดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้หมดสติ ไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกใดๆ กดศูนย์ควบคุมการหายใจกดการบีบตัวของหัวใจ และทำให้หลอดเลือดขยายตัว ผลของยาสลบที่กดระบบต่างๆ ในร่างกายจะแปรเปลี่ยนตามความเข้มข้นของยาสลบ ที่ได้รับสูดดม เมื่อความเข้มข้นของยาสลบในกระแสโลหิตเพิ่มมากขึ้นจะกดการทำงานของระบบประสาท ระบบหายใจ ระบบการไหลเวียนเลือด และระบบอื่นๆ มากขึ้น การให้ยาสลบมากเกินไป จะทำให้คนไข้หลับลึกเกินต้องการ หายใจไม่พอหรือหยุดหายใจ และความดันเลือดตก แต่ถ้าให้ยาสลบน้อยเกินไป คนไข้จะรู้สึกตัว และตอบสนองต่อความเจ็บปวด หน้าที่ของวิสัญญีแพทย์และวิสัญญีพยาบาล คือ

            (๑) จะต้องรู้ว่าผู้ป่วยแต่ละรายนั้นต้องการความเข้มข้นของยาสลบมากน้อยเพียงใด เพื่อให้พอเหมาะกับการผ่าตัดชนิดนั้นๆ

            (๒) ในระหว่างผ่าตัดต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดให้หลับในขนาดที่พอดี

             (๓) ช่วยการหายใจและให้ออกซิเจนให้พอกับความต้องการ

            (๔) รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ และ

            (๕) ทดแทนน้ำและเลือดให้เพียงพอแก่ความต้องการในขณะผ่าตัด ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยที่สุด ในระหว่างที่ได้รับยาสลบอยู่