ส่วนประกอบของเลือดและประโยชน์ของเลือดต่อชีวิตมนุษย์
เลือดที่ไหลเวียนในกระแสโลหิตของร่างกายอาจเปรียบเสมือนขบวนรถไฟสินค้า ขนส่งสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตไปสู่สถานีต่างๆ ภายในกระแสโลหิตมีทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด มีก๊าซ เช่น ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ เกลือแร่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต นอกจากนี้แล้ว ยังมีสารจำพวกฮอร์โมน วิตามิน เอนไซม์ และแอนติบอดี ซึ่งทั้งหมดนี้ รวมตัวกันอยู่ในน้ำ ผู้โดยสารรถไฟขบวนพิเศษนี้ ได้อาศัยการไหลเวียนของเลือดภายในร่างกาย เดินทางไปสู่จุดหมายที่ต้องการ เช่น มีการลำเลียงน้ำตาลกลูโคสจากที่เก็บไว้ในตับไปยังกล้ามเนื้อ เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดการเผาผลาญเปลี่ยนเป็นพลังงาน ส่วนอื่นๆ เช่น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ต่างก็มีหน้าที่พิเศษเฉพาะตัว
หยดเลือด แสดงให้เห็นการอยู่ร่วมกันของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด (ดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน)
เม็ดเลือดแดง (Red blood cells)
มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๗-๘ ไมโครเมตร รูปร่างเหมือนจานแต่บุ๋มตรงกลางทั้งสองข้าง มีอยู่ทั้งหมดประมาณร้อยละ ๔๐-๕๐ ของปริมาตรเลือดทั้งหมดของร่างกาย หรือปริมาณ ๔ - ๕ ล้านเซลล์ ต่อเลือดหนึ่งมิลลิลิตร มีอายุในกระแสโลหิตได้นาน ประมาณ ๑๒๐ วัน โดยทั่วไปในวันหนึ่งๆ มีการสร้างเม็ดเลือดออกมาใหม่ประมาณร้อยละ ๙ ของจำนวนทั้งหมดที่มีอยู่ในร่างกาย
โครงสร้างของเม็ดเลือดแดงประกอบด้วยสารไลโปโปรตีน (โปรตีนและไขมัน) และมีสารโปรตีนที่จับกับเหล็กที่เรียกว่า เฮโมโกลบิน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการจับนำเอาออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆ ของร่างกายทางเส้นเลือดแดง และนำคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นของเสียจากเนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆ กลับไปยังปอด เพื่อถ่ายทอดออกทิ้งไปทางเส้นเลือดดำ ในคนปกติ ผู้ชายจะมีเฮโมโกลบินประมาณ ๑๔-๑๘ กรัม ในเลือด ๑๐๐ มิลลิลิตร ผู้หญิงจะมีเฮโมโกลบินประมาณ ๑๒-๑๖ กรัมในเลือด ๑๐๐ มิลลิลิตร หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของเฮโมโกลบิน คือ รักษาดุลความเป็นกรดด่างของเลือดให้อยู่ในเกณฑ์พอดี
เม็ดเลือดขาว (White bolld cells)
มีอยู่ประมาณ ๕,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ เซลล์ในเลือด ๑ มิลลิลิตร ประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาว ๕ ชนิดต่างๆ กัน โดยอาศัยคุณลักษณะในการติดสีที่ใช้ย้อม และลักษณะของ นิวเคลียสเมื่อส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ได้แก่ นิวโตรฟิล (neutrophil) ลิมโฟไซต์ (lymphocyte) โมโนไซต์ (monocyte) เบโซฟิล (basophil) และอีโอซิโนฟิล (eosinophil)
นิวโตรฟิล มีหน้าที่กำจัดบัคเตรี หรือสิ่งแปลกปลอมที่เป็นเม็ดเล็ก ๆ เมื่อมีเชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่ร่างกายจะถูกนิวโตรฟิลจับ (phagocytosis) เข้าไปในไซโตพลาสม์ (cytoplasm) ซึ่งมีแกรนนูลของนิวโตรฟิล คือ ไลโซโซมส์ (lysosomes) อยู่ ไลโซโซมส์เป็นถุง ซึ่งภายใน บรรจุน้ำย่อยจำพวกเหล่านี้ออกมาย่อยเชื้อจุลินทรีย์และสิ่งแปลกปลอมที่มีขนาดเล็กๆ เหล่านี้
นิวโตรฟิล
ลิมโฟไซท์ แต่เดิมนั้นมีผู้คิดว่าลิมโฟไซท์ไม่มีหน้าที่ใดๆ เลย แต่ในปัจจุบันทราบดีว่า ลิมโฟไซท์มีหน้าที่สำคัญๆ หลายอย่างทั้งที่ทราบดีแล้ว และที่ยังไม่ทราบแน่นอนก็มีอยู่มาก
ลิมโฟไซต์
เชื่อว่าลิมโฟไซท์อยู่ ๒ จำพวก
๑. พวกที่กำเนิดมาจากต่อมไธมัส ซึ่งเป็นแหล่งกลางของปฏิกิริยาทางดิมมูน เป็นตัวส่งลิมโฟไซท์ออกไปให้กำเนิดแก่ลิมโฟไซท์ในอวัยวะน้ำเหลืองอื่นๆ ลิมโฟไซท์ชนิดนี้มีความจำและจะทำลายสิ่งที่ไม่เหมือนตัวเอง
๒. พวกที่กำเนิดมาจากต่อมน้ำเหลือง (lymph nodes และ lymphoid tissue) ของระบบทางเดินอาหาร ทำหน้าที่สร้างแอนติบอดีและควบคุมภาวะไวเกินจากภูมิคุ้มกันส่วนเซลล์ (cell mediated hypersensitivity responses.)
โมโนไซท์ มีหน้าที่ป้องกันร่างกายเช่นเดียวกับนิวโตรฟิล สามารถกินเชื้อจุลินทรีย์ เช่น บัคเตรี เชื้อรา ยีสต์ หรือแม้แต่เม็ดเลือดแดง โดยที่โมโนไซท์สามารถกินของใหญ่ๆ ได้ บางทีจึงเรียกกันว่า มัค โครเฟจ (macrophage) เทียบกับนิวโตรฟิล ซึ่งเรียกว่า ไมโครเฟจ(microphage) โมโนไซท์มีชีวิตในกระแสโลหิตที่หมุนเวียนเพียงระยะสั้นเท่านั้น ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายเข้าสู่เนื้อเยื่อ แล้วเปลี่ยนรูปร่างกลายเป็น ฮิสติโอไซท์ (Histliocyte)
โมโนไซต์
เบโซฟิลหรือมาสท็เซลล์ (mast cell) ปัจจุบันเชื่อว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งในปฏิกิริยาภูมิแพ้ (hypersensitivity) จากปฏิกิริยาของแอนติเจนกับแอนติบอดี โดยไปทำให้เม็ดแกรนนูลของเบโซฟิลสลายตัวปล่อยสารฮิสตามีน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้มีอาการแพ้ออกมาอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกัน ไปตามลักษณะอวัยวะที่เกิด เช่น ถ้าเป็นที่ผิวหนัง ทำให้มีอาการคัน ถ้าเป็นที่หลอดลม ทำให้หลอดลมตีบ ทำให้มีอาการเป็นหืด หรือถ้าหากมีสารฮิสามีนจำนวนมากเข้าไปในกระแสโลหิต อาจทำให้เกิดอาการช็อค (anaphylactic shock) ได้ เช่น ในกรณีของการแพ้เพนิซีลลิน เป็นต้น
เบโซฟิล
อีโอซิโนฟิล เชื่อว่ามีหน้าที่เกี่ยวกับการขจัดฤทธิ์ของฮิสตามีน ในปัจจุบันยังไม่ทราบถึงธรรมชาติทางเคมี และกลไกในการออกฤทธิ์ที่แน่นอน
อีโอซิโนฟิล
เกล็ดเลือด (Platelet)
เชื่อว่ามีกำเนิดมาจากไซโตพสาสม์ของเมกาคาริโอไซต์ (megakaryocyte) ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อยู่ในไขกระดูก คือมีขนาดประมาณ ๓๕-๑๖๐ ไมโครเมตร ภายในไซโต- พลาสม์มีเม็ดแกรนนูล นอกจากนั้นแล้ว ไซโตพลาสม์ยังมี ขาเทียม (pseudopods) เล็กๆ ยื่นออกมาเป็นจำนวนมาก และต่อมา จะหลุดออกมาเป็นเกล็ดเลือด มีจำนวนประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ - ๔๕๐,๐๐๐ เซลล์ ในจำนวนเลือดหนึ่งมิลลิลิตร มีชีวิตอยู่ใน กระแสโลหิตได้นานประมาณ ๘-๑๑ วัน มีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับ การห้ามเลือดโดยตรง โดยจะรวมตัวเป็นกระจุก (Platelet plug) อุดตรงบริเวณที่มีหลอดเลือดฉีกขาด นอกจากนี้แล้วยังมีบทบาท สำคัญในกลไกการแข็งตัวของเลือด โดยให้ปัจจัยในการแข็งตัว ของเลือด (platelet factors I, II, III และ IV) อีกด้วย หน้าที่อื่นที่นอกเหนือจากนี้คือ การนำสารต่างๆ ไปกับตัวเกล็ดเลือดด้วย คือ สารซีโรโทนิน (serotonin) สารแอดรีนาลิน (adrenalin) และนอร์แอดรีนาลิน (noradrenalin) และยังพบอีกว่า เกล็ดเลือด สามารถจับมวลสารขนาดเล็ก เช่น ไวรัส ได้ด้วย ดังนั้น เกล็ด เลือดจึงมีความสำคัญในการต่อต้านเชื้อโรคด้วย
เกล็ดเลือด (ส่วนที่กระจายอยู่รอบนอก) เมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน
พลาสมา (Plasma)
เป็นส่วนน้ำของเลือดที่ไม่แข็งตัว หมายถึงเลือดที่ ไม่มีสารที่เป็นมวลสาร (formed elements) มวลสารหมายถึง เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ในพลาสมาจำนวน ๑๐๐ มิลลิลิตรมีโปรตีนอยู่ประมาณ ๖.๔ - ๘.๒ กรัม
เลือดและพลาสมา (สีเหลืองฟาง)
คุณสมบัติเฉพาะของพลาสมาโปรตีน ประกอบด้วยส่วนที่ เป็นคาร์โบไฮเดรต เรียกว่า ไกลโคโปรตีน (glycoprotein) ส่วน ที่เป็นไขมันเรียกว่า ไลโปโปรตีน (lipoprotein) หรืออาจเรียก ตามลักษณะการเคลื่อนตัวในสนามไฟฟ้า (electrophoretic mobility) ว่า แอลบูมินแอลฟา -๑ แอลฟา -๒ บีตา และ แกมมาโกลบูลิน เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว พลาสมายังมีความ สำคัญเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดโดยตรง โดยมีปัจจัยสำหรับ การแข็งตัวของเลือดอยู่ถึง ๑๒ ชนิด ได้แก่ แฟกเตอร์ - I หรือ ไฟบริโนเจน (fibrinogen) แฟกเตอร์ -II หรือ โพร- ทรอมบิน (prothrombin) แฟกเตอร์ - III หรือ ทรอมโบพลาสติน (thromboplastin) แฟกเตอร์ -IV หรือ แคลเซียม (calcium) แฟกเตอร์ -V หรือ เลไบล์แฟกเตอร์ (labile factor) แฟกเตอร์ - VII หรือ โพรคอนเวอร์ติน (proconvertin) แฟกเตอร์ -VIII หรือแอนติฮีโมฟิลิกโกลบูลิน (antihemophilic globulin) แฟกเตอร์ - IX หรือคริสต์มัสแฟกเตอร์ (christmas factor) แฟกเตอร์ - X หรือสจวร์ตโพรเวอร์แฟกเตอร์ (stuart - prower factor) แฟกเตอร์ - XI หรือ พลาสมาทรอมโบพลาสตินแอนติซิเดนท์ (plasma thromboplastin anticedent) แฟกเตอร์ - XII หรือ เฮจแมนแฟกเตอร์ (hageman factor) และแฟกเตอร์ - XIII หรือ ไฟบรินสเตบิไลชิง แฟกเตอร์ (fibrin stabilising factor)