เล่มที่ 9
เวชศาสตร์ชันสูตร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            การทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายนั้น มีกลไกต่างๆ สลับซับซ้อนอยู่อย่างมากมาย มีขบวนการทางชีวเคมีเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเป็นอันมาก เมื่อใดที่เกิดความเจ็บป่วยขึ้น ขบวนการต่างๆ เหล่านั้น จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย หรือบางครั้งในทางกลับกัน เนื่องจากมีขบวนการทางชีวเคมีเปลี่ยนแปลงไป ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้

            นอกจากจะมีขบวนการทางชีวเคมีเข้ามามีบท- บาททำให้เกิดโรคแล้ว เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เข้าไปสู่ร่างกาย เช่น เชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ สารพิษ ตลอดจนเนื้องอกเนื้อร้ายที่เติบโตขึ้นอย่างขาดการควบคุม ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้ ร่างกายย่อมจะมีการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม เชื้อจุลินทรีย์ หรือต่อมเนื้องอกเนื้อร้ายไปในลักษณะแตกต่างกันออกไป ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงในลักษณะต่างๆ เหล่านี้เอง เมื่อได้นำมาประมวลกันเข้า จะทำให้สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้หลายโรค และยังช่วยใน การพยากรณ์การดำเนินโรคได้ล่วงหน้าว่า โรคจะหาย ทุเลา หรือจะดำเนินต่อไปประการใด จะมีความพิการ อะไรเหลืออยู่หรือไม่ หรือจะหายโดยสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังจะช่วยในการที่จะเลือกใช้ยา หรือเลือกวิธีการรักษาโรคในหลายกรณี ช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค ในกรณีที่โรคละม้ายคล้ายคลึงกัน ช่วยประเมินผลการ รักษา และช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้ การกระทำเช่นนี้ มักกระทำในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเรียกว่า ห้องชันสูตรโรค วิชาที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์สาขานี้จึงเรียกกันว่า "เวชศาสตร์ชันสูตร"
ห้องชันสูตร
ห้องชันสูตร
            การชันสูตรนั้นก็จะจำแนกต่อไปเป็นสาขาต่างๆ อีกมากมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของแพทย์ ในโรงพยาบาลระดับต่างๆ และอุปกรณ์ที่จะอำนวยให้ทำได้ โดยทั่วๆ ไปแล้ว ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะมีห้องชันสูตรที่มีขีดความสามารถในสายต่างๆ ดังนี้คือ

            ๑. การวิเคราะห์สารเคมีในร่างกาย เช่น การตรวจหาปริมาณน้ำตาลในเลือด การตรวจหาปริมาณคอเลสเทอรอลในเลือด (ไขมัน) การตรวจหาปริมาณกรดยูริกในเลือด และการตรวจหาดุลกรด-ด่างในเลือด เป็นต้น

            ๒. การทดสอบเกี่ยวกับโลหิตวิทยา เช่น การนับหาปริมาณเม็ดเลือดขาว การตรวจดูการแข็งตัวของเลือด และการตรวจเลือดจาง (ดูปริมาณฮีโมโกลบิน) เป็นต้น

            ๓. การตรวจปัสสาวะ เช่น การตรวจหาไข่ขาวในปัสสาวะ การตรวจหาน้ำตาลในปัสสาวะ การตรวจน้ำดี การตรวจดูเซลล์ ที่ลอกหลุดออกมาในปัสสาวะโดยกล้องจุลทรรศน์ และการทดสอบสมรรถภาพไต เป็นต้น

            ๔. การตรวจอุจจาระ เช่น การตรวจเพื่อดูไข่พยาธิลำไส้ชนิดต่างๆ การตรวจเชื้อบิด การตรวจดูการตกเลือดในกระเพาะอาหาร และลำไส้ เป็นต้น

            ๕. การตรวจเชื้อจุลินทรีย์และตรวจน้ำเหลืองหาภูมิคุ้มกัน เช่น การเจาะเลือดเพาะเชื้อไข้ไทฟอยด์ ป้ายคอไปเพาะเชื้อหนอง การตรวจแยกเชื้อไข้หวัดใหญ่การตรวจน้ำเหลืองเพื่อชันสูตรโรคซิฟิลิส การป้ายหนองจากท่อปัสสาวะเพื่อตรวจโรคหนองใน การขูดผืนผิวหนังเพื่อชันสูตรโรคเรื้อน หรือโรคเชื้อรา เป็นต้น

            ๖. การตรวจฮอร์โมน เช่น การตรวจดูระดับของฮอร์โมนของต่อมไธรอยด์ในเลือด การตรวจดูฮอร์โมนในปัสสาวะ เพื่อวินิจฉัยการตั้งครรภ์ เป็นต้น

            ๗. การตรวจสารน้ำต่างๆ ในร่างกาย เช่น น้ำที่เจาะอกมาจากช่องเยื่อหุ้มปอด น้ำไขสันหลัง เป็นต้น

            ๘. การตรวจสอบสมรรถภาพของตับ ในรายที่เป็นโรคตับแข็ง ตับอักเสบ และมะเร็งของตับ เป็นต้น

            ๙. การตรวจทางเซลล์วิทยา เช่น เมื่อสตรีไปตรวจสุขภาพประจำปี ได้รับการตรวจภายใน แพทย์จะป้ายเซลล์ที่ปากมดลูก ไปตรวจดูว่า มีเซลล์ผิดปกติที่จะบ่งชี้ว่า เป็นมะเร็งหรือไม่

            ๑๐. การตรวจโครโมโซม เพื่อให้การวินิจฉัยโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม

            ๑๑. การตรวจการเป็นหมัน ตรวจดูทั้งปริมาณ และคุณภาพของเชื้ออสุจิ

            ๑๒. การตรวจทางนิติเวชตร์ เช่น การตรวจความเป็นพ่อ แม่ ลูก การตรวจวิถีกระสุน การตรวจเขม่าดินปืน และการตรวจพิสูจน์หลักฐานการข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น

            ๑๓. การตรวจทางธนาคารเลือด เช่น การตรวจหาหมู่เลือด การตรวจการเข้ากันได้ของเลือดระหว่างผู้บริจาค และผู้รับ และการตรวจการเข้ากันได้ในการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ เป็นต้น

            ๑๔. การตรวจทางพิษวิทยา เช่น การตรวจสารพิษต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วย เช่น ตะกั่ว โครเมียม แมงกานีส ยาฆ่าแมลง สารพิษในอาหาร โลหะหนักเป็นพิษในสิ่งแวดล้อมของโรงงานและอื่นๆ

            ๑๕. การตรวจเกี่ยวกับอาหาร น้ำ และนมเป็นการตรวจทางสาธารณสุข เพื่อควบคุมคุณภาพของอาหาร น้ำ และนม ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เป็นต้น