ส่วนรับส่งข้อมูล ส่วนรับส่งข้อมูลเป็นส่วนสำคัญมากที่สุด ในการที่ผู้ใช้เครื่องจะทำการสื่อสารกับเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยส่งคำสั่งและข้อมูล ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำตามในสิ่งที่ต้องการ และรับผลที่เครื่องคอมพิวเตอร์ทำเสร็จแล้ว ด้วยอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องอ่านบัตรคอมพิวเตอร์ เครื่องอ่าน และเครื่องบันทึกแถบแม่เหล็ก จานแม่เหล็ก เครื่องพิมพ์กระดาษต่อเนื่อง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์บางอย่างที่สามารถรับส่งข้อมูลในระยะห่างไกลได้ เช่น เครื่องโทรพิมพ์ และเครื่องแสดงผลทางจอโทรทัศน์ (visual display unit; VDU) โดยผ่านสายโทรศัพท์ เครื่องอ่านบัตร (card reader) เครื่องอ่านบัตรจะทำหน้าที่อ่านข้อมูลบนบัตร แล้วเปลี่ยนให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยอ่านเป็นเลขฐานสอง ที่มี ๑๒ บิต (จาก ๑๒ แถวบนบัตร) แล้วเปลี่ยนให้เป็นเลขฐานสองที่มี ๖ บิต หรือ ๘ บิต (ตามแบบของคอมพิวเตอร์ที่ใช้) เครื่องอ่านบัตรมีสองแบบ คือ แบบใช้แปรงโลหะ และแบบใช้หลอดโฟโตอิเล็กทริก (photoelectric) | |||
บัตรคอมพิวเตอร์ | |||
ในเครื่องอ่านบัตรแบบใช้แปรง บัตรจะเคลื่อนออกจากที่เก็บ โดยวิธีทางกลผ่านเข้าไปใต้แปรงโลหะที่ทำหน้าที่เหมือนสะพานไฟฟ้า เมื่อมีรูบนบัตรเคลื่อนมาถึงแปรง แปรงก็จะสามารถลอดผ่านไปแตะกับลูกกลิ้งโลหะข้างล่าง ทำให้มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน และเกิดเป็นสัญญาณไฟฟ้าขึ้น การอ่านจะกระทำสองครั้ง เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง แล้วบัตรจะเคลื่อนผ่านไปยังที่เก็บ หากผลการอ่านสองครั้งไม่ตรงกัน เครื่องอ่านบัตรจะรายงานความผิดพลาด
ในทำนองเดียวกันเครื่องอ่านบัตรที่ใช้โฟโตอิเล็กทริกเซลล์ ซึ่งทำงาน โดยให้บัตรเคลื่อนผ่านแสงไฟ ถ้าที่ใดมีรูเจาะไว้ก็จะมีแสงลอดมาถูกโฟโตอิเล็กทริกเซลล์ เซลล์หนึ่งสำหรับแถวดิ่งหนึ่งแถว ครั้นแล้วจะมีสัญญาณไฟฟ้าเกิดขึ้น แต่สามารถทำงานได้รวดเร็วกว่าแบบแรก เครื่องอ่านบัตรโดยทั่วๆ ไป จะมีความเร็วตั้งแต่ ๒๐๐-๑,๒๐๐ บัตรต่อนาที บัตรคอมพิวเตอร์มีหลายชนิด ชนิดที่รู้จักกันมาก คือ บัตรฮอลเลอริท เป็นบัตรที่ ดร. เฮอร์แมน ฮอลเลอริท ประดิษฐ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๓๒ และได้นำออกใช้เป็นครั้งแรกใน การทำสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. ๒๔๓๓ บัตรนี้ทำด้วยกระดาษพิเศษ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาด กว้าง ๓ ๑/๔ นิ้ว ยาว ๗ ๑/๘ นิ้ว และหนา ๐.๐๐๗ นิ้ว มี มุมบนถูกตัดทิ้งเฉียง ที่มุมใดมุมหนึ่งบนบัตร มีตำแหน่ง เตรียมไว้ให้เจาะรู โดยมีแถวในแนวดิ่ง ๘๐ แถว และแถว ในแนวนอน ๑๒ แถว จากแถวบนตามแนวนอนลงมาแถว ล่างเรียงตามลำดับเรียกแถว ๑๒ แถว ๑๑ และแถว ๐-๙ | |||
เครื่องอ่านบัตร | |||
ข้อมูลที่บันทึกไว้บนบัตรจะเจาะรูเป็นรหัสเพื่อแทนข้อ มูล ๓ แบบ คือ ตัวเลขฐานสิบ (๐-๙) ตัวอักษร (A-Z) และเครื่องหมายต่างๆ (เช่น &,) , (,_,+,?,....) เช่น ถ้าเราต้องการบันทึกอักษร M เราก็ใช้เครื่องเจาะ หนึ่งรูที่แถว ๑๑ และอีกหนึ่งรูที่แถว ๔ ในแนวดิ่งเดียวกัน ข้อดีของบัตรคอมพิวเตอร์คือ เป็นการง่ายในการเตรียมและเก็บ แต่มีข้อเสียคือ เปลืองที่เก็บ เมื่อถูกความชื้น บัตรจะพอง และเมื่อเจาะข้อมูลลงในบัตรแล้ว ไม่สามารถเจาะข้อมูลใหม่ลงในที่เดิมได้ จึงไม่เป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เครื่องเจาะบัตรโดยใช้คอมพิวเตอร์ (key punch) เป็นเครื่องเจาะบัตรที่ทำงาน ด้วยการควบคุมของเครื่องคอมพิวเตอร์ คือ เมื่อต้องการเจาะบัตร จะต้องสั่งเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เจาะให้ โดยเครื่องจะส่งสัญญาณไฟฟ้า ไปบังคับให้กลไกสำหรับเจาะ เจาะบัตรเป็นรูเล็กๆ รูปสี่เหลี่ยมตามตำแหน่งต่างๆ บนบัตรตามคำสั่ง แล้วบัตรจะเคลื่อนผ่านเครื่องตรวจสอบ เพื่อตรวจสอบข้อมูลเทียบกับข่าวสารเดิม ครั้นแล้วจะนำไปเก็บไว้ในที่เก็บบัตร โดยทั่วไป เครื่องสามารถเจาะบัตร ด้วยอัตราเร็วประมาณ ๑๐๐-๓๐๐ บัตรต่อนาที | |||
เครื่องเจาะบัตร | |||
เครื่องอ่านบัตร และเครื่องเจาะบัตร อาจติดตั้งรวมกันเป็นเครื่องเดียวกันก็ได้ เครื่องอ่านแถบกระดาษ วิธีการอ่านแถบกระดาษมี ๒ วิธี คือ ๑. วิธีทางกล โดยใช้แปรงหลายอันมีจำนวนเท่ากับแถวของรูที่เจาะบนแถบ เมื่อแถบเคลื่อนผ่าน และรูบนแถบนั้นได้มาตรงกับแปรง แปรงก็จะลอดรูไปสัมผัสกับลูกกลิ้ง ทำให้มีสัญญาณไฟฟ้าเกิดขึ้น วิธีการนี้สามารถอ่านได้ประมาณ ๑๐๐ ตัวอักษรต่อวินาที ๒. วิธีทางแสง โดยใช้แสงและหลอดโฟโตอิเล็กทริก เมื่อแสงลอดผ่านรูของแถบมาถูกหลอดโฟโตอิเล็กทริก ก็จะมีสัญญาณไฟฟ้าเกิดขึ้น วิธีการนี้สามารถ อ่านได้ประมาณ ๑,๐๐๐ ตัวอักษรต่อวินาที โดยทั่วๆ ไปเครื่องอ่านแถบกระดาษสามารถอ่านด้วยอัตราเร็วจาก ๑๐-๒,๐๐๐ ตัวอักษรต่อวินาที ขึ้นอยู่กับแบบของเครื่องอ่านที่ใช้
แถบกระดาษ เป็นแถบที่ทำจากกระดาษที่มีความกว้างประมาณ ๑/๒ - ๑ นิ้ว มีความยาวไม่จำกัดแน่นอน การบันทึกต้วอักษร ทำได้ด้วยการเจาะรูเป็นรหัส ซึ่งเจาะไปตามแนวขวางของแถบเป็นแถว (๕,๖,๗ หรือ ๘ แถว) ขึ้นอยู่กับแบบของรหัสที่ใช้ | |||
แถบกระดาษเจาะรู (ก) แบบ ๘ แถว (ข) แบบ ๕ แถว (ค) วิธีอ่านแบบต่าง ๆ | |||
แถบแบบนี้ อาจใช้เป็นได้ทั้งส่วนรับและส่งผลงาน ในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยนิยมใช้กัน เครื่องแถบแม่เหล็ก (tape drive) เป็นเครื่องที่ใช้อ่านและบันทึกข้อมูลบนแถบแม่เหล็ก มีหลักการทำงานเหมือนเครื่องบันทึกเสียงด้วยแถบแม่เหล็กทั่วไป ที่ใช้อยู่ตามบ้าน แต่ได้ออกแบบให้มีความก้าวหน้าทางเทคนิคมากกว่า เช่น มีความเร็วสูงกว่าเครื่องที่ใช้ตามบ้าน คือ มีอัตราเร็ว ๒๕-๑๐๐ นิ้วต่อวินาที เริ่มเดินแถบ และหยุดแถบได้เร็วกว่า ระหว่างทำงานสามารถอ่านและบันทึกข้อมูลได้เร็วกว่า เป็นต้น | |||
เครื่องแถบแม่เหล็ก | เครื่องแถบแม่เหล็กนี้ มีหัวอ่าน และหรือหัวบันทึก เช่นเดียวกับในเครื่องบันทึกเสียง ที่ใช้อยู่ตามบ้าน สามารถบันทึกเป็นรอยทาง (track) แต่มีจำนวนรอยทางมากกว่า เช่น ๗ หรือ ๙ รอยทาง และเก็บข้อมูลเป็นจุดๆ (spots) ไม่เหมือนกับเครื่องบันทึกเสียง ที่บันทึกเป็นรูปคลื่น ซึ่งขึ้นอยู่กับเสียงพูด หรือเสียงดนตรี | ||
แถบแม่เหล็กทำด้วยพลาสติกฉาบออกไซด์ของโลหะ ซึ่งเมื่อทำการบันทึกข้อมูล ออกไซด์ของโลหะจะกลายเป็นแม่เหล็กเป็นจุดๆ ตามรหัสที่ใช้ แถบนี้มีลักษณะคล้ายกับแถบที่ใช้ในเครื่องบันทึกเสียง โดยมีความกว้าง ๑/๒ หรือ ๑ นิ้ว และมีความยาว ๖๐๐ หรือ ๑,๒๐๐ หรือ ๒,๔๐๐ ฟุต ตามความยาวของแถบ ๑ นิ้ว จะสามารถบันทึกตัวอักษรได้ ๕๕๖ หรือ ๘๐๐ หรือ ๑,๖๐๐ ตัวอักษร ดังนั้น แถบหนึ่งม้วนจะบันทึกตัวอักษรได้ประมาณ ๔ หรือ ๑๒ หรือ ๔๖ ล้านตัว อัตราการถ่ายทอดข้อมูล มีอัตราความเร็วแตกต่างกัน ประมาณ ๑๐,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ ตัวอักษรต่อวินาที สามารถล้างข่าวสารที่บันทึกไว้ออก และทำการอัดใหม่ได้ | |||
ม้วนแถบแม่เหล็กความยาวต่าง ๆ เก็บภายในกล่อง | |||
ในปัจจุบันได้มีการประดิษฐ์แถบแม่เหล็กนี้ ให้เล็กลง เรียกว่า แถบตลับ (cassette tape) ซึ่งเหมือนกับแถบตลับ ที่ใช้กับเครื่องเล่นแถบตลับทั่วไป |
ข้อดีของแถบแม่เหล็กคือ มีอัตราการถ่ายทอดข้อมูลเร็วมาก สามารถเก็บข้อมูลไว้ได้มาก เป็นการง่ายที่จะลบออก และนำไปบันทึกใหม่ มีราคาถูก สามารถใช้เป็น ได้ทั้งส่วนรับและส่งผลงาน และสามารถนำไปใช้เป็นส่วน ความจำได้อีกด้วย แต่มีข้อจำกัดคือ เมื่อต้องการแก้ไข ข้อมูลที่เก็บไว้ จะแก้ไขหรือแทรก (insert) ข้อมูลใหม่ลงไปในระหว่างข้อมูลเดิมที่บันทึกไว้แล้ว ได้ยาก นอกจากนี้ ยังเป็นการสิ้นเปลืองเวลาของคอมพิวเตอร์ ในการค้นหาข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งที่ต้องการ โดยเฉพาะในม้วนแถบ | กลไกของเครื่องแถบแม่เหล็ก | ||
เครื่องจานแม่เหล็ก (disk drive) เป็นเครื่องที่ใช้อ่านและบันทึกข้อมูลบนจานแม่เหล็ก มีหลักการทำงานคล้ายเครื่องเล่นจานเสียงธรรมดาทั่วๆ ไป แต่แทนที่จะมีเข็ม กลับมีหัวอ่านและหรือหัวบันทึก (read-write head) คล้ายเครื่องแถบแม่เหล็กที่เคลื่อนที่เข้าออกได้ เครื่องจานแม่เหล็ก มีสองแบบ คือ แบบจานติดอยู่กับเครื่อง (fixed disk) และแบบยกจานออกเปลี่ยนได้ (removable disk) | |||
เครื่องจานแม่เหล็กขนาดใหญ่หลายเครื่อง ที่มีความจุไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ เมกะไบต์ต่อเครื่อง จัดเป็นหน่วยความจำขนาดใหญ่ที่สุดที่มีความเร็วสูงพอควร มักใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดตั้งแต่มินิคอมพิวเตอร์ขึ้นไป มีใช้กันตามธนาคาร หน่วยงานของรัฐบาล และศูนย์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยที่เก็บสถิติต่าง ๆ | |||
จานแม่เหล็กส่วนใหญ่ทำด้วยพลาสติก มีรูปร่างเป็นจานกลมคล้ายจานเสียงธรรมดา แต่ฉาบผิวทั้งสองข้าง ด้วยสารแม่เหล็กเฟอรัสออกไซด์ การบันทึกทำบนผิวของสารแม่เหล็กแทนที่จะเซาะเป็นร่องเล็กๆ การอ่านและบันทึกข้อมูล กระทำโดยใช้หัวอ่านที่ติดตั้งไว้บนแผง ที่สามารถเลื่อนเข้าออกได้ | |||
จานแม่เหล็กในเครื่องจานแม่เหล็กขนาดใหญ่ มักประกอบด้วยแผ่นจานย่อยๆ หลายแผ่นซ้อนกัน และหมุนตลอดเวลา ด้วยความเร็วสูง แต่ละแผ่นย่อยจะมีหัวอ่านเขียนอยู่ทั้งด้านบนและด้านล่าง ในขณะหนึ่งขณะใดจะมีเพียงหัวเดียวเท่านั้นที่ทำการอ่านหรือเขียน ยกเว้นในกรณีเครื่องพิเศษบางเครื่องที่ยอมให้ใช้หลายหัวพร้อมกัน เพื่อเพิ่มอัตราเฉลี่ยในการอ่านหรือเขียนข้อมูลเป็นกลุ่มให้มากขึ้นไปอีก | |||
ข้อมูลจะถูกบันทึกไว้บนรอยทางวงกลมบนผิวจาน ซึ่งมีจำนวนต่างๆ เช่น ๑๐๐-๕๐๐ รอยทาง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของจาน มีตั้งแต่ ๑-๓ ฟุต สามารถบันทึกตัวอักษรได้หลายล้านตัวอักษร การบันทึก ใช้บันทึกทีละบิต โดยใช้แปดบิตต่อหนึ่งไบต์ จานแม่เหล็กหมุนรอบประมาณ ๑,๕๐๐-๑,๘๐๐ รอบต่อนาที สามารถค้นหาข้อมูล ด้วยเวลาเฉลี่ยประมาณ ๕๐ มิลลิวินาที สามารถย้ายข้อมูลด้วยอัตราเร็วสูงถึง ๑๒๐,๐๐๐ ไบต์ต่อวินาที ขอให้เราสังเกตว่า เวลาเฉลี่ยเหล่านี้ เป็นเวลาที่ช้ากว่าเครื่องรุ่นใหม่ๆ มาก ถ้าต้องการเก็บข้อมูลจำนวนมาก เขาจะใช้จานแม่ เหล็กที่มีจำนวน ๒ หรือ ๖ หรือ ๑๒ จานมาติดตั้งซ้อนกันตาม แนวดิ่ง รวมกันเป็น ๑ หน่วย เรียกว่า ดิสก์แพ็ก (disk pack) ซึ่งเราสามารถยกดิสก์แพ็กเข้าออกจากเครื่องได้ การทำเช่นนี้ ทำให้จานแม่เหล็กสามารถทำหน้าที่คล้ายแถบแม่เหล็ก ดิสเกตต์หรือจานฟล็อปปี (diskette หรือ flop- py disk) เป็นจานแม่เหล็กขนาดเล็ก มีรูปร่างเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมบางขนาดต่างๆ เช่น ๖ x ๖ นิ้ว ๕.๒๕ x ๕.๒๕ นิ้ว หรือ ๘ x ๘ นิ้ว บนผิวจานแต่ละผิวสามารถบันทึกข้อมูลได้ ๗๐ รอยทางวงกลม หมุนด้วยอัตราเร็ว ๓๖๐ รอบต่อนาที ดิสเกตต์แต่ละแผ่นมีความจุ ๒๕๐,๐๐๐ หรือ ๕๐๐,๐๐๐ หรือ ๑,๐๐๐,๐๐๐ ตัวอักษร สามารถย้ายข้อมูลด้วยอัตราเร็ว ๒๕๐,๐๐๐ บิตต่อวินาที
ดิสเกตต์มีราคาถูกกว่าจานแม่เหล็กและแถบแม่เหล็ก หมุนด้วยความเร็วช้า มีความเหมาะสมที่จะใช้กับมินิคอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์ | |||
ดิสเกตต์ขนาด ๕.๒๕ x ๕.๒๕ นิ้ว เป็นจานแม่เหล็กที่นิยมใช้กับไมโครคอมพิวเตอร์มากที่สุดในปัจจุบัน แต่ละแผ่นจะสามารถเก็บข้อมูลได้ตั้งแต่ ๓๖๘,๖๔๐ ถึง ๑,๒๕๘,๒๙๐ ตัวอักษร แล้วแต่คุณภาพของสารแม่เหล็กที่เคลือบอยู่บนแผ่น | |||
ข้อดีของจานแม่เหล็กและดิสเกตต์คือ สามารถค้น หาข้อมูลได้รวดเร็ว และสามารถข้ามไปอ่านข้อมูลที่ต้องการ ได้ จึงทำให้สามารถค้นหาข้อมูลได้รวดเร็วกว่าแถบแม่เหล็ก เครื่องดรัมแม่เหล็ก เป็นเครื่องที่ใช้อ่านและบันทึก ข้อมูล บนดรัมแม่เหล็กมีหัวอ่านและหรือหัวบันทึกจำนวนมาก เท่ากับจำนวนของรอยทาง ที่บันทึกข้อมูลติดตั้งไว้ใกล้ผิวของดรัม ซึ่งมีหลักการทำงานคล้ายหัวอ่านและหรือหัวบันทึกของแถบแม่เหล็ก | |||
แผนภาพแสดงการอ่านและเขียนข้อมูลบนดรัมแม่เหล็ก | |||
ดรัมแม่เหล็กเป็นวัตถุรูปทรงกระบอก ผิวเคลือบไว้ด้วยสารแม่เหล็ก มีขนาดต่างๆ กัน โดยเฉลี่ยทั่วไปมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๒ นิ้ว สูง ๘ นิ้ว บันทึกข้อมูลไว้เป็นรอยทางรอบดรัมแม่เหล็ก ประมาณ ๔๐ รอยทางต่อระยะทางหนึ่งนิ้ว และ ๒,๐๐๐ บิตต่อ ๑ รอยทาง มีความจุเฉลี่ยประมาณ ๔๐๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บิต หมุนเร็วด้วยอัตราสูง ๑๒,๐๐๐ รอบต่อนาที มีเวลาในการเรียกหาเฉลี่ย ๘ มิลลิวินาที | |||
เครื่องพิมพ์ดีดควบคุมการปฏิบัติงานของคอมพิวเตอร์ในสมัยแรก | ดรัมแม่เหล็กมีราคาถูกกว่าแกนแม่เหล็ก แต่ทำงาน ได้ช้ากว่า เนื่องจาก ต้องเสียเวลาไปในการหมุนของดรัม และการเคลื่อนย้ายหัวอ่านและหรือหัวบันทึก ไปที่ตำแหน่ง ที่ต้องการ ของคอมพิวเตอร์ ในชุดคำสั่ง | ||
เครื่องพิมพ์ดีดควบคุมการปฏิบัติงานของคอมพิวเตอร์ (console typewriter) เป็นเครื่องพิมพ์ดีดติดตั้งบนโต๊ะ มีลักษณะเหมือนเครื่องพิมพ์ดีดทั่วๆ ไป แต่ภายในมีสายไฟฟ้าต่อเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยสามารถเป็นได้ทั้งส่วนรับงาน และส่วนแสดงผล | |||
ระบบคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน นิยมใช้เครื่องรับส่งแบบจอโทรทัศน์ควบคุมการทำงานแทนเครื่องพิมพ์ดีด โดยมีเครื่องพิมพ์ต่อแยกต่างหาก เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน | |||
เครื่องพิมพ์ดีดนี้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างพนักงานควบคุมเครื่องกับเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยการกดปุ่มบนแป้นตัวอักษร เครื่องก็จะสามารถพิมพ์ตัวอักษรนั้นเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์ก็จะทำงานตามคำสั่ง และส่งผลงานกลับมาให้เครื่องพิมพ์ พิมพ์ลงบนกระดาษพิมพ์ อัตราเร็วของการพิมพ์ข้อมูลเข้า จะขึ้นอยู่กับความ สามารถของพนักงานที่ทำการพิมพ์ดีด แต่การแสดงผลจะขึ้นอยู่กับการออกแบบอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้กับเครื่องพิมพ์นี้ ซึ่งตามปกติจะมีอัตราเร็วประมาณ ๑๐-๓๓๐ ตัวอักษรต่อวินาที บางครั้งอาจใช้เครื่องรับส่งแบบจอโทรทัศน์แทนเครื่อง พิมพ์นี้ได้ เครื่องโทรพิมพ์ (teletype) เป็นเครื่องที่ใช้สื่อสารข้อมูลกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ใกล้หรือไกลเช่นเดียวกับโทรศัพท์ ที่เราใช้สื่อสารกันด้วยคำพูด แต่โทรพิมพ์เราใช้สื่อสารกันด้วยตัวอักษรที่พิมพ์บนแผ่นกระดาษ วิธีการพิมพ์มีหลายวิธี คือ ใช้กงล้อที่มีตัวอักษร ใช้วิธีการทางไฟฟ้าสถิต โดยทำให้หยดหมึกมีประจุไฟฟ้าลบ ซึ่งจะวิ่งเข้าติดกับกระดาษพิมพ์ด้วยขั้วไฟฟ้า (electrode) จำนวนมาก และใช้เข็มพิมพ์จำนวนมาก (dot matrix) เมื่อได้รับสัญญาณ เข็มจะพุ่งออกมาพิมพ์เป็นตัวอักษรตามรหัสของข้อมูลต่างๆ เครื่องโทรพิมพ์มีอยู่หลายแบบ บางแบบใช้รับข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ แล้วพิมพ์บนกระดาษเท่านั้น แต่บางแบบก็สามารถใช้ส่งข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ได้ นอกจากนี้ อาจจะมีเครื่องแถบกระดาษเพิ่มขึ้นอีกด้วย |
เครื่องโทรพิมพ์ | โทรพิมพ์ยังใช้เป็นเครื่องส่งข้อมูลอย่างอื่นได้อีก เช่น คำสั่งซื้อขาย ใบส่งของ ใบจองตั๋วเครื่องบิน เช็คจ่ายเงินเดือน ข้อมูลเกี่ยวกับเรือเข้าออก เป็นต้น | ||
เครื่องรับส่งแบบจอโทรทัศน์ (visual display unit; VDU หรือ cathode-ray tube; CRT) ประกอบด้วยจอโทรทัศน์ และแป้นตัวอักษรเป็นเครื่องรับส่งข้อมูล ซึ่งสามารถแสดงเป็นภาพหรือตัวอักษรปรากฎขึ้นบนจอโทรทัศน์ ซึ่งเหมือนจอโทรทัศน์ที่ใช้กับเครื่องรับโทรทัศน์ทั่วๆ ไป ใน การส่งข้อมูลจะทำได้ โดยการกดแป้นตัวอักษร ตัวอักษรนั้น จะปรากฏขึ้นบนจอโทรทัศน์ และส่งเข้าไปไว้ในส่วนความจำ ถ้าพิมพ์ผิดก็สามารถแก้ไขได้ ลบทิ้งได้ หรือถ้าต้องการใช้ข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ก็สามารถเรียกออกมาแสดงบนจอโทรทัศน์ได้
ภาพที่แสดงบนจอโทรทัศน์อาจเป็นตัวอักษร ภาพแสดงทางวิศวกรรม และทางวิทยาศาสตร์ ในปัจจุบันได้มีผู้ประดิษฐ์ปากกาแสง (light pen) ใช้สำหรับเขียนเส้นบนจอโทรทัศน์เป็นภาพต่างๆ เช่น ภาพโครงสร้าง ภาพแบบแปลนของเครื่องยนต์ เป็นต้น ทำให้การออกแบบบางอย่างสำเร็จลงได้อย่างรวดเร็ว และได้รับความสะดวกมากขึ้น ในปัจจุบันนี้ ได้มีการประดิษฐ์จอโทรทัศน์ขนาดใหญ่มากขึ้นอีกหลายแบบ แบบหนึ่งมีชื่อเรียกว่า ระบบแสดงสารสนเทศ เพื่อการจัดการ (management information display systems; MIDS) มีขนาดกว้าง ๕ ฟุต สูง ๕ ฟุต มีจุดที่จะเปล่งแสดงออกมา ๕๑๒ x ๕๑๒ จุด ข้อดีของเครื่องรับส่งแบบจอโทรทัศน์คือ สามารถ แสดงข่าวสารที่ต้องการได้รวดเร็วและไม่เปลืองกระดาษที่ใช้ พิมพ์ข่าวสาร แต่มีข้อเสียคือ ไม่มีเอกสารเก็บไว้เป็น หลักฐาน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีเครื่องรับส่งแบบจอ โทรทัศน์บางแบบสามารถพิมพ์ข่าวสารไว้ดูได้ด้วย | |||
ปากกาแสงเป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งสำหรับช่วยในการเขียนเส้นต่าง ๆ บนจอภาพ | |||
เครื่องพิมพ์ความเร็วสูง (high-speed print- er หรือ line printer) เครื่องพิมพ์ความเร็วสูงใช้เป็นส่วนแสดงผลเท่านั้น โดยพิมพ์ออกมาเป็นตัวอักษรทีละบรรทัด ซึ่งผิดกับเครื่องพิมพ์ดีดธรรมดาที่สามารถพิมพ์ได้ทีละตัวอักษร เครื่องพิมพ์ความเร็วสูงมีทั้งแบบทางกล และแบบทางไฟฟ้า แบบทางกลมีใช้แพร่หลายมากกว่า และสามารถแบ่งย่อยออกเป็นหลายแบบดังนี้ แบบกงล้อ (print wheel) เครื่องพิมพ์แบบนี้ ประกอบด้วย กงล้อหลายกงล้อ ครบตามขนาดกระดาษที่จะใช้พิมพ์ แต่ละกงล้อมีชุดของตัวอักษรที่ต้องการใช้ติดอยู่ครบทุกตัว ในการพิมพ์แต่ละบรรทัด กงล้อทุกกงล้อจะหมุนให้ตัวอักษรต่างๆ ที่ต้องการพิมพ์มาผสมกันเป็นข้อความ เมื่อครบบรรทัดตามต้องการแล้ว ก็จะมีกลไกบังคับค้อนให้ตีลงบนกระดาษ และผ้าพิมพ์ ทำให้ตัวอักษรที่เป็นข้อความติดอยู่บนแถบกระดาษพิมพ์ทีละบรรทัด และกระดาษจะเลื่อนเตรียมพิมพ์บรรทัดต่อไป เนื่องจากต้องเสียเวลาในการหมุนกงล้อต่างๆ จน กระทั่งได้ข้อความที่ต้องการ การพิมพ์จึงช้าเมื่อเปรียบเทียบ กับอัตราถ่ายทอดข้อมูลของเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่ เครื่องพิมพ์แบบนี้สามารถพิมพ์ได้ด้วยอัตราเร็วประมาณ ๑๕๐ บรรทัดต่อนาที แบบกระบอก (rotating-drum printer) เครื่องพิมพ์แบบนี้ประกอบด้วยวัตถุรูปทรงกระบอก มีตัวอักษรชนิดเดียวกันเรียงเป็นแถวเดียวกันตามแนวแกนของรูปทรงกระบอก (ในแถวหนึ่งมีตัวอักษร ๑๒๐-๑๔๔ ตัว) และมีค้อนจำนวนเท่ากับตัวอักษรอยู่หลังกระดาษรอบวงของทรงกระบอก ซึ่งจะมีตัวอักษรครบตามที่เครื่องคอมพิวเตอร์ต้องการใช้ รูปทรงกระบอกหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูงในแนวนอน การพิมพ์จะพิมพ์โดยค้อนตีลงบนกระดาษตรงตัวอักษรตามตำแหน่งที่ต้องการ เมื่อรูปทรงกระบอกหมุนครบหนึ่งรอบ ค้อนก็จะตีตัวอักษรได้ครบทุกตัว และถูกต้องตามตำแหน่งของข้อความที่ต้องการในหนึ่งบรรทัด ครั้นแล้วกระดาษจะเลื่อนเตรียมพิมพ์บรรทัดต่อไป เครื่องพิมพ์แบบนี้พิมพ์ได้เร็วกว่าแบบกงล้อ โดย สามารถพิมพ์ด้วยอัตราเร็ว ๒๐๐-๑,๒๐๐ บรรทัดต่อนาที แบบโซ่หมุน (chain-printer) เครื่องพิมพ์แบบนี้มีตัวอักษรต่างๆ ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ต้องการใช้อยู่ครบบนสายโซ่ที่หมุนได้หนึ่งเส้น แต่เพื่อช่วยประหยัดเวลาในการที่ต้องรอให้ตัวอักษรที่ต้องการหมุน มาอยู่ใต้ค้อนที่ต้องการทั่วๆ ไป เขาจะประดิษฐ์ให้มีตัวอักษรแบบเดียวกันซ้ำ กันอยู่ ๔ ชุดในโซ่เส้นเดียวกัน โดยวิธีนี้สามารถพิมพ์ด้วยอัตราเร็ว ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ บรรทัดต่อนาที นอกจากนี้เครื่องพิมพ์ความเร็วสูงยังมีอีกหลายแบบ เช่น แบบแถบพิมพ์ (band หรือ belt-printer) แบบ เลเซอร์ (laser optical recorder) แบบหมึกฉีด (jet-ink) เป็นต้น | |||
เครื่องพิมพ์ความเร็วสูงมีหลายแบบ ได้แก่ แบบกงล้อ แบบกระบอกและแบบโซ่หมุน : ก. กงล้อแบบหนึ่งที่ใช้ในเครื่องพิมพ์แบบกงล้อ ข. กระบอกตัวอักษรแบบหนึ่งที่ใช้ในเครื่องพิมพ์แบบกระบอก ค. สายโซ่ตัวอักษรที่ใช้ในเครื่องพิมพ์แบบโซ่หมุน | |||
เครื่องเขียนกราฟ (graph plotter) เครื่องเขียนกราฟนี้ใช้เป็นส่วนแสดงผลเท่านั้น ในการเขียนเส้น กราฟ เครื่องจะแปลสัญญาณเชิงตัวเลข ซึ่งได้รับจากเครื่อง คอมพิวเตอร์ให้เป็นสัญญาณเชิงอุปมาน เพื่อนำไปทำการ ควบคุมการเขียนเส้นกราฟหรือวาดรูปต่อไป |