เล่มที่ 11
การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ส่วนประกอบประเภทฮาร์ดแวร์

ฮาร์ดแวร์เป็นส่วนที่ใช้ช่วยอำนวยความสะดวกในการเขียนแบบ ส่วนประกอบเหล่านี้ได้แก่

๑. หน่วยแสดงภาพแบบกราฟิก (graphic display unit)

            ซึ่งบางคนเรียกว่า กราฟิกเทอร์มินัล (graphicterminal) เป็นหัวใจของระบบนี้ เพราะเป็นสื่อกลางในการติดต่อ และถ่ายทอดข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์กับผู้ใช้ หน่วยนี้สามารถแสดงภาพลายเส้นบนจอภาพได้อย่างละเอียด นอกเหนือไปจากแสดงตัวอักษร และด้วยตัวเลขบนจอภาพตามธรรมดา และบางเครื่องสามารถแสดงภาพเป็นสีได้ด้วย ความชัดของจอภาพวัดด้วยจำนวนจุดทั้งหมดที่จะแสดงจอนั้นได้ เช่น ๑,๐๒๔ x ๑,๐๒๔ จุด หมายถึงจอที่สามารถสร้างจุดในแนวนอนได้ ๑,๐๒๔ ตำแหน่ง และในแนวดิ่งได้ ๑,๐๒๔ ตำแหน่งจอขนาดนี้จะแสดงภาพได้ละเอียดดีมาก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในหน่วยนี้ จะต้องมีการออกแบบเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถแสดงภาพลวดลายต่างๆ นับพันเส้นบนจอให้ได้อย่างรวดเร็ว

๒. อุปกรณ์กำหนดตำแหน่งที่จะเขียนภาพ

            อุปกรณ์นี้เป็นเครื่องมือสำหรับให้ผู้ใช้ กำหนดตามตำแหน่งที่ต้องการสร้างหรือวาดภาพ (graphic cursor positioning equipments) อุปกรณ์เหล่านี้มีอยู่หลายชนิดแล้วแต่ความเหมาะสม เช่น

แผ่นวาดกราฟ (graphic tablet) หรือ graphic pad) พร้อมตัวชี้ (pointer)

            ตัวแผ่นวาดกราฟมีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายกระดานเขียนแบบ มีหลายขนาดตั้งแต่เล็กเท่ากระดาษสมุดถึงใหญ่เท่าโต๊ะเขียนแบบ เนื้อที่บนแผ่นนี้เปรียบเสมือนเนื้อที่แสดงภาพบนจอภาพ การกำหนดตำแหน่งบนจอภาพ กระทำได้ โดยการเลื่อนตัวชี้ไปยังตำแหน่งบนแผ่นนี้ วิธีนี้สะดวกกว่าการชี้ไปที่จอโดยตรง เนื่องจากแผ่นวาดกราฟนี้มักจะวางในแนวนอนหรือเอียงขึ้น ตามลักษณะการเขียนแบบบนโต๊ะเขียนแบบทั่วไป ดังนั้นเราจึงสามารถใช้แผ่นวาดกราฟนี้ลอกรูปภาพต่างๆ จากของจริงไปแสดงบนจอภาพได้โดยนำภาพจริงมาแนบติดกับแผ่นนี้ แล้วใช้ตัวชี้ลอกภาพ โดยส่งข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งไปแสดงบนจอ หรือเก็บไว้ในหน่วยความจำก็ได้ ด้วยเหตุนี้แผ่นวาดกราฟนี้ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตัวชี้วาดกราฟ ๒ มิติ (2 dimensional graphic digitizer)

ปากกาแสง

            มีลักษณะเป็นด้ามจับเหมือนปากกา ภายในมีอุปกรณ์รับแสงที่เปล่งออกมาจากจอภาพ เมื่อใช้ปากกาแสงจี้บนจอภาพ จึงสามารถส่งสัญญาณให้คอมพิวเตอร์ทราบว่า เราจี้ตรงจุดไหนบนจอภาพ เป็นการกำหนดตำแหน่งจอภาพอีกวิธีหนึ่ง เพื่อใช้ในการวาดภาพ หรือเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของภาพ
ผู้ออกแบบจะใช้ปากกาอิเล็กทรอนิกส์ชี้ไปตามเมนูต่าง ๆ บนแผ่นวาดกราฟเพื่อควบคุมการวาดภาพของคอมพิวเตอร์
ผู้ออกแบบจะใช้ปากกาอิเล็กทรอนิกส์ชี้ไปตามเมนูต่างๆ บนแผ่นวาดกราฟ เพื่อควบคุมการวาดภาพของคอมพิวเตอร์
อุปกรณ์อื่นๆ

            เช่น เมาส์ (mouse) และจอยสติค (joystick) เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่มีราคาถูก ซึ่งผู้ใช้สามารถใช้ควบคุมการกำหนดตำแหน่งบนจอภาพได้ นอกจากนี้ แป้นพิมพ์อักษรบางชนิดก็จะมีปุ่มพิเศษสำหรับทำหน้าที่ลักษณะนี้ได้เหมือนกัน

๓. อุปกรณ์ด้านหน่วยความจำ

            งานเขียนแบบที่ต้องการวาดกราฟที่ละเอียดมากๆ นั้น จำเป็นต้องใช้หน่วยความจำมากกว่าธรรมดา ทั้งหน่วยความจำที่ใช้ในการสร้างภาพ และหน่วยความจำที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับรูปภาพ ระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการเขียนแบบนั้น จะมีหน่วยความจำภายในชนิดแรมมากๆ และขณะเดียวกันมักจะมีหน่วยความจำชนิดจากแม่เหล็กที่มีความจุสูงๆ เสมอ
จอยสติก
เครื่องเขียนแบบควบคุมด้วยเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์
๔. เครื่องเขียน (plotter)

            หรือเครื่องพิมพ์กราฟ (graphic printer) เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็น สำหรับนำภาพชิ้นงานจากหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ มาวาดลงบนกระดาษเขียนแบบ มีทั้งชนิดที่วาดกราฟ โดยใช้ปากกาสี (colour pen plotter) และแบบที่พิมพ์เป็นจุดสีได้ (colour electrostatic printer)