เล่มที่ 11
การพัฒนาอักษรไทยในเครื่องคอมพิวเตอร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

ตัวอย่างการใช้ภาษาไทยกับคอมพิวเตอร์ในการประมวลผลคำไทย

เมื่อเทคโนโลยีไมโครคอมพิวเตอร์ได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้น ประจวบกับราคาของเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์มีแนวโน้มถูกลง จึงได้มีผู้พัฒนาใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ในการช่วยจัดพิมพ์เอกสาร และจดหมายที่เรียกว่า การประมวลผลคำ

ในไมโครคอมพิวเตอร์ทั่วๆ ไป จะประกอบด้วยส่วนเก็บข้อมูล ส่วนรับข้อมูล และส่วนแสดงผล ซึ่งก็พิมพ์ข้อมูลได้คล้ายกับเครื่องพิมพ์ดีดทั่วๆ ไป แต่ให้ข้อดีเด่นคือ ข้อมูลดังกล่าวสามารถนำมาแสดงผลได้ ทั้งบนจอภาพ และเครื่องพิมพ์

การพัฒนาชุดคำสั่งประมวลผลคำ จึงทำให้เกิดประโยชน์ในด้านการจัดพิมพ์เอกสาร หนังสือเวียน จดหมายข้อความ ฯลฯ ได้สะดวกขึ้น ทั้งนี้เพราะชุดคำสั่งประมวลผลคำให้ข้อดีด้านต่างๆ ดังนี้

๑. ชุดคำสั่งประมวลผลคำรับข้อมูลทางแป้นพิมพ์เหมือนพพิมพ์ดีดทุกประการ แต่จะแสดงเสมือนพิมพ์ข้อความมาปรากฏบนจอ ทำให้ดัดแปลง แก้ไขข้อความได้ง่าย

๒. ผู้พิมพ์สามารถเพิ่ม ลบ คำ ข้อความ หรือบรรทัดต่างๆ ได้โดยสะดวก การแก้ไขมีรูปแบบที่เรียกว่า ฟูลสกรีนเอดิเตอร์ (full screen editor) คือ ผู้ใช้จะเลื่อนตำแหน่งไปแก้ไขเอกสาร ณ จุดใดได้ง่ายและสะดวก

๓. สามารถจัดรูปแบบของเอกสารได้ง่าย เช่นการจัดชิดขอบขวา การจัดแบ่งคอลัมน์ใหม่ การจัดย่อความพิมพ์หัวข้อ หรือข้อความกึ่งกลางหน้ากระดาษได้โดยอัตโนมัติด้วยคำสั่ง

๔. สามารถเก็บเอกสารไว้ในตัวกลางเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ เช่น แผ่นจานแม่เหล็ก ทำให้สามารถนำกลับมาแก้ไขเพิ่มเติม หรือจัดพิมพ์ใ หม่ได้อีก

๕. ผู้ใช้สามารถนำเอาเอกสารที่เก็บไว้ในหน่วยความจำมาตัดต่อข้อความตามต้องการ โดยการเคลื่อนย้ายเอกสารจากย่อหน้า หรือของหน้าใดๆ ไปไว้ที่ใดที่หนึ่งในเอกสารก็ได้

๖. หากมีการค้นหาคำหรือข้อความใดๆ ในเอกสาร ผู้ใช้สามารถสั่งคอมพิวเตอร์ให้ช่วยค้นให้ได้อย่างอัตโนมัติ การค้นหาคำ และเปลี่ยนคำทำได้ตลอดเอกสารที่เก็บไว้

๗. สามารถจัดพิมพ์รูปจดหมาย หรือเอกสารที่มีข้อความเหมือนกัน แต่แตกต่างกันเฉพาะแห่งได้หลายๆ ฉบับ เช่น จดหมายเวียนจะแตกต่างกันเฉพาะชื่อผู้รับ เป็นต้น

ชุดคำสั่งประมวลผลคำไทยจึงเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยต่อ การทำเอกสาร จดหมาย สำหรับหน่วยงานต่างๆ ในเมือง ไทย ปัจจุบันนี้มีชุดคำสั่งประมวลผลคำไทยที่ใช้งานกันอยู่ หลายชุดคำสั่ง ทุกชุดคำสั่งล้วนแล้วแต่พัฒนาขึ้นด้วยนัก คอมพิวเตอร์ชาวไทยทั้งสิ้น