เล่มที่ 4
รถไฟ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            รถไฟเริ่มเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณสามร้อยปีมาแล้ว เดิมทีเดียวสร้างขึ้น เพื่อใช้บรรทุกถ่านหิน รถนั้นมีล้อแล่นไปตามราง และใช้ม้าลาก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๕๗ ยอร์จ สตีเฟนสัน(George Stephenson) ชาวอังกฤษ ได้ประดิษฐ์รถจักรไอน้ำ ซึ่งสามารถแล่นได้ด้วยตนเองเป็นผลสำเร็จ นำมาใช้ลากจูงรถแทนม้าในเหมืองถ่านหิน ภายหลังจากนั้นก็ได้มีผู้ประดิษฐ์รถจักรไอน้ำ และรถจักรชนิดอื่นๆ ขึ้นอีกหลายแบบ รถไฟได้เปลี่ยนสภาพจากรถขนถ่านหินมาเป็นรถสำหรับขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า ดังเช่นในปัจจุบัน ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า กิจการรถไฟเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วทุกประเทศในโลก

สถานีกรุงเทพฯ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นต้นทางของทางรถไฟสายสำคัญสี่สาย

            สำหรับในประเทศไทย ถือว่า การเดินรถไฟเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการเดินรถไฟระหว่างสถานีกรุงเทพฯ กับอยุธยา ระยะทาง ๗๑ กิโลเมตร ปัจจุบันทางรถไฟที่สำคัญของประเทศไทยมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้นรวมสี่สาย คือ สายเหนือ ถึงจังหวัดเชียงใหม่ สายใต้ ถึงจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลา สายตะวันออก ถึงจังหวัดปราจีนบุรี และสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงจังหวัดหนองคาย และอุบลราชธานี รวมเป็นระยะทาง ๓,๘๕๕ กิโลเมตร

รถจักรดีเซลลากจูงรถพ่วงไปบนทางซึ่งทำด้วยรางเหล็ก

องค์ประกอบของการเดินขบวนรถไฟที่สำคัญได้แก่ ทางรถไฟ รถจักร รถพ่วง เครื่องอาณัติสัญญาณ และ สถานีรถไฟ

ส่วนประกอบของรถไฟ

ขบวนรถไฟประกอบขึ้นด้วย รถจักร อันเป็นต้นกำลังที่สำคัญ ทำหน้าที่ลากจูงรถคันอื่นๆ ให้เคลื่อนที่ไปได้ รถจักรมีหลายชนิด ได้แก่
  • รถจักรไอน้ำ ใช้เครื่องกลไอน้ำเป็นเครื่องต้นกำลัง
  • รถจักรดีเซล ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นเครื่องต้นกำลัง
  • รถจักรไฟฟ้า ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นเครื่องต้นกำลัง
            นอกจากรถจักรสามชนิดนี้แล้ว ยังมีรถจักรชนิดอื่นอีก คือ รถจักรกังหันก๊าซ ซึ่งใช้เครื่องกังหันก๊าซเป็นเครื่องต้นกำลัง และรถจักรที่เป็นรถโดยสารขับเคลื่อนด้วยตนเอง โดยใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นเครื่องต้นกำลัง เรียกว่า รถดีเซลราง กับยังมีรถ โดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นเครื่องต้นกำลัง เรียกว่า รถรางไฟฟ้า อีกด้วย

ส่วนรถพ่วงมีสองชนิด ได้แก่ รถสำหรับบรรทุกคนโดยสาร ซึ่งเรียกว่า รถโดยสาร และรถสำหรับบรรทุกสินค้า ซึ่งเรียกว่า รถสินค้า

รถบรรทุกน้ำมันหรือของเหลว

            รถโดยสารนำมาพ่วงกันเป็นขบวนยาว เพื่อให้สามารถบรรทุกคนโดยสารได้เป็นจำนวนมาก รถโดยสารที่ใช้ในประเทศไทยมีหลายแบบ เช่น รถนั่ง รถชนิดนี้ส่วนใหญ่ ใช้ในขบวนรถที่วิ่งเวลากลางวัน รถนั่งนอน ใช้เป็นที่นั่งในเวลากลางวัน ดัดแปลงเป็นที่นอนได้ในเวลากลางคืน รถนั่งนอนใช้สำหรับขบวนรถที่เดินทางไกลทั้งในเวลากลางวัน และกลางคืน รถนอนใช้สำหรับขบวนรถที่วิ่งส่วนใหญ่ในตอนกลางคืน รถเสบียง ใช้สำหรับปรุง และขายอาหาร และ รถสัมภาระ ใช้สำหรับบรรทุกสัมภาระของผู้โดยสารส่วนหนึ่ง และเป็นที่ทำงานของพนักงานขบวนรถอีกส่วนหนึ่ง

            ส่วนรถสินค้า แบ่งออกเป็น รถเปิด ซึ่งเป็นรถที่ไม่มีหลังคาคลุม รถปิด อันเป็นรถ ที่มีหลังคาคลุม และ รถพิเศษ ซึ่งเป็นรถสำหรับบรรทุกของใหญ่และหนัก หรือสิ่งของที่ไม่อาจบรรทุกไปในรถเปิดและรถปิดได้ เช่น น้ำมัน เครื่องเคมีที่เป็นของเหลว ปูนซิเมนต์ เป็นต้น รถเช่นนี้ต้องออกแบบไว้เฉพาะเป็นพิเศษ และนอกจากนั้นยังมีรถบรรทุกสินค้า ที่ต้องการอุณหภูมิต่ำไว้ เพื่อบรรทุกปลา เนื้อสัตว์ ผลไม้ ผัก ซึ่งต้องออกแบบเป็นพิเศษ ให้แตกต่างออกไปจากแบบอื่นๆ อีกด้วย