เล่มที่ 8
กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ในการศึกษา เพื่อเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ พยาบาล หรือนักกายภาพบำบัด จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องต่างๆของมนุษย์ และสัตว์ ทั้งในส่วนที่เป็นโครงสร้าง ส่วนย่อยที่เป็นแต่ละอวัยวะลงไปจนถึงส่วนละเอียดที่เป็นเซลล์เล็กๆว่า แต่ละส่วนจะมีรูปร่าง ลักษณะ ตำแหน่งที่อยู่ มีหน้าที่สำคัญ และมีความสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆอย่างไร วิชาความรู้ในเรื่องดังกล่าวมานี้เรียกว่า กายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) ซึ่งต้องอาศัยวิธีการชำแหละร่างกายจริงๆ ของมนุษย์หรือสัตว์ที่ตายแล้ว แล้วศึกษาพิจารณา รวมทั้งวิธีการตัดชิ้นส่วนของอวัยวะออกมาเป็นชิ้นบางมากๆมาติดที่แผ่นสไลด์ ย้อมสีเพื่อให้เห็นชัดเจน แล้วส่องขยายด้วยกล้องจุลทรรศน์

ชิ้นส่วนของอวัยวะต่าง ๆ ที่ดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ : เซลล์เยื่อเมือกของลำไส้ (ในแมว)

            การศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์ก็เพื่อนำความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์วินิจฉัย เพื่อการรักษา หรือป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ให้แก่ผู้ป่วยเป็นรายบุคคลหรือให้แก่ชุมชนเป็นส่วนรวมได้

ชิ้นส่วนของอวัยวะต่าง ๆ ที่ดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ : กลุ่มเซลล์ลางเกอร์ฮานส์

            ส่วนการศึกษาในแง่ของหน้าที่และการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นของอวัยวะหรือของเซลล์ใดๆ ว่ามีกลไก และความสลับซับซ้อนอย่างไร จึงสามารถทำให้ร่างกายดำรงชีวิตอยู่ได้นั้น เราเรียกว่า การศึกษาวิชา รีรวิทยา (Physiology) ซึ่งจะทำให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจได้ว่า ร่างกายสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยพลังงานจากอาหารที่กินเข้าไปอย่างไร ระบบต่างๆของร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบไหลเวียนเลือด ระบบหายใจ ระบบขับถ่าย ระบบการเคลื่อนไหว ระบบควบคุม และระบบสืบพันธุ์ของร่างกายนั้นทำงานอย่างไร เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง

ชิ้นส่วนของอวัยวะต่างๆ ที่ดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ : เซลล์ของตับ (ในลิงแสม)

            และก็ด้วยวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับวิชากายวิภาคศาสตร์ การเรียนรู้วิชาสรีรวิทยาก็เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ และการอนามัยเช่นกัน

ชิ้นส่วนของอวัยวะต่างๆ ที่ดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ : เซลล์ของตับ (ในลิงแสม)

หัวข้อสำคัญในวิชากายวิภาคศาสตร์

๑. ระบบผิวหนัง

            ผิวหนังทำหน้าที่ปกคลุมห่อหุ้มร่างกาย รับความรู้สึก การสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวด หรือความรู้สึกร้อนเย็น ช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย และทำหน้าที่เป็นอวัยวะขับถ่าย คือ ขับเหงื่อและไขมันด้วย

๒. ระบบกระดูก

            กระดูกเป็นสิ่งที่มีชีวิตประกอบด้วยเซลล์ เส้นใย พังผืด และเกลือแร่ ซึ่งทำให้กระดูกมีทั้งความแข็งและความยืดหยุ่น ถ้าเป็นกระดูกอ่อน จะยืดหยุ่นมากกว่าเพราะไม่มีเกลือแร่ ไม่ว่ากระดูกหรือกระดูกอ่อนต่างก็ทำหน้าที่ให้ ร่างกาย แขน ขา คงรูปอยู่ได้
กล้ามเนื้อช่วงต้นแขน
กล้ามเนื้อช่วงต้นแขน
๓. ระบบกล้ามเนื้อ

            กล้ามเนื้อ ทำให้ส่วนของร่างกายเคลื่อนไหวได้ โดยการหดตัว แบ่งเป็นกล้ามเนื้อลายหรือกล้ามเนื้อในอำนาจจิตใจ กล้ามเนื้อเรียบ หรือกล้ามเนื้อนอกอำนาจจิตใจ และกล้ามเนื้อหัวใจ
๔. ระบบทางเดินอาหาร

            อวัยวะต่างๆ ในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ปาก ต่อมน้ำลาย คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก ช่องทวารหนัก ตับ ถุงน้ำดี และตับอ่อน

๕. ระบบหายใจ

            งานสำคัญของระบบหายใจคือการแลกเปลี่ยนก๊าซ ออกซิเจนในอากาศที่หายใจเข้าไปกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด ในการ ศึกษาระบบหายใจ จะแบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนที่เป็นทางผ่านของลมหายใจ ได้แก่ จมูก ปาก คอหอย กล่องเสียง หลอดลมใหญ่ หลอดลมย่อยและแขนง และ ส่วนที่ทำหน้าที่หายใจ คือ ถุงลม

๖. ระบบขับปัสสาวะ

            อวัยวะที่อยู่ในระบบนี้ ได้แก่ ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ

๗. ระบบสืบพันธุ์

            ในการศึกษาระบบสืบพันธุ์ของชาย จะต้องศึกษา ถึงอัณฑะ ท่อจากอัณฑะ ต่อมเซมินัลเวสิเคิล ท่อฉีดอสุจิ และต่อมลูกหมาก ถ้าเป็นระบบสืบพันธุ์ของหญิง จะต้องศึกษาถึง รังไข่ ท่อมดลูก มดลูก ช่องคลอด อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก รวมทั้งต่อมนม

๘. ระบบเลือดไหลเวียน

            อวัยวะสำคัญของระบบเลือดไหลเวียน ได้แก่ หัวใจ หลอดเลือดแดง และหลอดเลือดดำ

๙. ระบบน้ำเหลือง

            ทำหน้าที่ช่วยระบายของเสียและคาร์บอนไดออกไซด์ เช่นเดียวกับหลอดเลือดดำ โดยวิธีการดูดซึมของสารน้ำที่เรียกว่า น้ำเหลือง อวัยวะสำคัญของระบบน้ำเหลือง ได้แก่ หลอดน้ำเหลือง ปุ่มน้ำเหลือง และ ม้าม ปุ่มน้ำเหลืองทำหน้าที่กรองสิ่งแปลกปลอม และเชื้อจุลินทรีย์ ที่ติดมาใน หลอดน้ำเหลือง และเป็นแหล่งสร้างเม็ดเลือดขาวด้วย ม้ามนั้นทำหน้าที่เป็นคลังเก็บเลือด และปล่อยกลับสู่กระแสเลือดได้ เมื่อร่างกายต้องการ และยังสามารถทำลายเม็ดเลือดแดงที่แก่แล้วและเชื้อโรค สร้างเม็ดเลือดขาวและภูมิคุ้มกัน

๑๐. ระบบประสาท

            ทำหน้าที่ควบคุม และประสานการทำงานของ ส่วนต่างๆ ของร่างกาย อวัยวะสำคัญของระบบประสาท ได้แก่ สมอง ไขสันหลัง เส้นประสาทสมอง เส้นประสาทไขสันหลัง และประสาทระบบอัตโนมัติ
สมอง
สมอง
๑๑. ระบบต่อมไร้ท่อ

            ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน ซึ่งเป็นสารเคมีที่จะไป ควบคุมสมรรถภาพของเซลล์ของอวัยวะอื่น ได้แก่ ต่อมหมวกไต ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมไทมัส ต่อมใต้สมอง ต่อมเหนือสมอง
๑๒. อวัยวะรับความรู้สึกพิเศษ

            ได้แก่ ตา จมูก ลิ้น หู และผิวหนัง ซึ่งรับรู้การเห็น กลิ่น รส การได้ยิน และความรู้สึกร้อนเย็น สัมผัส และเจ็บกดต่างๆ ตามลำดับ
อวัยวะรับความรู้สึกพิเศษ
อวัยวะรับความรู้สึกพิเศษ
หัวข้อสำคัญในวิชาสรีรวิทยา

            เนื้อหาของสรีรวิทยาที่กล่าวถึงจะเป็นเรื่องเฉพาะสรีรวิทยาของมนุษย์ซึ่งมี กลไกในการทำงานสลับซับซ้อนมาก หลักใหญ่ก็คือ การศึกษาถึงกระบวนการที่ได้มา ซึ่งพลังงานจากอาหารที่เรากินเข้าไป และการใช้พลังงานของเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย เพื่อการดำรงชีวิต ในการศึกษากลไกการทำงานของเซล์ลต่างๆ ก็คือ ศึกษา พิจารณาเป็นระบบๆ ไป เช่นเดียวกับวิชากายวิภาคศาสตร์

            เนื้อหาจึงเป็นการศึกษาการทำงานของระบบประสาท ระบบเคลื่อนไหวและ กล้ามเนื้อ ระบบการไหลเวียนเลือด ระบบการหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบ ปัสสาวะ ระบบต่อมไร้ท่อ และระบบสืบพันธุ์

            แต่ละระบบจะได้อธิบายถึงหน้าที่และการทำงานอย่างละเอียดทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมเราต้องกินอาหาร ทำไมเราต้องหายใจ ทำไมเราต้องเคลื่อนไหว ต้องขับถ่ายของเสีย ต้องมีการควบคุมและประสานงานทั่วร่างกาย ทำไมเราต้องสืบพันธุ์ และกลไกของระบบต่างๆ ที่กล่าวแล้วเป็นอย่างไร

            ความรู้เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นต่อการแพทย์และการอนามัย ที่จะนำไป ศึกษาต่อและประยุกต์ใช้ เพื่อความดำรงอยู่และความยืนยาว แห่งชีวิตมนุษย์