เล่มที่ 31
วัดญวนในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความเป็นมาของวัดญวนในประเทศไทย

            วัดญวนถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อมีการตั้งหลักแหล่งของชาวญวน ที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ปลายสมัยธนบุรี เป็นวัดทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานอย่างจีน เนื่องจากชาวญวนเคยอยู่ภายใต้การปกครองของจีนมานานนับพันปี จึงมีการนับถือศาสนา ตลอดจนความคิดความเชื่อ ตามลัทธิอย่างจีน และมีพิธีกรรมทางศาสนาคล้ายจีน แต่เนื่องจาก ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คณะสงฆ์ญวนในประเทศไทย ไม่สามารถติดต่อกับคณะสงฆ์ญวนในเมืองญวนได้สะดวกนัก อิทธิพลวัฒนธรรมทางศาสนาด้านแบบแผนการปฏิบัติ จากแหล่งเดิมจึงคลายความเคร่งครัดลง วัดญวนในประเทศไทยนับแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้ปรับระเบียบแบบแผนประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนวัตรปฏิบัติของสงฆ์ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมทางศาสนาในสังคมไทย เช่น มีการบิณฑบาต การทำวัตรเช้าเย็น การถือวิกาลโภชนา ทั้งยังมีการรับเอาประเพณีและพิธีกรรมแบบเถรวาทไปใช้หลายประการ เช่น การบวช การเข้าพรรษา การทอดกฐิน การทอดผ้าป่า แต่ยังคงสวดมนต์เป็นภาษาญวน เกิดเป็นอนัมนิกายในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุปถัมภ์และให้ความสำคัญแก่อนัมนิกาย โดยโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดญวนตลาดน้อย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า วัดอุภัยราชบำรุง และให้พระสงฆ์ญวนร่วมปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของอนัมนิกายในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาด้วย ซึ่งยังคงปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน


การทำวัตรเช้าของพระสงฆ์ญวน

พิธีกรรมที่ถือปฏิบัติในวัดญวน

๑. พิธีกรรมประจำปี

            เป็นพิธีกรรมอันเนื่องด้วยความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าและคำสอนทางศาสนาที่มุ่งให้มีเมตตา เสียสละ สร้างกุศลกรรม เพื่อให้เกิดความสุขความเจริญ พิธีกรรมเหล่านี้ ได้แก่ การบูชาดาวนพเคราะห์ การสรงน้ำพระพุทธรูป และหล่อเทียนพรรษา การบริจาคทานทิ้งกระจาด และการถือศีลกินเจ

๒. พิธีกรรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านของชีวิต

            เป็นพิธีกรรมที่ยึดถือปฏิบัติในช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิต เพื่อความเป็นสิริมงคลและประโยชน์สุข ได้แก่ การบวช การทำพิธีกงเต๊กอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว

๓. พิธีกรรมอื่นๆ

            ได้แก่ การทอดกฐิน การทอดผ้าป่า


หอกลอง

สถานที่ตั้งวัดญวนในประเทศไทย

            วัดญวนในประเทศไทยมีหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ เช่น วัดอุภัยราชบำรุง (ที่ตลาดน้อย) วัดสมณานัมบริหาร (ที่สะพานขาว) วัดอนัมนิกายาราม (ที่บางโพ) ในต่างจังหวัด เช่น วัดเขตร์นาบุญญาราม ที่จังหวัดจันทบุรี วัดมหายานกาญจนมาสราษฎรบำรุง ที่จังหวัดยะลา วัดถาวรวราราม และวัดถ้ำเขาน้อย ที่จังหวัดกาญจนบุรี