เล่มที่ 14
พระราชวังในส่วนภูมิภาค
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            พระราชวังส่วนภูมิภาคสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงนั้น เริ่มขึ้นเมื่อพระเจ้าปราสาททอง ทรงสร้างพระราชวังบางปะอิน ในบริเวณบ้าน ซึ่งเป็นที่ประสูติของพระองค์ ที่ตำบลบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
            ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงสร้างพระราชวังพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ที่จังหวัดลพบุรี เตรียมไว้ สำหรับย้ายเมืองหลวงมาจากรุงศรีอยุธยา เมื่อเกิดสงครามอย่างรุนแรง จนไม่สามารถรักษาเมืองหลวงไว้ได้
            สมัยกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงริเริ่มซ่อมแซมพระราชวังเก่า ในจังหวัดลพบุรี และจังหวัดอยุธยา เพื่อใช้เป็นที่ประทับแรม เมื่อเสด็จไปเยี่ยมราษฎร หรือประกอบพระราชพิธี ในจังหวัดลพบุรี ทรงซ่อมแซมพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ สำหรับในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น ทรงซ่อมแซมหลายพระราชวัง คือ พระราชวังบางปะอิน พระราชวังจันทรเกษม และพระราชวังหลวงพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี
            นอกจากซ่อมพระราชวัง ซึ่งมีมาแต่เดิม ยังทรงสร้างขึ้นในจังหวัดภาคใต้ด้วยคือ บนเขามหาสวรรค์ เรียกว่า พระนครคีรี ที่จังหวัดเพชรบุรี
พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่
พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์
จังหวัดเชียงใหม่
            ในรัชกาลต่อมา คือ รัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่๗ ก็ทรงสร้างเพิ่มขึ้นในภาคใต้เป็นส่วนมาก ดังนี้
รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างพระรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน) จังหวัดเพชรบุรี
รัชกาลที่ ๖ ทรงสร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี
รัชกาลที่ ๗ ทรงสร้างวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ในรัชกาลปัจจุบัน ทรงสร้างพระราชวังในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นทุกภาค คือ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์
            ปัจจุบันนี้ การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังภูมิภาคสะดวกขึ้น ทั้งทางรถไฟ ทาง รถยนต์ และทางเครื่องบิน นอกจากสะดวกแล้ว ยังรวดเร็ว ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงใช้เวลาประทับ อยู่ในต่างจังหวัด ได้ครั้งละหลายวัน เพราะไม่ต้องเสียเวลา ในการเดินทาง เหมือนในสมัยโบราณ ในการที่ทรงมีเวลาเพียงพอ สำหรับแต่ละจังหวัด จึงทรงสามารถศึกษาถึงปัญหา และวิธีการช่วยเหลือราษฎรได้ผลดี คือ ทรงช่วยเหลือในเรื่องการทำมาหากิน และความเจ็บป่วย ทรงสร้างโครงการ เพื่อช่วยเหลือในระยะยาว เช่น ทรงแนะนำ การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืชพันธุ์ใหม่แทน การปลูกพืชพันธุ์เดิมที่ได้ผลิตผลน้อยกว่า และทรงช่วยหาน้ำ เพื่อการเกษตรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรโครงการหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรโครงการหลวง
            พระราชวังในส่วนภูมิภา มิได้สร้างขึ้น เพื่อการเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรแต่เพียงอย่างเดียว หากในขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงนำความเจริญทางด้านการประกอบอาชีพหลัก และอาชีพเสริม เช่น โครงการหลวง ด้านการเกษตร และงานของมูลนิธิศิลปาชีพ ไปสู่ประชาชนในภูมิภาคนั้นๆ ด้วย ซึ่งเป็นผลให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ดีขึ้นเป็นอันมาก เป็นต้น