เล่มที่ 31
อัลไซเมอร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ในบรรดาโรคร้ายต่างๆ ที่รู้จักกันดีว่ากำลังคร่าชีวิตของผู้คนทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดสมอง แล้วนั้น โรคอัลไซเมอร์เป็นอีกโรคหนึ่งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ นอกจากจะเป็นโรคที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสุขภาพชีวิตและเศรษฐกิจแล้ว โรคอัลไซเมอร์ยังเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจนอีกด้วย

            โรคอัลไซเมอร์ มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่อายุเกินกว่า ๖๕ ปี ขึ้นไป โดยจะทำให้เซลล์สมองของผู้ป่วยเสื่อมสภาพถาวรทีละน้อย จนทำให้บุคคลนั้นสูญเสียความทรงจำ และมีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจคิดวิเคราะห์ หรือจดจำสิ่งต่างๆ ได้ จนเมื่อถึงขั้นร้ายแรงแล้ว ผู้ป่วยอาจไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และมักเสียชีวิตภายในระยะเวลาเพียงแค่ ๑๐ ปี หลังจากตรวจพบว่าเป็นโรคนี้

            สมองของคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะเสื่อมสภาพไปมาก เมื่อเทียบกับสมองของผู้สูงอายุทั่วไป โดยในระยะแรกนั้น จะมีก้อนโปรตีนขนาดเล็กๆ รวมตัวกัน กระจายทั่วไปในสมองของผู้ป่วย ทำให้เซลล์สมองถูกทำลายได้ง่าย และสมองเกิดการอักเสบ ขณะที่เส้นใยประสาทของเซลล์สมองที่ผิดปกติจะพันกันยุ่งเหยิง จนไม่อาจส่งสัญญาณประสาทเชื่อมโยงกัน หรือซ่อมแซมตัวเองได้ ในระยะนี้จะเห็นว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการความจำสั้น จดจำสิ่งต่างๆ ไม่ค่อยได้ และมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ลดลง การสูญเสียความทรงจำระยะสั้นนี้ เกิดจากการที่สมองส่วนควบคุมการจดจำนั้นได้ถูกทำลายไป

            เมื่อความผิดปกติมีมากขึ้น เซลล์สมองจะหยุดการทำงาน และสูญเสียความสามารถในการประสานงานกับเซลล์สมองอื่น เนื้อสมองจะตายเป็นส่วนๆ โดยจะสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยเริ่มมีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไป เนื่องจาก เซลล์สมองส่วนควบคุมด้านภาษา และการใช้เหตุผลได้หยุดการทำงาน จนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถตัดสินใจหรือใช้ภาษาได้ตามปกติ อาจมีบุคลิกก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย หรือมีอาการคล้ายเป็นโรคทางจิต ท้ายที่สุดแล้ว ทั่วทั้งสมองของผู้ที่เป็นโรคจะเกิดอาการเนื้อสมองฝ่อลีบลง สมองหมดสภาพอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ผู้ป่วยไม่อาจตอบสนองต่อสิ่งเร้าใดๆ กลายเป็นอัมพาต และไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้ แม้แต่ การรับประทานอาหาร หรือการขับถ่ายก็ตาม

            ยังไม่มีการระบุแน่ชัดว่า ปัจจัยใดเป็นสาเหตุที่แท้จริงของโรคอัลไซเมอร์ เชื่อกันว่า ความผิดปกติของยีนที่ถ่ายทอดได้ ทางพันธุกรรม เป็นปัจจัยที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ ขณะที่มีปัจจัยอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุรองลงมา เช่น การได้รับอุบัติเหตุทางสมอง โรคหลอดเลือดในสมองตีบ การมีโปรตีนที่ผิดปกติสะสมอยู่ในสมอง พิษจากสารกลุ่มอนุมูลอิสระ การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งการได้รับการศึกษาในระดับต่ำเกินไป จนทำให้สมอง ไม่ค่อยได้รับการกระตุ้นพัฒนา

            การที่แพทย์จะวินิจฉัยว่า บุคคลใดเป็นโรคอัลไซเมอร์นั้น จะต้องวิเคราะห์ก่อนว่า มีภาวะสมองเสื่อมจริงหรือไม่ แล้วจึงตรวจสอบว่า ไม่ได้เป็นโรคอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุ ของภาวะสมองเสื่อมนั้น แพทย์จะวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม โดยการซักประวัติคนไข้เกี่ยวกับการใช้ยาต่างๆ ที่อาจทำให้สูญเสียความจำ และการรับรู้ได้ จากนั้น จะตรวจร่างกายทั่วไป ประกอบกับ การทดสอบสมรรถภาพของสมอง ระบบประสาท และการประเมินสุขภาพจิต โดยอาจใช้การสอบถามเบื้องต้น เช่น ถามเกี่ยวกับวันที่ เดือน ปี เวลา สถานที่ หรือภาพที่ชี้ การทำตามคำสั่ง หรือพูดตามประโยคที่บอก หรือวาดภาพ ให้เหมือนตัวอย่างมากที่สุด ถ้าได้คะแนนการทดสอบ ต่ำกว่าปกติ ถือว่าบุคคลนั้น อาจมีภาวะสมองเสื่อมได้


ภาพเขียนที่แนะนำวิธีดูแลสุขภาพของตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคอัลไซเมอร์

            การรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์นั้น นอกจากจะอาศัยการดูแลผู้ป่วยในด้านอาหาร และแนวการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมแล้ว แพทย์ยังอาจรักษาด้วยยาอีกด้วย โดยอาศัยทั้งยาที่สามารถเพิ่มการรับรู้ เช่น ยาที่เร่งการนำส่งสารสื่อประสาทในสมองให้เพิ่มขึ้น ยายับยั้งการทำลายสารสื่อประสาทในสมองเพื่อให้สารสื่อประสาทในสมองมีมากขึ้น ยาป้องกันการหลั่งสารที่เป็นพิษ มาทำลายเซลล์สมอง รวมทั้งยาที่แก้ไขพฤติกรรมของผู้ป่วยได้ เช่น ยารักษาภาวะซึมเศร้า ภาวะโรคจิตเอะอะอาละวาด และภาวะกายใจไม่สงบ นอกจากนี้ ยังมีการให้วิตามินอีเพื่อต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้งการคิดค้นพัฒนาวัคซีน สำหรับป้องกันโรคอัลไซเมอร์โดยเฉพาะ

            เราสามารถป้องกันตนเองไม่ให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรค เช่น หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุเกี่ยวกับศีรษะ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีวิตามิน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังควรฝึกสมองให้ถูกกระตุ้นอยู่เสมอ

            แม้ว่าโรคอัลไซเมอร์ไม่ใช่โรคที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก และคำนึงถึงมากนัก แต่โรคอัลไซเมอร์ กำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ทางสาธารณสุข สำหรับประเทศไทย ในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจาก อัตราส่วนของจำนวนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ทำให้ผู้ที่อยู่ในวัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ มีจำนวนมากขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นที่รัฐจะต้องวางแผนการแก้ไข และการป้องกันโรคอัลไซเมอร์อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีในระยะยาวต่อไป