เล่มที่ 27
ไฮโดรพอนิกส์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            การปลูกพืชในดินมีปัญหาหลายประการ เช่น ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ขาดธาตุอาหารที่พืชต้องการ ทำให้พืชเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เกษตรกรจึงเพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมีลงไป เมื่อมีโรค แมลง และศัตรูพืช เช่น หนู หอยเชอรี่ ฯลฯ มารบกวน เกษตรกรจะฉีดพ่นยากำจัดโรค แมลง และศัตรูพืชอื่นๆ นอกจากจะเป็นการเพิ่มการลงทุนของเกษตรกรแล้ว เมื่อเกษตรกรเก็บพืชผักมาจำหน่าย ทั้งๆ ที่ยังมีสารพิษตกค้างอยู่ในพืช จะทำให้เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคด้วย


            พืชผัก ที่วางขายในตลาดทั่วไป หรือในซูเปอร์มาร์เกต จะมีผักหลายชนิดวางเรียงๆ กันไปพวกหนึ่ง ส่วนอีกพวกหนึ่งจะบรรจุในถุงพลาสติก โดยแยกแต่ละชนิด และเขียนว่า "ผักปลอดสารพิษ" หมายถึง พืชผักเหล่านั้น ไม่มีสารพิษตกค้าง เพราะเกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก และไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ผักปลอดสารพิษนี้ เกษตรกรมักจะลงทุนทำมุ้งกางครอบผักไว้ เราจึงเรียกกันว่า "ผักกางมุ้ง" ผักปลอดสารพิษโดยทั่วไป มีราคาสูงกว่าผัก ที่ปลูกในดิน และในน้ำตามแบบธรรมดา แต่ที่ยังมีคนซื้อมาบริโภค เพราะคิดว่า จะปลอดภัยมากกว่าพืชผัก ที่ปลูกในดินแบบธรรมดา

            เมื่อประมาณ ๔๐๐ ปี มาแล้ว นักวิทยาศาสตร์หลายชาติได้ทำการทดลอง ปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรพอนิกส์ คือ ปลูกพืชโดยให้ส่วนของรากพืชแช่อยู่ในสารละลายธาตุอาหารพืช ส่วนลำต้น และส่วนอื่นๆ จะอยู่เหนือระดับสารละลาย และมีวัสดุที่เหมาะสมพยุงไว้ เป็นวิธีหนึ่งที่แก้ปัญหาในด้านที่ดินเพาะปลูก ด้านภูมิอากาศ และภูมิประเทศ และปัญหาอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี



            ในประเทศไทย เมื่อประมาณ ๔๐ ปีมาแล้ว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้นำการปลูกพืช ด้วยวิธีไฮโดรพอนิกส์มาใช้ทดลอง ปรากฏว่า ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ หลังจากนั้นได้มีการวิจัยจากสถาบันการศึกษาชั้นสูง และหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายแห่ง ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนหลายราย ที่ปลูกพืชผักด้วยวิธีไฮโดรพอนิกส์ แล้วส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ และได้พัฒนาเทคนิคขึ้นมาหลายรูปแบบ