เล่มที่ 39
การศึกษาของสงฆ์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            การศึกษาเล่าเรียนที่เป็น "ธุระ" ของพระสงฆ์ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ การศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา  และการฝึกปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส

            พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยมานานนับแต่สมัยสุโขทัย ชุมชนและครอบครัวยึดถือกันเป็นประเพณีว่า เมื่อกุลบุตรมีอายุครบ ๒๐ ปี ต้องออกบวชเป็นพระภิกษุและศึกษาพระธรรมวินัยอย่างน้อย ๑ พรรษา หรือ ๓ เดือน เมื่อลาสิกขาหรือสึกแล้ว ถือได้ว่าเป็นผู้ที่ได้ฝึกอบรมดีแล้ว เรียกว่า "ทิด" มาจากคำว่า "บัณฑิต" หมายถึง คนที่ได้ฝึกอบรมตนมาอย่างดี

            ตามประเพณีไทย เด็กชายที่อายุไม่ถึง ๒๐ ปี ก็บรรพชาเป็นสามเณรได้ พระภิกษุและสามเณรบวชใหม่ได้เล่าเรียนวิชาหนังสือ วิชาช่างฝีมือ และวิชาชีพอื่นๆ จากพระภิกษุของวัดนั้นๆ การบวชเรียนยังไม่มีรูปแบบตายตัว แล้วแต่ความรู้ความชำนาญ ของพระภิกษุในแต่ละพระอาราม

            ในสมัยอยุธยาตอนปลาย การศึกษาของพระสงฆ์และสามเณรเริ่มมีรูปแบบมากขึ้น มีลำดับชั้นความรู้เป็น "บาเรียน" คือ บาเรียนตรี บาเรียนโท และบาเรียนเอก ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนคำว่า "บาเรียน" เป็น "ปะเรียญ" และต่อมามีการเปลี่ยนคำนี้เป็น "เปรียญ" ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


            การศึกษาของพระสงฆ์เริ่มมีการสอบไล่ ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  เป็นการสอบไล่พระปริยัติธรรมภาษาบาลี ด้วยวิธี "สอบปากเปล่า"

            ใน พ.ศ. ๒๔๕๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงสร้างหลักสูตรการศึกษาสำหรับภิกษุสามเณร ขึ้นใหม่ สาระสำคัญของหลักสูตร คือ การศึกษาบาลีและพระปริยัติธรรม รวมทั้งเปิดโอกาสให้คฤหัสถ์ทั้งชายและหญิง ได้ศึกษาหลักสูตร "นักธรรม" นี้ด้วย โดยภิกษุสามเณรที่จะสอบเป็นเปรียญตรี ต้องสอบนักธรรมตรีให้ได้ก่อน ผู้ที่จะสอบเปรียญโท ต้องสอบผ่านนักธรรมโทก่อน และผู้ที่จะสอบเปรียญเอก ก็ต้องสอบนักธรรมเอกให้ได้ก่อนเช่นกัน

            การศึกษาภาษาบาลีนั้น เปิดสอนที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามและสำนักเรียนวัดต่างๆ เช่น ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดบวรนิเวศวิหาร ส่วนการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม นอกจากเปิดสอนที่วัดบวรนิเวศวิหารแล้ว ได้จัดการสอนที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เพื่อให้เป็นสถานที่เล่าเรียนของสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ต่อมาได้ชื่อว่า "มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" คู่กับ "มหามกุฏราชวิทยาลัย" ซึ่งเป็นส่วน "ธรรมยุติกนิกาย"

            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนาม "มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ โดยทรงเปลี่ยนจากนามเดิมคือ "มหาธาตุวิทยาลัย" ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ เพื่อเป็นสถานศึกษา ที่สั่งสอนพระบาลีคัมภีร์พระไตรปิฎก พุทธพจนภาษิตแก่ภิกษุสามเณรฝ่ายมหานิกายและคฤหัสถ์ตามแต่ความศรัทธา


การเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ
            อย่างไรก็ตาม พระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเปิดสถานศึกษา "มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" ยังไม่บรรลุผลสำเร็จ เนื่องด้วยได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน การก่อสร้างมหาวิทยาลัยก็หยุดชะงักไป จนต่อมา พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ องค์ที่ ๑๕ ได้สนองพระราชปณิธาน ประกาศเปิดมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ รับสมัครภิกษุสามเณรที่เป็นเปรียญนักธรรมเอกเข้าศึกษา ในระยะแรกแบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นต้น สำหรับผู้มีพื้นความรู้ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ชั้นกลาง สำหรับผู้มีพื้นความรู้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และชั้นสูง สำหรับผู้มีพื้นความรู้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ โดยเปิดเรียนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐

            ในคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นผู้ก่อตั้ง "มหามกุฏราชวิทยาลัย" ที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ไปทรงเปิดวิทยาลัยแห่งนี้เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖

            วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยมี ๓ ประการ คือ เพื่อเป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และเป็นสถานศึกษาของกุลบุตร รวมทั้งเป็นสถานที่ศึกษาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในระยะแรกได้จัดหลักสูตรการเรียนการสอนออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่ ๑ จัดการสอนพระปริยัติธรรมแก่ภิกษุสามเณร และส่วนที่ ๒ จัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยสำหรับสอนเด็กวัด และเด็กทั่วไป

            การเล่าเรียนพระปริยัติธรรมนั้น ในเบื้องต้นศึกษาบาลีไวยากรณ์ ต่อจากนั้นศึกษาอรรถกถาธรรมบท พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม การแสดงธรรมเทศนา และประเพณีพิธีกรรมในพระพุทธศาสนา ตลอดจนการฝึกสอนหนังสือไทยและกิริยามารยาทแก่กุลบุตร


ฆราวาสศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ในระดับอุดมศึกษา

            มหามกุฏราชวิทยาลัยได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา เรียกว่า สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย และเปิดสอนเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยจัดหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ

            พ.ศ. ๒๕๒๗ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติรับรองวิทยฐานะของผู้สำเร็จปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ได้แก่ ศาสนศาสตรบัณฑิตรุ่นแรก ๘ รูป จากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย และพุทธศาสตรบัณฑิต ๖ รูป จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

            พ.ศ. ๒๕๔๐ รัฐสภาได้ออกพระราชบัญญัติให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ งานด้านการศึกษาของสงฆ์ จึงได้รับการพัฒนาก้าวหน้าอย่างมาก จนถึงการจัดการศึกษาระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต

            มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยจัดการศึกษาเป็น ๔ คณะวิชา ได้แก่ คณะศิลปศาสตร์ คณะศาสนาและปรัชญา คณะสังคมศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ โดยขยายการจัดการศึกษาไปยังวิทยาเขตต่างจังหวัด ๕ แห่ง

            มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจัดการศึกษาเป็น ๔ คณะวิชา ได้แก่ คณะพุทธศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ โดยขยายการจัดการศึกษาไปยังวิทยาเขตต่างจังหวัด ๑๐ แห่ง

            มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ได้จัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสูง นับเป็นหลักและแหล่งรวมปัญญาธรรม ของพระพุทธศาสนา และเป็นศูนย์กลางเผยแผ่สันติธรรมแก่ประชากรทั้งมวล