ขบวนการทางชีวเคมีของร่างกายคนนั้น ซับซ้อนมาก ดังนั้นเมื่อร่างกายเกิดเป็นโรคต่างๆ ก็จะทำให้ขบวนการเหล่านี้ เปลี่ยนแปลงไป หรือเมื่อการทำงานของขบวนการนี้เปลี่ยนแปลงไป ก็ทำให้เกิดเจ็บป่วยเป็นโรคขึ้นได้ ผู้ป่วยบางคนอาจมีการทำงานของขบวนการนี้ผิดปกติได้หลายอย่าง เช่น เมื่อตรวจเลือดจะพบว่า มีโลหิตจาง เมื่อตรวจการทำงานของตับพบว่า ตับทำงานเลวลง มีการอักเสบของตับ เป็นมะเร็งของตับ หรือพบสารพิษพวกไนโตรเจน ของยูเรีย สูงมากในเลือดแสดงว่า ไตพิการ หรือเมื่อตรวจอุจจาระ พบไข่พยาธิในอุจจาระ เป็นต้น | |
ผู้ป่วยโรคต่างๆ จึงได้รับการตรวจการทำงาน ของขบวนการทางชีวเคมีของร่างกายไม่เหมือนกัน เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ ซึ่งตรวจไม่พบในคนปกติ และยังพบอีกว่า น้ำตาลในเลือดมีระดับสูงกว่าปกติ และฮอร์โมนอินซูลินน้อยกว่าปกติ ในผู้ป่วยโรคตับ ที่มีตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน) จะมีระดับของบิลิรูบินในเลือดสูง การทำงานของตับเลวลง เช่น ในรายที่มีตับอักเสบ ส่วนในคนที่ขาดอาหาร จะตรวจพบว่า ระดับโปรตีนในเลือดต่ำกว่าปกติ มีโลหิตจาง อาจพบไข่พยาธิชนิดต่างๆ ในอุจจาระด้วย ดังนั้น แพทย์จึงต้องพิจารณาว่า จะตรวจสิ่งใดบ้างที่จำเป็น เพื่อการวินิจฉัยโรคให้ถูกต้อง และส่งสิ่งที่ต้องการตรวจ ไปยังห้องปฏิบัติการ ซึ่งเรียกว่า "ห้องชันสูตร" วิชาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ เรียกว่า "เวชศาสตร์ชันสูตร" |