เล่มที่ 13
การละเล่นของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            แต่ไหนแต่ไรมาคนไทยดำเนินชีวิตอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับธรรมชาติแวดล้อม เมื่อยังเป็นทารกนอนเปล เด็กน้อยจะนอนดูพวงปลาตะเพียนที่สานด้วยใบลานย้อมสี เมื่อต้องแสงตะวัน เกล็ดปลาก็เป็นประกายวาววับ ลูกปลาตัวน้อยๆ แกว่งไกวตามแรงลม เด็กก็จะยื่นมือไขว่คว้าอย่างเพลิดเพลิน

การเล่นตบแผละ

            เมื่อเด็กเติบโตขึ้น ผู้ใหญ่ให้นั่งเล่นอยู่บนบ้าน ไม่ออกไปไกลตาเกินกว่าจะดูแลได้ เด็กได้เล่นกับพี่น้องวัยเดียวกัน บางครั้ง เขาจับคู่ นั่งหันหน้าเข้ามาหากัน ตบมือ ที่เข่าของตน แล้วส่งมือทั้งสองออกไปตบประสานกัน เปลี่ยนมือ เปลี่ยนจังหวะการตบ เรียกว่า เล่นตบแผละ เด็กๆ ได้ฝึกคิดเปลี่ยนท่าต่างๆ ได้ฝึกการเคลื่อนไหวมือ แขน และสายตา ได้ยินเสียงและจังหวะที่เร้าใจ ใครพลาดดูตามไม่ทันก็จะแพ้

การเล่นอีตัก

            ถ้ามีอุปกรณ์การเล่น เช่น เชือกเส้นเล็กๆ ขนาดยาวพอควร นำมาผูกเป็นวง แล้วใช้นิ้วคล้องไขว้เป็นรูปต่างๆ เด็กที่ฉลาด จะไขว้เส้นเชือกได้สวย คู่แข่งขันจะคลายวงออกไม่ได้ การเล่นไขว้เชือก ช่วยให้เด็กได้ฝึกการคิด และพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือ


เมล็ดน้อยหน่า อุปกรณ์การเล่นอีตัก

            เมล็ดน้อยหน่า เมล็ดมะขาม เป็นของเล่นที่เด็กไทยสมัยก่อน ชอบเล่น เด็กสองคนนั่งกับพื้น หันหน้าเข้าหากัน ขีดวงกลมเล็กๆ เอาเมล็ดน้อยหน่าทอดลงในวงกลม เอาใบไม้ หรือกระดาษชิ้นเล็กๆ พับเป็นช้อน ตักเมล็ดน้อยหน่า หรือเมล็ดมะขามทีละ ๑ เมล็ด หรือทีละ ๒ หรือ ๓ เมล็ด แล้วแต่กติกา ใครตักได้หมด โดยไม่ไปเขี่ยเมล็ดอื่นๆ ให้เคลื่อนไหวเลย คนนั้นชนะ การเล่นอย่างนี้ เรียกว่า การเล่นอีตัก

            เมื่อเด็กๆ ลงมาเล่นที่ลานบ้าน หรือที่หาดทราย เด็กจะเล่นตี่จับ ต้องเต มอญซ่อนผ้า โพงพาง รีรีข้าวสาร เล่นขายของ หรือหม้อข้าวหม้อแกง ชีวิตเด็กไทยจึงสนุกสนาน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ใหญ่ และเพื่อน พี่น้อง มีความอบอุ่นใจ และได้เรียนรู้กฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน

เมล็ดมะขาม อุปกรณ์การเล่นอีตักอีกอย่างหนึ่ง

            คนไทยมีนิสัยเจ้าบทเจ้ากลอน การเล่นธรรมดาที่มีเพียงอุปกรณ์ และวิธีการเล่น ดูจะไม่สนุกเท่าที่ควร ผู้ใหญ่จึงคิดถ้อยคำ ร้อยกรองเป็นบทร้อง ท่วงท่ารำ จัดจังหวะ การเดิน การเต้นให้งดงามยิ่งขึ้น การเล่นจึงกลายเป็นการละเล่น ที่มีบทเจรจา บทร้อง ท่ารำเข้ามาประกอบ เช่น งูกินหาง แม่ศรี โยนชิงช้า กระอั้วแทงควาย หรือกระตั้วแทงเสือ เมื่อถึงเทศกาลต่างๆ มีการละเล่นรื่นเริงตามประเพณี เช่น เล่นสะบ้าในวันสงกรานต์ เล่นเพลงแห่ดอกไม้ เมื่อไปทำบุญที่วัด เล่นเพลงพิษฐาน เพลงเรือ เพลงลอยกระทง เพลงแห่นาค เป็นต้น

บางครั้งมีการเล่นทายปัญหา ซึ่งเรียกว่า ปริศนาคำทาย ถ้อยคำ และปัญหาที่ทาย ส่วนใหญ่ฉายภาพชีวิตของคนไทย และสภาพธรรมชาติแวดล้อม ตัวอย่างเช่น

คำทาย : อะไรเอ่ย เรือนปั้นหยา ทาสีเขียว เด็กดำนอนกางมุ้งขาว
คำตอบ : น้อยหน่า

คำทาย : อะไรเอ่ย ขาไปสองคน มืดฟ้ามัวฝน เดินมาคนเดียว
คำตอบ : เงา

คำทาย : อะไรเอ่ย ต้นเท่าครก ใบปรกดิน
คำตอบ : ตะไคร้

คำทาย : อะไรเอ่ย เปิดฉับ ใส่ฉุบ ปิดปุบ เดินปับ
คำตอบ : พระบิณฑบาต

            เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนไป ย่างเข้าฤดูร้อน ลมว่าวพัดแรง คนไทยก็จะเล่นว่าว ซึ่งมีศิลปะของการเล่นที่น่าสนใจมาก การเตะตะกร้อก็มีวิธีการ และท่วงท่าที่น่าดู พอถึงเดือนสิบสองน้ำนองตลิ่ง การเล่นเพลง ทั้งที่เป็นเพลงเรือ และการร้องรำบนฝั่งน้ำ ล้วนมีความไพเราะงดงามตามเอกลักษณ์ของไทย

การเล่นมอญซ่อนผ้า

ถึงฤดูเก็บเกี่ยว ชาวนามาร่วมกันเกี่ยวข้าว อย่างสนุกสนาน จึงมีการรำเหย่อย เต้นกำรำเคียว เล่นเพลงเกี่ยวข้าว เป็นต้น

            การเล่น และการละเล่นของไทย จึงเป็นสมบัติทิพย์ทางวัฒนธรรมไทย ที่มีศิลปะทั้งทางด้านท่าทางเคลื่อนไหว วิธีการ รูปแบบ ชั้นเชิงการใช้ภาษา อารมณ์สนุก และความรักใคร่กลมเกลียวกันฉันพี่น้อง รูปแบบของการเล่น และการละเล่นของไทย อาจมีความแตกต่างกันบ้าง ตามลักษณะของท้องถิ่น และประเพณี สมควรที่เยาวชนทั้งหลายจะสนใจศึกษา เพื่อสามารถธำรงรักษาไว้สืบไป