เล่มที่ 13
จิตรกรรมไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            จิตรกรรม หรือภาพเขียน มีส่วนประกอบหลัก คือ เส้น สี และน้ำหนักของสี สีมีส่วนสัมพันธ์กับความกว้าง ยาว และความลึกในภาพ สีช่วยสื่อความหมายทางอารมณ์ และจิตใจด้วย เช่น ช่างเขียนภาพพุทธประวัติบนผนังโบสถ์แห่งหนึ่ง จะวางโครงสร้างของสีให้สอดคล้องกับเรื่องราว และสถานที่ เพื่อให้เกิดความรู้สึกศรัทธาในศาสนา


            จิตรกรรมฝาผนัง ในพระอุโบสถวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร แสดงโครงสร้างของสี ที่ช่วยให้พระประธานดูสง่างาม เพิ่มความศรัทธา ในพระพุทธศาสนาแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น

            สีที่นำมาใช้เขียนภาพ ส่วนมากได้มาจากวัตถุ ซึ่งมาจากธรรมชาติ เช่น สีของดิน หิน พืช และสัตว์ ช่างเขียนไทยแต่โบราณ นิยมเขียนภาพ ด้วยสีฝุ่นผสมกาว ดังจะดูตัวอย่างได้จาก ภาพจิตรกรรมฝาผนังตามผนังของโบสถ์ เมื่อต้องการเขียนภาพ ช่างเขียนจะนำเอาวัสดุต่างๆ ซึ่งจะใช้ทำเป็นสีมาทำให้แห้ง และบดให้ละเอียดเป็นผง เรียกกันว่า สีฝุ่น เมื่อจะเขียนภาพ ช่างเขียนจะผสมสีฝุ่นด้วยกาว และกาวที่ใช้ในสมัยโบราณส่วนมากเป็นกาวที่ทำจากหนังสัตว์


            การซ่อมจิตรกรรมฝาผนัง วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

            ภาพเขียนฝาผนังของไทยทั้งหมด เขียนบนผนังฉาบปูน ซึ่งแห้งแล้ว ส่วนการเขียนภาพบนผนังปูน ซึ่งยังเปียก ตามกรรมวิธีของตะวันตก ที่เรียกว่า เฟรสโก (fresco) ไม่เป็นที่นิยมของช่างไทย


            การซ่อมจิตรกรรมฝาผนัง วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร
บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

            การเขียนภาพจิตรกรรมของไทยโบราณ ส่วนใหญ่มักเป็นการเขียนภาพเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา หรือคติความเชื่อต่างๆ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับศาสนา ดังนั้น การเขียนภาพจิตรกรรม จึงมักเขียนกันบนผนังภายในโบสถ์ หรือวิหารของวัดต่างๆ และจะเขียนบนผนังฉาบปูนเรียบ ซึ่งปูนแห้งสนิทแล้ว แต่เนื่องจากลักษณะสภาพดินฟ้าอากาศของไทย มีความชื้นในอากาศสูง และลักษณะการก่อสร้างโบสถ์วิหาร เป็นการก่อสร้างลักษณะผนังรับน้ำหนักก่อด้วยอิฐ ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซึมความชื้นได้ดี ทั้งความชื้นจากน้ำใต้ดิน และความชื้นจากอากาศ ทำให้ผนังปูนซึ่งแห้งสนิท ในช่วงระยะเวลาการก่อสร้างเสร็จใหม่ๆ ดูดซึมความชื้นเข้าในผนังได้อีก ทำให้ผิวปูนฉาบผุกร่อน ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อภาพจิตรกรรม ที่เขียนอยู่บนผิวหน้า ของผนังปูน นอกจากความชื้น จะทำให้ผิวปูนฉาบผุกร่อนแล้ว วัสดุที่ใช้ในการเขียนภาพ เช่น สีดิน และกาวหนังสัตว์ ที่ใช้ในการผสมสีก็เป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้เกิดเชื้อรา ซึ่งเป็นอันตรายต่อภาพเขียนเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย ส่วนใหญ่ชำรุดเสียหาย และซ่อมแซมยากมาก การซ่อมแซมต้องใช้กรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขความชื้นในผนังเสียก่อน จึงจะซ่อมแซมได้

ภาพเขียนประกอบเรื่องในสมุดข่อย

            นอกจากการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังด้วยสีฝุ่นผสมกาวแล้ว การเขียนภาพจิตรกรรมเป็นแผ่น ทั้งบนผ้า และบนกระดาษ ของไทย ในสมัยโบราณ ก็ใช้สีฝุ่นเขียนด้วยเช่นเดียวกัน เช่น การเขียนภาพเรื่องราวบนสมุดข่อย เป็นต้น ในสมัยโบราณ การเขียนภาพสีน้ำมันบนผ้าไม่ปรากฏหลักฐาน ผู้ที่เขียนภาพจิตรกรรมสีน้ำมันเป็นคนแรกคือ พระสรลักษณ์ลิขิต (เริ่มมีผลงานปรากฏ ในสมัยรัชกาลที่ ๖) ซึ่งในสมัยต่อมา มีผู้นิยมเขียนภาพด้วยสีน้ำมันบนผ้ากันมากขึ้น เนื่องจากมีความคงทน ไม่เสียหายง่ายเหมือนการเขียนด้วยสีฝุ่น ในปัจจุบันมีผู้ผลิตสีเขียนภาพ ด้วยสารผสมทางเคมีต่างๆ ซึ่งเป็นผลพลอยได้ จากผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม และนอกจากนั้นศิลปินในปัจจุบันได้มีการทดลองค้นหา และนำเอาวัสดุหลายประเภท มาใช้ในงานจิตรกรรม ทำให้รูปแบบของจิตรกรรม เปลี่ยนแปลงไปจากแบบประเพณี ที่ทำสืบเนื่องต่อกันมาจากสมัยโบราณ