เล่มที่ 13
การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ลักษณะและนิสัยของกุ้งก้ามกราม

            กุ้งเป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวค่อนข้างกลม หายใจด้วยเหงือก กุ้งเป็นสัตว์เลือดเย็น เจริญเติบโตด้วยการลอกคราบ โดยปกติชอบหลบซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ตามพื้นน้ำ หรือในซอกมืดๆ จะออกหากินในเวลากลางคืน กุ้งกินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร เช่น กินกุ้งด้วยกันเอง ลูกปลา ไส้เดือน สัตว์หน้าดินขนาดเล็กชนิดต่างๆ ข้าว เนื้อมะพร้าว ตลอดจนซากสัตว์


ลักษณะของกุ้งน้ำจืดและกุ้งทะเล

            ๑. กรี
            ๒. ตา
            ๓. เปลือกหัว
            ๔. เปลือกข้างลำตัวคู่ที่ ๒
            ๕. หาง
            ๖. แพนหางอันใน
            ๗. แพนหางอันนอก
            ๘. ขาว่ายน้ำ
            ๙. ขาเดิน
            ๑๐. ขาเดินที่มีส่วนปลายเป็นก้ามหนีบ
            ๑๑. หนวดคู่ยาว
            ๑๒. หนวดคู่สั้น
            ๑๓. รยางค์ฐานหนวด
            ๑๔. รยางค์ปากคู่ที่ ๓

            กุ้งแบ่งออกเป็น ๒ พวกใหญ่ๆ คือ กุ้งทะเล อาศัยอยู่ในน้ำเค็ม เช่น กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย กุ้งตะกาด เป็นต้น อีกพวกหนึ่งคือ กุ้งน้ำจืด อาศัยอยู่ในน้ำจืด ได้แก่ กุ้งก้ามกราม กุ้งกะต่อม และกุ้งฝอย เป็นต้น กุ้งทะเล และกุ้งน้ำจืด มีลักษณะแตกต่างกันพอสังเกตได้ ดังนี้

กุ้งทะเล แสดงเปลือกหุ้มข้างท้องซ้อนเรียงกันเป็นระเบียบ

            กุ้งทุกชนิดมีขาเดิน ๕ คู่ อยู่บริเวณอก มีลักษณะยาวเป็นปล้องๆ และมีขา ว่ายน้ำ ๕ คู่ อยู่บริเวณท้อง มีลักษณะแบบบาง แต่กุ้งทะเลที่ปลายขาเดิน ๓ คู่แรกเป็นก้าม ส่วนกุ้งน้ำจืดที่ปลายขาเดิน ๒ คู่แรกเป็นก้าม


            กุ้งทะเลมีเปลือกหุ้มด้านข้างท้องซ้อนเรียงกันเป็นระเบียบ แต่กุ้งน้ำจืดมีเปลือกหุ้มด้านข้างท้องของคู่ที่ ๒ ซ้อนทับคู่ที่ ๑ และคู่ที่ ๓

            กุ้งน้ำจืดมีลักษณะหัวโต ตัวสั้น ก้ามคู่ที่ ๒ ใหญ่กว่าคู่แรกมาก กุ้งน้ำจืดมีหลายชนิด แต่ชนิดที่ใหญ่ที่สุดคือ กุ้งก้ามกราม

ถิ่นอาศัย

            กุ้งก้ามกราม มีถิ่นกำเนิดในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ พบในหลายประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า มาเลเซีย อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เขมร และเวียดนาม พบอยู่ตามแม่น้ำที่ติดต่อกับทะเล เพราะตัวอ่อนจะต้องอยู่ในน้ำกร่อยระยะหนึ่ง แล้วจึงเคลื่อนย้ายไปอยู่ในน้ำจืดจนโตเต็มวัย สำหรับในบ้านเรานั้นมีพบหลายแห่ง เช่น ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำประแสร์ แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำตาปี ทะเลสาบสงขลา และแม่น้ำโกลก เป็นต้น

กุ้งตัวผู้ แสดงลักษณะของเพศผู้ (บริเวณในวงกลม)

เพศ

            กุ้งตัวผู้กับกุ้งตัวเมีย เมื่อโตเต็มวัยมีข้อแตกต่างที่สังเกตได้ คือ ตัวผู้จะมีหัว และก้ามโตกว่าตัวเมียมาก จึงเรียกกุ้งตัวผู้ว่า กุ้งก้ามกราม และเรียกกุ้งตัวเมียว่า กุ้งนาง นอกจากนี้ ตัวผู้ยังมีช่องท้องแคบกว่าตัวเมีย ทั้งนี้ เพราะตัวเมียใช้ช่องท้อง เป็นที่เก็บไข่ ก่อนฟักออกเป็นตัว วิธีดูเพศที่แน่นอนอีกวิธีหนึ่ง คือ ให้สังเกตที่โคนขาเดินคู่สุดท้าย ถ้าเป็นตัวผู้ จะมีรูปล่อยน้ำเชื้อ ๑ คู่ และที่ขาว่ายน้ำคู่ที่สองมีติ่งเล็กๆ ยื่นออกมาคู่กับรยางค์ด้านใน ส่วนตัวเมียไม่มี

การสืบพันธุ์

            กุ้งก้ามกรามสืบพันธุ์โดยการวางไข่ตลอดปี แต่ในฤดูฝนพบว่า ตัวเมียมีไข่มากกว่าระยะอื่น โดยจะเริ่มสืบพันธุ์ได้ เมื่ออายุประมาณ ๓ เดือน เป็นต้นไป รังไข่จะอยู่บนหัว เมื่อไข่แก่จะมีสีส้มที่เรียกว่า แก้วกุ้ง แม่กุ้งที่มีไข่พร้อม จะผสมกับน้ำเชื้อ ของตัวผู้ แล้วจะลอกคราบก่อน หลังจากนั้น ๖-๒๑ ชั่วโมง ตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อ เข้าไปเก็บไว้ในถุงน้ำเชื้อของตัวเมีย ซึ่งอยู่ตรงบริเวณหน้าอก โคนขาเดินคู่ที่ ๓ และภายใน ๒๔ ชั่วโมง ตัวเมียจะปล่อยไข่ ที่อยู่บนหัวออกมาผสมกับน้ำเชื้อ ที่เก็บไว้ในถุงที่หน้าอก ไข่ที่ผสมแล้ว จะถูกส่งผ่านออกมาเก็บไว้ที่ช่องท้อง โดยจะยึดเกาะอยู่กับขนเล็กๆ ที่ขาว่ายน้ำ ไข่ที่ปล่อย ออกมาใหม่ๆ จะมีสีส้มเหลือง แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเทา ไข่กุ้งจะใช้เวลาประมาณ ๑๙ วัน ในระดับอุณหภูมิ ๒๕-๓๐ องศาเซลเซียส จึงฟักออกเป็นตัว

กุ้งตัวเมียโตเต็มวัย แสดงให้เห็นลักษณะของไข่อ่อน (ตัวบน) และไข่แก่ (ตัวล่าง)

            กุ้งก้ามกรามที่อยู่ลำน้ำธรรมชาติ จะเดินทางลงมายังแม่น้ำในบริเวณที่น้ำเค็มขึ้นถึง เพื่อปล่อยลูกกุ้ง ให้เจริญเติบโตในน้ำกร่อยระยะหนึ่งก่อน แล้วจึงเคลื่อนย้ายไปอยู่ในน้ำจืด

            แม่กุ้งตัวหนึ่งๆ จะวางไข่ครั้งประมาณ ๓,๐๐๐ - ๒๐๐,๐๐๐ ฟอง ทั้งนี้ขึ้นกับขนาด แม่กุ้งตัวหนึ่งๆ สามารถวางไข่ได้ปีละ ๒ - ๔ ครั้ง