เล่มที่ 13
เรือนไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            เรามักจะเรียกที่พักอาศัยว่า "บ้าน" เสมอ ความจริงบ้าน คือ ส่วนที่มีบริเวณที่ดินโดยรอบ รวมกับตัวอาคารทั้งหมด เฉพาะตัวอาคารนั้น เรียกว่า "เรือน" ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง จนถึงภาคใต้ของประเทศไทย มีเรือนพักอาศัยแตกต่างกันหลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นที่ตั้ง และสภาพแวดล้อม

เรือนไทยยกพื้นใต้ถุนสูง

            เรือนไทยทั่วไปเป็นเรือนยกพื้นใต้ถุนสูง ประกอบด้วยห้องนอน ห้องครัว ระเบียง และชาน หลังคาทรงจั่ว มุงด้วยกระเบื้องดินเผา จาก แฝก หญ้าคา หรือใบตองตึง เรือนของผู้มีอาชีพต่างๆ เช่น ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน เรือนผู้มีฐานะอันจะกิน (คหบดี) เรือนที่อยู่ในเมือง เรือนที่อยู่ในชนบท เรือนชาวเขา เรือนชาวประมง มีรายละเอียดแตกต่างกันไป ซึ่งพอสรุปเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ เรือนไทยเดิมที่มีแบบแผน และเรือนพื้นบ้านในชนบททั่วไป

            เรือนไทยเดิม ตั้งอยู่ในเขตตัวเมือง และในเขตนอกเมือง เป็นเรือนที่มีรูปร่างลักษณะแบบแผนของแต่ละหลังที่แน่นอน และคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ จะแตกต่างกันบ้างในส่วนที่เป็นขนาดของเรือน แบบฝาแต่ละชนิด การจัดชาน การวางบันได และส่วนปลีกย่อยอื่นๆ เท่านั้น

เรือนไทยเดิม

            เรือนประเภทนี้ มีวิธีการก่อสร้างที่ละเอียดประณีต เป็นเรือนที่ถาวร และทนทาน มีอายุอยู่ได้นานตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไป เรือนไทยเดิมที่มีแบบแผนดังกล่าว มีอยู่ในเขตภาคเหนือ และภาคกลาง

            เรือนพื้นบ้าน เป็นเรือนที่สร้างขึ้นในชนบท และใกล้ชุมชน ซึ่งผู้เป็นเจ้าของมีอาชีพเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และประมง เช่น ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน และชาวประมง จะใช้วัสดุท้องถิ่นที่หามาได้ง่ายๆ ราคาถูก ฝีมือปลูกสร้างไม่ใคร่ประณีต แต่มีความงามทางด้านรูปทรง สัดส่วน ขนาดของตัวไม้ ตลอดจนมีความกลมกลืนกับธรรมชาติอย่างดียิ่ง เรือนพื้นบ้านนี้มีอยู่ในเขตภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้