เล่มที่ 22
ครอบครัวไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ครอบครัวไทย

            ครอบครัว และเครือญาติ คือ ความสัมพันธ์ของกลุ่มคนทางสายโลหิต และการแต่งงาน วัฒนธรรมการจัดระบบครอบครัว และเครือญาติของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการกำหนดวิถีชีวิตของชุมชนหมู่บ้าน



การแต่งงาน การเริ่มครอบครัวใหม่

กฎเกณฑ์การตั้งถิ่นฐานหลังการแต่งงาน

            แม้สังคมไทยจะให้ความสำคัญกับญาติ ทั้งทางฝ่ายบิดา และมารดาเท่าๆ กัน แต่ก็มักนิยมเน้นญาติทางฝ่ายมารดามากกว่า เพราะนิยมให้หนุ่มสาวที่แต่งงานกัน มาอาศัยในบ้านของบิดามารดาของฝ่ายหญิง เรียกว่า "แต่งลูกเขยเข้าบ้าน" ไม่ใช่ "แต่งสะใภ้เข้าบ้าน" เหมือนอย่างธรรมเนียมของจีน ต่อเมื่อลูกสาว คนถัดไปแต่งงาน ครอบครัวของลูกสาวคนโต ก็จะย้ายออกไปสร้างบ้านอีกหลังหนึ่งต่างหาก ภายในบริเวณเดียวกัน หรือภายในสถานที่ใหม่ในหมู่บ้านเดียวกัน หรือย้ายไปอยู่กับบิดามารดาของฝ่ายชาย เรียกว่าเป็นการ "ออกเรือน" ของลูกสาวคนที่หนึ่ง หากลูกสาวคนที่สองแต่งงาน ลูกสาวคนที่สอง ก็จะกระทำเช่นเดียวกันกับลูกสาวคนแรก

            ในหมู่บ้านหนึ่งๆ ก็มักจะพบลักษณะของการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มเครือญาติ ประกอบด้วย พ่อตา แม่ยาย ลูกสาวคนเล็ก สามี และลูก ในบริเวณเดียวกัน หรือบริเวณใกล้เคียง ก็อาจจะมีบ้านของลูกสาวคนโต และลูกสาวคนรอง ในเชิงเศรษฐกิจ และสังคม กลุ่มครอบครัวเครือญาติ ได้พึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งในด้านแรงงาน เช่น การทำนา การปลูกบ้าน งานบวช งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ หรืองานศพ และด้านการเงินด้วย นับว่า ครอบครัวเครือญาตินี้เป็นหลักประกันสังคมที่สำคัญ ในวิถีชีวิตของชาวบ้าน ในชนบทไทย

วัฏจักรของครอบครัว

            ครอบครัวไทยมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว และครอบครัวขยาย ครอบครัวเดี่ยวประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก ส่วนครอบครัวขยายหมายถึง ครอบครัวที่มีคน ๓ รุ่น อยู่ด้วยกัน คือ ตา ยาย พ่อแม่ และลูก การแต่งงานของลูกสาว ทำให้เกิดวัฎจักรของการเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวเดี่ยวไปเป็นครอบครัวขยาย และจากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยว กล่าวคือ แรกเริ่มพ่อแม่ลูกสร้างครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยว เมื่อลูกสาวแต่งงาน พาสามีเข้ามาอยู่ในบ้าน และมีลูกของตนเอง ครอบครัวนี้จึงกลายเป็นครอบครัวขยาย สมาชิกของครอบครัวประกอบด้วย ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก และหลาน แต่พอลูกสาวคนถัดไปแต่งงาน ลูกสาวคนโตต้องย้ายครอบครัวไปออกเรือนของตนต่างหาก ลูกสาวคนรอง และสามี พร้อมกับลูก เข้ามาอยู่ดูแลพ่อแม่แทน หากพ่อแม่มีลูกสาวหลายคน ครอบครัวของลูกสาว ก็จะผลัดกันย้ายออกย้ายเข้า มาอยู่กับพ่อแม่ ทำให้ระยะเวลาของการเป็นครอบครัวขยายยายนานตราบเท่าที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่

            หลังจากที่พ่อแม่เสียชีวิตแล้ว ครอบครัวของลูกสาวคนเล็ก ก็จะได้ครอบครองบ้านของพ่อแม่  และกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวอีกครั้งหนึ่ง

            วัฎจักรของครอบครัวไทย จึงเริ่มต้นจากครอบครัวเดี่ยวเป็นครอบครัวขยาย แล้วกลับมาเป็นครอบครัวเดี่ยวอีกครั้งหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้


วงศาคณาญาติ ที่พึ่งและให้ความอบอุ่นในครอบครัวไทย

กฎเกณฑ์การรับมรดก

            โดยทั่วๆ ไปในสังคมไทย ลูกทุกคนมีโอกาสได้รับมรดกจากพ่อแม่เท่าเทียมกัน หากลูกคนใดต้องการขายทรัพย์สิน โดยเฉพาะที่นาที่ตนได้รับมรดกจากพ่อแม่ ก็มักจะขายให้กับพี่น้อง ทำให้ครอบครัวรักษาที่นาผืนใหญ่ ที่เป็นมรดกของพ่อแม่ไว้ได้

            การนับญาติและการขยายการนับญาติในสังคมไทย

            คำต่างๆ ที่ใช้เรียกญาติ มักจะบ่งบอกถึงสถานภาพ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ด้วย เช่น พ่อ แม่ หมายถึง ผู้ที่มีหน้าที่ให้กำเนิด อบรม เลี้ยงดู และให้การศึกษาแก่ลูก ส่วนลูก มีหน้าที่เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ และดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่ เมื่อยามพ่อแม่แก่เฒ่า ส่วนการเรียกเครือญาติในสังคมไทยนั้น จะระบุชัดเจนว่า เป็นญาติข้างฝ่ายพ่อหรือแม่ เช่น ปู่ ย่า หมายถึง เป็นพ่อของพ่อ และแม่ของพ่อ ตา ยาย เป็นพ่อของแม่ และแม่ของแม่ ส่วนอาเป็นน้องของพ่อ น้าเป็นน้องของแม่ นอกจากนี้การลำดับเครือญาติ ยังแสดงความอาวุโสมากหรือน้อยไว้อย่างชัดเจน เช่น พี่ชาย น้องชาย



ผืนนา มรดกที่มักตกอยู่กับลูกสาว

            นอกจากเครือญาติที่เป็นครอบครัวเดียวกัน คนไทยยังนิยมใช้คำเรียกญาติกับผู้อื่น เป็นการสร้างความสัมพันธ์ ให้ผู้ฟังรู้สึกถึงภาระหน้าที่บางประการ ที่พึงมีต่อผู้พูด เช่น เราอาจเรียกผู้ร่วมงานว่า พี่หรือน้อง แล้วแต่ว่าใครจะมีอาวุโสกว่ากัน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง ในกลุ่มผู้ร่วมงานด้วยกันว่า มีความใกล้ชิดไว้วางใจ และช่วยเหลือกันได้

            นอกจากนี้เรายังอาจ "นับญาติ" กับผู้ที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน เช่น ระหว่างผู้ซื้อ หรือผู้ขาย อาจเรียก พี่ น้อง ลุง ป้า หรือแม้แต่ ยาย อันเป็นการสร้างสัมพันธภาพเสมือนญาติ ทำให้รู้สึกมีไมตรีต่อกัน มากกว่าการเป็นเพียงผู้ซื้อ และผู้ขายเท่านั้น

            โดยเฉพาะคำว่า พ่อ และแม่ ของคนไทย นอกจากจะหมายความถึง ให้กำเนิดแล้ว คำว่า "พ่อ" ยังมีนัยของผู้มีอำนาจ ผู้อุปถัมภ์ ผู้ทรงไว้ซึ่งความเป็นที่เคารพนับถือ ดังนั้น เราจึงมีคำว่า "พ่อขุน" "พ่อเมือง" หมายถึง ผู้ครองเมือง "หลวงพ่อ" หมายถึง พระสงฆ์ที่เป็นที่เคารพ ส่วนคำว่า "แม่" มีนัยทางสังคมหลายประการ ประการแรกหมายถึง ผู้ดูแลบ้าน และครอบครัว ให้อยู่ดีมีสุข มีอาหารรับประทาน ประการที่สอง หมายถึง แหล่งแห่งความอุดมสมบูรณ์เช่น "แม่น้ำ" และคำว่า  "แม่" ยังใช้เป็นต้นชื่อแม่น้ำต่างๆ เช่น แม่ปิง แม่กก ฯลฯ ประการสุดท้าย คำว่า แม่ มีนัยแสดงความรู้สึกมั่นคง แข็งแรง จึงเป็นที่มาของคำว่า "แม่กุญแจ" "แม่แรง"

            แม้คำว่า "ลูกพี่ลูกน้อง" ซึ่งเดิมหมายถึง ญาติที่เป็นลูกของ ลุง ป้า น้า อา แต่เมื่อนำมาแจกเป็นคำ "ลูกพี่" "ลูกน้อง" ความหมายก็กลายไปแสดงนัยของความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ "ลูกพี่" หมายถึง นักเลง นาย หรือผู้นำ ส่วน "ลูกน้อง" หมายถึง ผู้อยู่บังคับใต้บัญชา หรือผู้ตาม


ลูกสาว ลูกชาย มักออกจากหมู่บ้านไปทำงานในเมือง

ความเปลี่ยนแปลงทางครอบครัวไทยในปัจจุบัน

            ด้วยเหตุที่ชาวชนบทส่วนมากของไทยเป็นชาวนา เมื่อว่างเว้นจากฤดูการทำนา ชาวนาก็จะละทิ้งครอบครัวไปสู่เมือง เพื่อหารายได้ ทำให้มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างของครอบครัวไทย เพราะหนุ่มสาวจะออกจากหมู่บ้านไปทำงานในเมือง ทิ้งให้ลูกอยู่กับตายาย หรือปู่ย่า ทำให้ประเพณีการขยายครอบครัว โดยที่ลูกเขยเข้ามาช่วยเป็นแรงงานให้พ่อตาแม่ยาย ค่อยๆ หายไป แม้การแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างกลุ่มญาติ ก็ค่อยๆ หมดไปด้วย

            แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ยังส่งเงินกลับไปให้พ่อแม่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะลูกสาว ยังคงมีสำนึกในการเลี้ยงดูพ่อแม่ นับว่า สำนึกในความกตัญญู และการทดแทนบุญคุณ ที่ได้รับการปลูกฝังอบรมสั่งสอนกันมาในครอบครัวไทยแต่เดิม ยังอยู่อย่างมั่นคง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน


ลูกสาว ลูกชาย มักออกจากหมู่บ้านไปทำงานในเมือง