แม้ว่าภาษาจะมีความสำคัญต่อมนุษย์มากมาย และเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต ซึ่งทำให้เราต้องเรียนและฝึกอยู่ตลอดเวลา แต่เราก็ยังรู้เรื่องเกี่ยวกับภาษาไม่มากนัก อันที่จริงมนุษย์สนใจศึกษาภาษามาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่การศึกษาในสมัยก่อน ไม่ได้มุ่งที่จะศึกษาถึงธรรมชาติของภาษา หากแต่เป็นการศึกษาว่า จะใช้ภาษาอย่างไรในทางปรัชญา ศาสนา ตรรกวิทยา หรือวรรณศิลป์
สื่อสารเข้าใจกันได้เพราะใช้ “กฎ” ภาษาเดียวกัน
การศึกษาถึงธรรมชาติของภาษา หรือการศึกษา "ภาษา" อย่างเป็น "ศาสตร์" ในตัวของมันเองเพิ่งมีได้ไม่ถึง ๑๐๐ ปี การศึกษาในรูปแบบนี้ เรียกว่า "ภาษาศาสตร์" (Linguistics) เมื่อเปรียบเทียบกับศาสตร์แขนงอื่นๆ เช่น ฟิสิกส์ เคมี ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วรรณคดีก็ต้องยอมรับว่า ภาษาศาสตร์ ยังเป็นศาสตร์แขนงใหม่อยู่มาก
อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่า ในปัจจุบันจะมีแนวคิด วิธีการศึกษาภาษา และทฤษฎีปรากฏอยู่หลายทฤษฎีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ต้องนับว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากเดิมมาก ทั้งนี้เพราะนักภาษาศาสตร์ ชื่อ โนม ชอมสกี (Noam Chomsky) ได้เสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับภาษา และทฤษฎีของเขา เป็นที่ยอมรับในวงการมาจนถึงปัจจุบัน
แนวความคิดสำคัญประการหนึ่งของเขาก็คือ การที่มนุษย์สามารถเรียนรู้ภาษา และใช้ภาษาได้อย่างที่เป็นอยู่นี้ ก็เพราะมนุษย์มียีนหรือกรรมพันธุ์ ในการเรียนรู้ภาษา และสิ่งนี้ ทำให้มนุษย์ปกติทุกคน สามารถเรียนรู้ภาษาได้ ไม่ว่าจะมีความเฉลียวฉลาดน้อยเพียงใดก็ตาม ทั้งๆ ที่ภาษาทุกภาษา เป็นสิ่งที่มีความยากและสลับซับซ้อนมาก ชอมสกีชี้ให้เห็นว่า แม้บิดามารดา หรือผู้ที่อยู่แวดล้อมเด็ก จะไม่สอนภาษาเด็กเลย เด็กก็ยังพูดภาษาได้อยู่ดี และถ้าเปรียบเทียบภาษาที่เด็กสามารถพูดได้กับภาษาที่บิดามารดาสอนให้ ก็จะเห็นว่า แตกต่างกันมาก เมื่อบิดามารดา หรือผู้ใหญ่สอนภาษาให้เด็ก ก็มักจะพูดภาษาแบบเด็กๆ ง่ายๆ เป็นคำๆ แต่ภาษาที่เด็กใช้ เมื่อสามารถพูดภาษาได้นั้น มีความยากและซับซ้อนเหมือนกับภาษาของผู้ใหญ่ และเป็นภาษาที่ผู้ใหญ่ไม่ได้สอนให้
สื่อสารเข้าใจกันได้เพราะใช้ “กฎ” ภาษาเดียวกัน
แนวความคิดที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ โนม ชอมสกี ซึ่งนักภาษาศาสตร์ใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาวิเคราะห์ภาษาคือ ภาษาที่มนุษย์ใช้นั้น มีโครงสร้าง ๒ ระดับ คือ โครงสร้างระดับลึก (Deep Structure) และโครงสร้างระดับผิว (Surface Structure) ภาษาในระดับลึก เป็นภาษาที่ยังอยู่ในความคิดของผู้พูด ซึ่งยังมิได้ถ่ายทอดออกมา ส่วนภาษาในระดับผิว คือ ภาษาที่ถ่ายทอดออกมาใช้ในการพูด และการฟังแล้ว นักภาษาศึกษาภาษาในระดับลึกโดยตรงไม่ได้ เพราะมันไม่มีตัวตน จึงต้องศึกษาภาษาระดับลึก โดยผ่านภาษาระดับผิว และภาษา ๒ ระดับนี้ ก็มีความสัมพันธ์กันอยู่แล้ว โดยมีกฎการปริวรรต หรือการปรับแปลง (Transformational rules) เป็นตัวเชื่อมโยง ดังจะยกตัวอย่างประกอบคำอธิบายเรื่องนี้ ดังนี้ ประโยค (ในระดับผิว) ว่า "แม่รักแดงมากกว่าน้า" อาจตีความหมายได้ ๒ อย่าง คือ
(๑) "แม่รักแดงมากกว่าที่แม่รักน้า" หรือ
(๒) "แม่รักแดงมากกว่าที่น้ารักแดง"
สื่อสารเข้าใจกันได้เพราะใช้ “กฎ” ภาษาเดียวกัน
ผู้พูดประโยค "แม่รักแดงมากกว่าน้า" ย่อมทราบดีว่า ตนเองต้องการความหมายที่ ๑ หรือที่ ๒ เมื่อสร้างประโยคนี้ในโครงสร้าง ระดับลึกหรือในความคิด แต่สำหรับผู้ฟังนั้น ไม่แน่ว่าจะเลือกความหมายเดียวกับที่ผู้พูดต้องการสื่อหรือไม่ การที่ประโยคในระดับผิวประโยคเดียวมีความหมายได้มากกว่า ๑ อย่างนี้ นักภาษาศาสตร์อธิบายว่า เป็นเพราะในโครงสร้างระดับลึก ประโยคมีที่มา และมีโครงสร้างที่แตกต่างกัน ดังนี้
โครงสร้างลึก : (๑) แม่รักแดงมาก + (๒) แม่รักน้า
กฎการปริวรรต : ---> แม่รักแดงมาก + "กว่า" + แม่รักน้า (เติม "กว่า")
: ---> แม่รักแดงมาก+กว่า+น้า (ตัด "แม่รัก" ซึ่งซ้ำกับประโยคแรกออกไป)
โครงสร้างผิว ---> แม่รักแดงมากกว่าน้า
โครงสร้างลึก : (๓) แม่รักแดงมาก (๔) น้ารักแดง
กฎการปริวรรต : ---> แม่รักแดงมาก + "กว่า" + น้ารักแดง (เติม "กว่า")
: ---> แม่รักแดงมาก+กว่า+น้า (ตัด"รักแดง" ซึ่งซ้ำกับประโยคแรกออกไป)
โครงสร้างผิว ---> แม่รักแดงมากกว่าน้า
สื่อสารเข้าใจกันได้เพราะใช้ “กฎ” ภาษาเดียวกัน
ในประโยค ๑) และ ๒) แม่เป็นผู้ "รัก" ทั้งแดงและน้า ส่วนในประโยค ๓) และ ๔) ทั้งแม่และน้าเป็นผู้ "รัก" แดง และเมื่อรวมประโยค ๑) กับ ๒) เข้าเป็นประโยคเดียวกัน โดยใช้กฎการปริวรรตเติม "กว่า" และตัด "ประธาน" และ "กริยา" ของประโยคที่ ๒) ซึ่งซ้ำกับประธาน และกริยาของประโยคที่ ๑) ออก ในทำนองเดียวกันเมื่อรวมเป็นประโยค ๓) กับ ๔) ก็เติม "กว่า" ตัดกริยาและกรรม ในประโยคที่ ๔ ซึ่งซ้ำกับกริยาและกรรมของประโยคที่ ๓) ออก ก็จะได้ประโยคผิวออกมาเหมือนกัน แม้สิ่งที่โดนตัดไปจะต่างกันก็ตาม การตัดคำ เติมคำ ย้ายตำแหน่งคำ และใช้คำแทนที่ในทำนองนี้ นับเป็นการใช้กฎการปริวรรต
คำว่า "กฎ" มีความสำคัญมากในวงการภาษาศาสตร์ เพราะกฎเป็นการแสดงออกถึงธรรมชาติของภาษา ซึ่งเป็นสิ่งที่นักภาษาศาสตร์ต้องการค้นหา เมื่อศึกษาภาษา และสำหรับนักภาษาศาสตร์ในสมัยปัจจุบัน คำว่า "กฎ" มีความหมายเหมือนกับคำว่า "ไวยากรณ์" (grammar) และ "กฎ" ของนักภาษาศาสตร์ครอบคลุม ทั้งภาษา คือ ทั้งเสียง คำประโยค และความหมาย ดังนั้น คำว่า "ไวยากรณ์" ของนักภาษาศาสตร์ จึงมีความหมายครอบคลุมถึงภาษาด้วย ต่างจากคำว่า "ไวยากรณ์" ที่ใช้ในวงการสอนภาษา ที่หมายถึงเฉพาะเรื่องประโยคเท่านั้น
ในภาพรวม เราอาจใช้คำจำกัดความคำว่า "ภาษาศาสตร์" ได้ว่า คือ การศึกษา วิเคราะห์ และอธิบายถึงธรรมชาติของภาษา อย่างเป็นระบบ ในแง่มุมต่างๆ ด้วยวิธีการเฉพาะทางภาษาศาสตร์