เล่มที่ 22
เครื่องถ้วยไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            คำว่า "เครื่องถ้วย" หมายถึง เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า เซรามิกส์ (ceramics) ซึ่งมาจากภาษากรีกโบราณว่า เครามอส (keramos) แปลว่า สิ่งที่ถูกเผา เครื่องถ้วยมีหลายประเภท อาจแบ่งได้อย่างกว้างๆ เป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ประเภทถ้วยชาม ประเภทเครื่องประดับตกแต่งอาคาร เช่น แจกัน รูปปั้น โคมไฟ ประเภทที่สาม คือ เครื่อง สุขภัณฑ์



กระถางดินเผาแบบต่าง ๆ

อีกประการหนึ่ง เราอาจแบ่งเครื่องปั้นดินเผาออกได้เป็น ๓ ชนิด ตามลักษณะเนื้อดิน และอุณหภูมิที่ใช้เผา ดังนี้

            ชนิดที่ ๑ คือ เครื่องปั้นดินเผาไม่เคลือบ (Earthenware) เนื้อดินสีแดง เผาด้วยความร้อนต่ำราว ๘๐๐-๙๐๐ องศาเซลเซียส เครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้น้ำซึมผ่านได้ และยังมีเนื้อดินเปราะบางแตกง่าย

            ชนิดที่ ๒ เรียกว่า สโตนแวร์ (Stoneware) เผาจนถึงจุดสุกตัวที่อุณหภูมิ ๑๑๙๐- ๑๓๙๐ องศาเซลเซียส เนื้อดินหยาบแน่น ทึบแสง มีความแข็งแกร่งมาก เมื่อเคาะจะมีเสียง กังวาน น้ำและของเหลวไม่สามารถซึมผ่านได้ สีของเครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้เป็นสีธรรมชาติของดิน เช่น สีเทา สีน้ำตาล




กระโถนลายคราม เนื้อกระเบื้อง

            ชนิดที่ ๓ คือ เครื่องถ้วยเนื้อกระเบื้อง (Porcelain) เครื่องถ้วยชนิดนี้ต้องเตรียมดินขึ้นเป็นพิเศษ ส่วนผสมของดินประกอบด้วย หินควอตซ์ (หินฟันม้า) ดินเคโอลิน ดินเหนียวขาว (Ball clay) และวัตถุอื่นๆ ตามสัดส่วนที่เหมาะสม เมื่อนำไปเผาใช้อุณหภูมิ ประมาณ ๑๒๑๐ องศาเซลเซียส ขึ้นไป เมื่อเผาสุกแล้วเนื้อดินจะมีสีขาวและโปร่งแสง ถ้า ผ่านอุณหภูมิสูงถึงประมาณ ๑๔๓๑ องศาเซลเซียส เนื้อกระเบื้องจะมีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ นิยมนำไปทำเครื่องฉนวนไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า



โถเบญจรงค์พร้อมฝา ศิลปะไทย สมัยรัตนโกสินทร์


พัฒนาการเครื่องถ้วยไทย
            
            ในประเทศไทย มีแหล่งโบราณคดีเครื่องถ้วย สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่ง นักโบราณคดีค้นพบว่า ที่ถ้ำผี อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเครื่องถ้วยที่สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นของยุคหินกลาง

            หลายจังหวัดในภาคต่างๆ ของประเทศไทย มีแหล่งโบราณคดี ที่นักโบราณคดีขุดค้นพบเครื่องถ้วยของยุคหินใหม่ และยุคโลหะ เช่นที่ จังหวัดกาญจนบุรี ในอำเภอเมือง พบแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ถึง ๒ แห่ง เป็นอย่างน้อย คือ ที่หมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก และที่เขาสามเหลี่ยม ตำบลช่องสะเดา ที่บ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน ยังมีแหล่งเครื่องถ้วยยุคโลหะใหม่อีกด้วย จังหวัดในภาคอีสานพบที่ บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ส่วนจังหวัดในภาคใต้พบที่ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เป็นต้น



ชามเบญจรงค์พร้อมฝา ศิลปะไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

            เครื่องถ้วยสมัยโบราณคดีประวัติศาสตร์ของไทยมีหลายยุค เช่น เครื่องถ้วยทวารวดี เครื่องถ้วยหริภุญไชย เครื่องถ้วยศรีวิชัย และตามพรลิงค์ เครื่องถ้วยลพบุรี เครื่องถ้วยล้านนา เครื่องถ้วยสุโขทัย ที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า "สังคโลก" เครื่องถ้วยอยุธยาส่วนมาก จะเป็นเครื่องถ้วยเบญจรงค์ สั่งซื้อ หรือสั่งทำจากเมืองจีน โดยไทยส่งแบบและลายไปให้ แม้เครื่องถ้วย ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก็ยังนิยมสั่งทำเครื่องถ้วยเบญจรงค์ และเครื่องถ้วยลายน้ำทองจากเมืองจีนเพิ่มขึ้น จนกระทั่งประเทศไทยเริ่มติดต่อกับชาวตะวันตก ตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงนิยมซื้อเครื่องถ้วยจากยุโรปบ้าง

แหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยไทย

            นักโบราณคดีได้ขุดค้นพบเตาเผาเครื่องถ้วยสมัยต่างๆ หลายแหล่ง เช่นที่ จังหวัด สงขลา มีแหล่งเตาเผาของเครื่องถ้วยศรีวิชัย ที่จังหวัดบุรีรัมย์ พบแหล่งเตาเผาสมัยลพบุรี ที่อำเภอบ้านกรวด และอำเภอละหานทราย ที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง จังหวัดน่าน และเชียงราย พบแหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยล้านนา ที่จังหวัดสุโขทัย พบเตาทุเรียงผลิตเครื่อง ถ้วยสังคโลกที่เมืองสุโขทัยเก่าและที่อำเภอศรีสัชนาลัย ที่จังหวัดพิษณุโลก พบเตาบ้านชีปะขาวหาย และที่อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี พบเตาที่วัดพระปรางค์บ้านชันสูตร



เตาเผาเครื่องถ้วยสังคโลก

เครื่องถ้วยไทยสมัยปัจจุบัน

            คนไทยสมัยปัจจุบัน มีความสามารถผลิตเครื่องถ้วยเลียนแบบของเก่าได้ดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องถ้วยเซลาดอนแบบจีน เครื่องถ้วยเบญจรงค์ หรือเครื่องถ้วยลายน้ำทอง นอกจากนี้ยังมีการสืบทอดรูปแบบเครื่องถ้วยสังคโลกของสุโขทัย และเครื่องถ้วยล้านนาจากเตาเวียงกาหลง และสันกำแพง

            ยิ่งกว่านั้นโครงการศิลปาชีพพิเศษ ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังได้รวบรวมช่างฝีมือด้านเครื่องถ้วยจากทั่วพระราชอาณาจักรมาเป็นครูฝึกเยาวชนไทย เป็นการสืบทอด และพัฒนา ศิลปะการทำเครื่องถ้วยไทย ให้ดำรงอยู่ตลอดไปชั่วกาลนาน