กุ้ง หอย และปู จัดเป็นสัตว์ทะเลหน้าดินที่เรารู้จักกันดี เพราะเรานิยมกินเป็นอาหาร ปลาหน้าดิน เช่น ปลาเก๋า และปลาซีกเดียว ก็จัดว่า เป็นสัตว์ทะเลหน้าดินเช่นกัน เนื่องจากอาศัยอยู่บริเวณพื้นท้องทะเล และหากินบริเวณพื้นท้องทะเลด้วย
หอยแครงพบมากบริเวณดินเลน
สัตว์ทะเลหน้าดิน มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นอาหารที่สำคัญ สำหรับสัตว์ทะเล และปลาหลายชนิด ถ้าบริเวณใดในทะเล มีปริมาณสัตว์ทะเลหน้าดินมาก ก็ย่อมแสดงถึง ความอุดมสมบูรณ์ของปลาและสัตว์น้ำ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจด้วย นอกจากนี้ไส้เดือนทะเล หรือหนอนตัวกลมบางชนิด ที่จัดว่า เป็นสัตว์ทะเลหน้าดินขนาดเล็ก สามารถใช้เป็นดัชนี ที่ชี้บ่งคุณภาพน้ำทะเลได้อีกด้วย
เราพบสัตว์ทะเลหน้าดินกระจายอยู่ทั่วไป ตั้งแต่บริเวณชายฝั่งทะเลที่เป็นหาดหิน หาดทราย และหาดโคลน ไปจนถึงเขตทะเลลึก การแบ่งกลุ่มของสัตว์ทะเลหน้าดินนิยม แบ่งได้หลายแบบ คือ แบ่งตามขนาดตัวของมัน แบ่งตามลักษณะการกินอาหาร และแบ่งตามที่อยู่อาศัย การแบ่งแบบหลังเป็นที่นิยมกันมากคือ กลุ่มสัตว์ทะเลหน้าดิน ที่อาศัยอยู่บนพื้นท้องทะเล หรือหากินบริเวณพื้นท้องทะเล (Epifauna) และกลุ่มสัตว์ทะเลหน้าดิน ที่อาศัยฝังตัว หรือขุดรูอยู่ภายใต้พื้นทรายและโคลน
หอยนางรมจะเกาะติดแน่นบนหาดหิน โดยอาศัยสารพวกหินปูน
สัตว์ทะเลหน้าดิน จำเป็นต้องมีการปรับตัว เพื่อให้ดำรงชีพได้ดีบนพื้นท้องทะเล หรือภายใต้พื้นดินที่เป็นโคลนหรือทราย ลักษณะพื้นท้องทะเลมีความสำคัญมากในการกำหนดรูปแบบการปรับตัว และรูปร่างของสัตว์ทะเลหน้าดิน ลักษณะพื้นท้องทะเล ที่เป็นพื้นดินเลนที่อ่อนนุ่ม หรือพื้นหินแข็งเป็นแนวปะการัง และขนาดของดินตะกอน มีความสำคัญ ในแง่ที่อยู่อาศัย ปริมาณอาหาร ปริมาณออกซิเจน และการซึมของน้ำในดิน ความร่วนซุยของดินทรายก็มีความสำคัญ ถ้าดินทรายละเอียดเกินไป จะจับตัวแน่นมาก ยากแก่การฝังตัวของสัตว์ทะเลหน้าดิน พวกสัตว์ทะเลหน้าดิน ที่อาศัยตามหาดหินจะยึดตัวมันเองให้ติดแน่นกับพื้นหิน โดยอาศัยสารพวกหินปูน เช่น ในหอยนางรม หรือเพรียงหิน ส่วนหอยแมลงภู่อาศัยเส้นใยเหนียวที่เรียกว่า เกสร ช่วยยึดตัวมันกับพื้น สัตว์ทะเลหน้าดินที่ไม่มีส่วนยึดเกาะ มักจะหลบซ่อนอยู่ตามซอกหิน หรือรอยแยกในหิน เช่น พวกหอยเม่น บางชนิดจะเจาะไชเข้าไปอยู่ภายในก้อนหิน หรือก้อนปะการัง เช่น พวกหอยเจาะปะการัง ฟองน้ำ และหนอนถั่ว
สัตว์ทะเลหน้าดินมีกลยุทธ์ เพื่อหลีกเลี่ยงสภาพความเค็มที่เปลี่ยนแปลงไป และที่ไม่เหมาะสมได้หลายวิธี หอยสองฝาสามารถหลบหลีกได้ โดยการปิดฝาแน่น หรือปลาอาจว่ายน้ำหนีได้ ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้ เหมาะกับการเผชิญสภาพการเปลี่ยนแปลงความเค็มอย่างฉับพลัน ในระยะเวลาสั้นๆ สัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด เช่น ปลิงทะเล และปลาฉลาม สามารถรักษาระดับปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกายของมันให้ใกล้เคียงกับน้ำทะเลภายนอก พวกสัตว์ทะเลหน้าดิน เช่น กุ้ง หรือปูก้ามดาบ ที่อาศัยอยู่บริเวณฟากแม่น้ำ บริเวณป่าชายเลน จะมีการปรับระดับปริมาณน้ำและเกลือแร่ในตัวมันตลอดเวลา เพื่อให้สามารถเผชิญกับสภาพ ที่มีการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำตลอดเวลาได้
ปูก้ามดาบจะขึ้นจากรูในขณะน้ำลงเพื่อหาอาหาร
อุณหภูมิมีอิทธิพลในการกำหนดขอบเขตการกระจายของสัตว์ทะเลหน้าดิน และเกี่ยวข้องกับสภาวะการสูญเสียน้ำจากตัวของสัตว์เหล่านี้ด้วย กุ้ง หอย ปู และปลา สามารถเคลื่อนที่หนีสภาพอุณหภูมิ ที่ไม่เหมาะสมได้ โดยเฉพาะช่วงเวลาน้ำลง ในตอนกลางวัน ที่มีแสงแดดแผดเผา ปูตัวเล็กๆ หรือไส้เดือนทะเล อาจแทรกตัวอยู่ตามกอสาหร่ายที่ชุ่มชื้น เพื่อลดสภาวะการสูญเสียน้ำออกจากตัว สีของตัวสัตว์เองหรือเปลือก ก็มีส่วนช่วยลดอิทธิพลของความร้อน โดยเฉพาะสีอ่อนจะช่วยกระจายความร้อน
การกินอาหารของสัตว์ทะเลหน้าดินมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับอาหารที่มันกิน แหล่งอาหารของสัตว์ทะเลหน้าดิน ได้แก่ พืชสีเขียว สาหร่ายทะเล แพลงก์ตอนพืช และแพลงก์ตอนสัตว์ และสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ฟองน้ำ และเพรียงหิน ตลอดจนหอยสองฝา จะหาอาหาร โดยการที่มีอวัยวะที่ใช้กรองอาหารพวกแพลงก์ตอน และอินทรียสารจากน้ำ สัตว์ทะเลหน้าดินกลุ่มใหญ่อีกกลุ่ม จะกินอินทรียสารเป็นอาหาร เช่น ปลิงทะเล ปูก้ามดาบ ไส้เดือนทะเล หนอนถั่ว และหอยสองฝาบางชนิด สัตว์ทะเลหน้าดินกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งจะดำรงชีพเป็นผู้ล่าเหยื่อ นับตั้งแต่พวกไส้เดือนทะเล และหนอนสายพาน ที่มีขนาดเล็ก ไปจนถึงปลาดาว และปูทะเลที่มีขนาดใหญ่
ปลาดาวเป็นผู้ล่าเหยื่อที่สำคัญกลุ่มหนึ่งในทะเล ภาพโดย นัท สุมนเตมีย์
สัตว์ทะเลหน้าดินส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับสภาพที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำในแหล่งที่อยู่อาศัย มันมีการปรับตัว โดยที่มีการหายใจ โดยใช้ออกซิเจนสลับกับการหายใจโดยไม่ใช้ออกซิเจน สัตว์ทะเลหน้าดินบางชนิดจะลดกิจกรรมของมันเป็นช่วงๆ เพื่อประหยัดพลังงาน บางชนิดจะมีเม็ดเลือดที่มีประสิทธิภาพสูง ในการจับหรือเก็บกักโมเลกุลของออกซิเจน ปูหลายชนิด จะสงวนออกซิเจนไว้ในแอ่งน้ำที่อยู่ภายในรูของมัน
การสืบพันธุ์ในสัตว์ทะเลหน้าดินจะพบได้ทั้งการสืบพันธุ์แบบมีเพศ และการสืบพันธุ์แบบไม่มีเพศ การสืบพันธุ์แบบไม่มีเพศ จะพบเป็นส่วนน้อย และพบในสัตว์ที่มีขนาดเล็กอยู่รวมกลุ่มกัน เช่น ฟองน้ำ และปะการัง การสืบพันธุ์แบบมีเพศ จะพบมากที่สุด ในกลุ่มสัตว์ทะเลหน้าดิน โดยที่มีการปล่อยเชื้อสืบพันธุ์ตัวผู้ และตัวเมียออกมาภายนอกลงสู่ทะเล เชื้อสืบพันธุ์ตัวผู้ และตัวเมีย จะรวมกันเป็นตัวอ่อน ซึ่งจะเจริญต่อไปเป็นตัวแก่ สัตว์ทะเลบางชนิด เช่น เพรียงหิน จะมีลักษณะเป็นกระเทย โดยที่ในตัวเดียวกันนั้น จะมีทั้งเชื้อสืบพันธุ์ตัวผู้ และตัวเมียอยู่ด้วยกัน เราพบว่า สัตว์ทะเลหน้าดินกว่าร้อยละ ๗๐ มีตัวอ่อน ที่ดำรงชีพเป็นแพลงก์ตอน สัตว์ทะเลหน้าดินบางกลุ่มจะมีไข่จำนวนมาก แต่มีอาหารสะสมภายในไข่แต่ละฟองน้อยมาก ไข่เหล่านี้จะฟักตัวในเวลาอันสั้น กลายเป็นตัวอ่อนที่ดำรงชีพเป็นแพลงก์ตอนล่องลอยไปตามกระแสน้ำ และสามารถหาอาหารกินเองได้ สัตว์ทะเลหน้าดินอีกกลุ่มหนึ่งจะมีไข่จำนวนน้อย แต่ในไข่แต่ละฟอง จะมีอาหารสะสมอยู่ในปริมาณมาก ตัวอ่อนเหล่านี้หลังจากฟักตัวออกจากไข่แล้ว สามารถดำรงชีพอยู่ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอาหารจากภายนอกได้ระยะหนึ่ง ตัวอ่อนที่ดำรงชีพเป็นแพลงก์ตอน จะล่องลอยเป็นอิสระอยู่ในมวลน้ำอยู่ระยะหนึ่ง จนกว่ามันจะพบสภาพพื้นท้องทะเลที่เหมาะสม มันก็จะลงเกาะและเจริญไปเป็นตัวแก่ที่พร้อมจะสร้างกลุ่มประชากรใหม่ขึ้นมา สัตว์ทะเลหน้าดินอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพบน้อยกว่า จะมีไข่ขนาดใหญ่ และมีจำนวนไม่กี่ฟอง ภายในไข่จะมีอาหารสะสมอยู่มาก เพียงพอแก่การพัฒนาการของไข่และตัวอ่อน ซึ่งจะฟักออกมาเป็นตัวอ่อนที่มีลักษณะสมบูรณ์คล้ายตัวแก่ที่เจริญวัยแล้วทุกประการ สัตว์ทะเลบางชนิด จะมีการดูแลฟูมฟักไข่และตัวอ่อนของมันระยะหนึ่ง เช่น ปูทะเล และม้าน้ำ
ลักษณะการกินอาหารของไส้เดือนทะเล
การเคลื่อนที่ หรือการเคลื่อนไหวของสัตว์ทะเลหน้าดิน มีความสำคัญในการหาอาหาร การหลบหลีกศัตรู และการสืบพันธุ์ ทั้งในการหาคู่ หรือการอพยพ เพื่อวางไข่ และหาที่เลี้ยงตัวอ่อน กลไกที่สำคัญสองประการ ในการเคลื่อนที่ของสัตว์ทะเลหน้าดินคือ การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของลำตัว ในขณะเคลื่อนที่ เช่น ในพวกโปรโตซัว หนอนตัวกลม และไฮดรา กลุ่มที่สองจะใช้รยางค์หรืออวัยวะพิเศษ ในการเคลื่อนที่ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานของระบบกล้ามเนื้อ และระบบประสาท เช่น รยางค์ในไส้เดือนทะเล ขาเดินของปู และปุ่มเท้าเล็กๆ ที่ยืดหดตัวได้ในปลาดาว
สัตว์ทะเลหน้าดินมักฝังตัวอยู่กับที่ หรือเคลื่อนที่หลบหนีศัตรูได้ช้า ดังนั้นมันจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการป้องกันตัว เช่น มีสารพิษ หรือเข็มพิษ เช่น ในโปรโตซัว ฟองน้ำ ปะการังอ่อน และพวกดอกไม้ทะเล สัตว์ทะเลหน้าดินมีอวัยวะโดยเฉพาะที่ ใช้ในการป้องกันตัว เช่น ลักษณะก้ามใหญ่ที่พบในปู กระดองและหางที่แข็งแรง ในแมงดาทะเล และการสำรอกทางเดินอาหารบางส่วน หรือการพ่นสายใยเหนียว ในปลิงทะเล การพรางตัวก็เป็นกลยุทธ์หนึ่ง ที่พบมาก ในสัตว์ทะเลหน้าดิน เช่น การมีสีตัวกลมกลืนกับบริเวณพื้นดิน ที่มันอาศัยอยู่ ปูแมงมุมมีการพรางตัว โดยการสะสมฟองน้ำ และสาหร่ายไว้บนกระดองของมัน
ปะการังอ่อนมีเข็มพิษและสารเคมีในเนื้อเยื่อ เพื่อช่วยป้องกันตัว ภาพโดย อุกกฤต สตภูมินทร์