เล่มที่ 22
ไม้ดอกหอมของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            พรรณไม้ต่างๆ นั้น มีความสำคัญ และเกี่ยวข้องกับมนุษย์ ในหลายรูปแบบ นอกจากจะเป็นอาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย และเครื่องนุ่งห่มแล้ว ยังมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด จิตใจ ในทางสร้างสรรค์สิ่งดีงามนานัปการ เห็นได้จากศิลปวัฒนธรรม และวรรณกรรมของทุกชาติทุกภาษา ผู้สร้างสรรค์ต่างก็ได้รับความบันดาลใจจากต้นไม้ ดอกไม้ ไม่มากก็น้อย สำหรับประเทศไทยเราก็เช่นเดียวกัน ความสวยงาม และกลิ่นหอมของดอกไม้ ปรากฎในวรรณกรรม บทร้อยกรอง บทเพลงต่างๆ และยังมีการนำลักษณะของต้นไม้ดอกไม้ มาประดิษฐ์เป็นลวดลาย เป็นภาพวาด และแกะสลัก ที่เราจะพบเห็นได้ จากโบราณสถาน ในทุกภาคของประเทศ นอกจากนั้นคนไทยยังนิยมนำไม้ดอกมาใช้ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเพณีต่างๆ ใช้ในการปรุงเครื่องหอมต่างๆ มาแต่โบราณกาล อาจกล่าวได้ว่า คนไทยเรามีรสนิยมในเรื่องความหอมมากทีเดียว ดังจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็น ร่างกาย เสื้อผ้า อาหารคาวหวาน ล้วนได้รับการปรุงแต่งให้มีกลิ่นหอม แม้แต่ไม้ประดับ ก็คัดเลือกพวกที่มีกลิ่นหอมไว้ด้วยเสมอ



วิธีการปรุงน้ำอบไทย

            เรื่องราว เกี่ยวกับไม้ที่มีดอกหอมของไทยได้เคยมีการรวบรวม และตีพิมพ์ในชื่อ "ดอกไม้หอมเมืองไทย" โดยกองวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ เป็นครั้งแรก และครั้งที่ ๒ เมื่อพ.ศ.๒๕๑๗ ผู้เขียนคือ ศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์ อดีตข้าราชการ กรมวิชาการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหนังสือเล่มนี้ มีบทดอกสร้อย และภาพประกอบ โดยอาจารย์เรืองอุไร กุศลาสัย และอาจารย์ลำยอง วิมุกตะลพ ตามลำดับ มีข้อความบางตอนของศาสตราจารย์กสิน ที่ท่านได้เขียนถึงดอกไม้หอมไว้ ซึ่งจะขอคัดลอกมาลงไว้ดังนี้




วิธีการปรุงน้ำอบไทย

            "ดอกไม้ในเมืองไทยนั้น ส่วนมากจะดูไม่สวยไม่งามสะดุดตา แต่ก็มีกลิ่นหอมชวนดมอยู่มากมาย เมื่อพูดถึงเรื่องกลิ่นหอมของดอกไม้แล้ว ใครๆ ก็ชอบ (อาจจะเป็นได้ ที่จะมีบางท่าน ไม่ชอบกลิ่นดอกไม้บางชนิด แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ว่าชอบในบางชนิดเหมือนกัน) เพราะอย่างน้อย แนวคิดในการเปรียบเทียบกลิ่นของดอกไม้ ก็เชื่อมโยงไปถึงความรู้จักพรรณดอกไม้นานาชนิดไปในตัว ยิ่งกว่านั้นเราท่านก็คงจะเชื่อกันได้ว่า กลิ่นหอมของดอกไม้นั้น คงจะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ที่ช่วยก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ขึ้นได้ง่ายดาย และส่วนมากก็มักจะเป็นไปในทางที่ดี ฉะนั้นเอง เราจึงนิยมใฝ่หาพันธุ์ไม้ ที่มีดอกส่งกลิ่น อันเป็นสุคนธร มาปลูกประดับไว้ ภายในเขตอาคารของตน ตามควรแก่วิสัย ฐานะ และความเป็นอยู่ ด้วยความรื่นรมย์

พันธุ์ไม้ที่มีดอกหอมๆ นั้น มีทั้งที่เป็นต้นใหญ่ ต้นน้อย และเครือเถา เวลามีดอกบาน ก็ส่งกลิ่นกระจายไป มากน้อยตามแต่ชนิดและกาลเวลา"

            หนังสือเล่มดังกล่าว ได้รวบรวมไม้ดอกหอมไว้ ๙๕ ชนิด มีทั้งพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของไทย เช่น แก้ว นมแมว จันทน์กะพ้อ บุนนาค รสสุคนธ์ ประยงค์ และพันธุ์ไม้จากต่างประเทศ แต่ก็มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย เป็นเวลานานมากแล้ว จนเป็นที่คุ้นเคยของเรา เช่น มะลิ กรรณิการ์ ชำมะนาด ซ่อนกลิ่น พิกุล พุดต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น พันธุ์ไม้ที่มีดอกหอมของท้องถิ่นไทย ซึ่งหมายถึง เฉพาะที่พบตามธรรมชาติด้วยนั้น คงจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ชนิด




วิธีการปรุงน้ำอบไทย