ประเทศไทยมีสภาพอากาศ และภูมิประเทศ เหมาะแก่การเจริญของพรรณไม้นานาชนิด ซึ่งมีลักษณะโครงสร้าง ขนาดของต้น และแหล่งที่อยู่ต่างๆ กัน พรรณไม้ส่วนใหญ่ที่พบเห็นทั่วไปเป็นพืชสีเขียวที่มีการสร้างดอกผลและเมล็ด เพื่อใช้ในการขยายพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีพืชสีเขียวที่ไม่มีการสร้างดอก เช่น มอส ลิเวอร์เวิร์ต ฮอร์นเวิร์ต หวายทะนอย ตีนตุ๊กแก สามร้อยยอด หญ้าถอดปล้อง เฟิร์น ปรง สน มะเมื่อย พืชกลุ่มนี้จึงเป็นพืชสีเขียวไร้ดอก
ฮอร์เวิร์ต
เฟิร์นเป็นพืชสีเขียวไร้ดอก ซึ่งมีลักษณะเด่นแตกต่างจากพืชอื่นๆ คือ มีใบอ่อนม้วนขดเป็นวง จากปลายใบ เข้าหาโคนก้านใบ คล้ายลานนาฬิกา ส่วนใบที่เจริญเต็มที่ มักจะพบจุดหรือขีดสีน้ำตาล เกิดทางด้านล่างของแผ่นใบ ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าว่า เป็นรูปกลม รูปรี หรือเป็นขีดหนา บาง สั้น หรือยาว ถ้าใช้แว่นขยาย หรือกล้องจุลทรรศน์ ที่มีกำลังขยายมากขึ้น ก็จะเห็นรายละเอียดเพิ่มขึ้นว่า จุดหรือขีดเหล่านี้คือ กลุ่มของอับสปอร์ อับสปอร์มีรูปร่างคล้ายกำปั้นของคน ซึ่งประกอบด้วย ส่วนที่เป็นก้านติดอยู่บนแผ่นใบ และส่วนที่พองออกเป็นกระเปาะ ภายในกระเปาะเป็นที่เกิดของเซลล์พิเศษ ที่ทำหน้าที่ในการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เซลล์พิเศษนี้เรียกว่า "สปอร์" สปอร์มีลักษณะเป็นผงสีน้ำตาล ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ ที่มีกำลังขยายสูงส่องดู จึงจะเห็นว่า มีรูปร่างเป็นอย่างไร เมื่ออับสปอร์แตก สปอร์จะปลิวตามลม ไปตกตามที่ต่างๆ เช่น ในน้ำบนดิน บนก้อนหิน หรือบนเปลือกไม้ ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สปอร์จะงอกเป็นแผ่นบางๆ สีเขียวคล้ายรูปหัวใจ หรือมีลักษณะเป็นเส้น เป็นโครงสร้างของเฟิร์น ที่จะมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ โดยการสร้างไข่และสเปิร์ม เมื่อเกิดการผสมของไข่และสเปิร์ม จะมีการเจริญเปลี่ยนแปลงตามลำดับ จนเป็นต้นเฟิร์นที่สร้างใบอ่อน และใบที่เจริญเต็มที่ในที่สุด
พืชสีเขียวที่ไร้ดอก ส่วนใหญ่จะสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยการสร้างสปอร์ มอส และลิเวอร์เวิร์ตแตกต่างจากเฟิร์น คือ มอสและลิเวอร์เวิร์ตมักจะมีขนาดเล็ก และบอบบาง ส่วนปรง สน และมะเมื่อยเป็นพืชที่มีขนาดใหญ่ มักจะมีเนื้อไม้แข็ง และสร้างเมล็ด ซึ่งใช้ในการสืบพันธุ์ นอกเหนือจากการสร้างสปอร์ ในขณะที่หวายทะนอย ตีนตุ๊กแก สามร้อยยอด หญ้าถอดปล้อง มีลักษณะต่างๆ รวมทั้งวัฎจักรชีวิต ที่ใกล้เคียงกับเฟิร์นมาก นักพฤกษศาสตร์จึงจัดหวายทะนอย ตีนตุ๊กแก สามร้อยยอด หญ้าถอดปล้อง ไว้เป็น พืชกลุ่มใกล้เคียงกับเฟิร์น
ลิเวอร์เวิร์ต
มอส
เฟิร์นเป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตช้า จึงมีความต้องการสารอาหารในปริมาณต่ำ ทำให้เฟิร์นสามารถเจริญได้บนดินเลว บนหิน ตามร่องหิน หรือเป็นพืชอิงอาศัยบนไม้พุ่ม หรือไม้ต้น เฟิร์นที่เป็นพืชอิงอาศัยหลายชนิด สามารถเจริญบนหินหรือตามร่องหินได้ด้วย และยังมีเฟิร์นเลื้อย ที่เริ่มต้นการเจริญจากพื้นดิน และใช้ลำต้น หรือใบเลื้อย พันไม้พุ่ม หรือไม้ยืนต้น เฟิร์นบางชนิดจัดเป็นเฟิร์นน้ำ มีทั้งพวกที่ลอยน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ หรือมีทั้งส่วนที่อยู่ใต้น้ำ และอยู่เหนือน้ำ บางชนิดเจริญได้เฉพาะในน้ำจืด บางชนิดเจริญได้ ทั้งในน้ำจืด และน้ำกร่อย
ยอดอ่อนของเฟิร์น ม้วนขดเป็นวงจากปลายใบเข้าหาโคนก้านใบคล้ายลานนาฬิกา
ในสภาพธรรมชาติ เฟิร์นจะขึ้นอยู่รวมกับพืชชนิดอื่นๆ เช่น มอส ลิเวอร์เวิร์ต ไลเคน พืชกลุ่มใกล้เคียงกับเฟิร์น เช่น สามร้อยยอด ช้องนางคลี่ ตีนตุ๊กแก หญ้าถอดปล้อง และไม้ดอก เช่น กล้วยไม้ ว่านไก่แดง นมตำเรีย เฟิร์นบางชนิดจะอยู่ร่วมกับมด แบบที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเฟิร์นจะมีลำต้นเป็นโพรง ให้มดอาศัย และมดจะกินอับสปอร์ของเฟิร์น เป็นอาหาร นอกจากนี้มดจะสะสมอาหารภายในโพรงของลำต้น ซึ่งเฟิร์นสามารถใช้เป็นสารอาหารได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเฟิร์นที่ชอบอยู่ร่วมกับมด เช่น ตานมังกร เฟิร์นชายผ้าสีดาเขากวาง มีใบประกบต้นเรียงซ้อนกัน และมีช่องว่างระหว่างใบเป็นที่อยู่อาศัยของมด และยังมีเฟิร์นชนิดอื่นๆ อีกที่ชอบอยู่ร่วมกับมด เช่น ผักปีกไก่ ขาไก่ ลิ้นกุรัม สะโมง เป็นต้น