เล่มที่ 40
มะเร็งต่อมลูกหมาก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            มะเร็งต่อมลูกหมากพบได้บ่อยในผู้ชายสูงวัย เมื่อผู้ชายมีอายุมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ อันอาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ต่อมลูกหมากซึ่งเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์ชายมีขนาดโตขึ้น อาการนี้ เกิดกับผู้ชายสูงวัยทั่วไป เรียกว่า เป็นต่อมลูกหมากโตชนิดธรรมดา แต่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมาก การจะเป็นมะเร็งต้องมีเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งจะเจริญเติบโตเป็นเซลล์มะเร็งต่อไป ในระยะแรกการดำเนินโรค เป็นไปอย่างช้าๆ โดยใช้เวลานับสิบปีจากจุดกำเนิดเล็กๆ ที่ไม่แสดงอาการอะไร จนถึงขั้นที่ก้อนมะเร็งมีขนาดโตขึ้นจนปรากฏอาการ เริ่มจากต่อมลูกหมากที่โตไปเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะได้ไม่สะดวก เมื่อลุกลามไปที่กระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีเลือดปนอยู่ในน้ำปัสสาวะ และเมื่อไปที่ท่อไต ก็จะเกิดการอุดตัน ทำให้ปัสสาวะไม่ออก มีอาการไตวาย มะเร็งระยะลุกลาม จะกระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลือง สู่กระแสเลือด ไปที่กระดูก ทำให้ขาบวม ปวดกระดูก เมื่อไปที่ไขสันหลังก็จะมีอาการชา เป็นอัมพาต อาจทำให้ผู้ป่วยพิการ หากกระจายไปทั่วร่างกาย ผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่อย่างลำบาก


เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องซีทีสแกน (CT Scan)

            สาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยที่ทำให้เกิดได้มากขึ้น ได้แก่ กรรมพันธุ์ ผู้ชายที่มีพ่อ หรือพี่น้องเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จะมีโอกาสเป็นได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า ชายชาวตะวันตกเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก มากกว่าชายชาวเอเชีย อาจเกี่ยวเนื่องด้วยสายพันธุ์ สภาพแวดล้อม พฤติกรรมการดำเนินชีวิต และการรับประทานอาหาร เช่น อยู่ในสถานที่ที่ไม่ค่อยได้รับแสงแดด ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้มากขึ้น


เครื่องอัลตราซาวนด์

            ผู้ชายสูงวัยที่มีอาการผิดปกติในการขับถ่ายปัสสาวะควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยตามขั้นตอน คือ เริ่มจากการตรวจต่อมลูกหมาก โดยการสอดนิ้วเข้าทางทวารหนัก เพื่อตรวจขนาดว่าโตกว่าปกติ หรือมีพื้นผิวแข็ง และไม่เรียบหรือไม่ ขั้นต่อไปก็คือ การตรวจเลือด เพื่อหาค่าพีเอสเอ (PSA: Prostate Specific Antigen) ถ้าค่าพีเอสเอสูงกว่าปกติ ก็อาจเป็นมะเร็ง หรืออาจเป็นเพราะการอักเสบของต่อมลูกหมากก็ได้ จึงต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป นับเป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ และเป็นอยู่ในระยะใด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป



ชิ้นเนื้อที่เจาะจากต่อมลูกหมาก

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากมีหลายวิธี ดังนี้

๑. การผ่าตัด

            โดยการตัดต่อมลูกหมากออก แล้วเย็บคอกระเพาะปัสสาวะต่อเข้า
กับท่อปัสสาวะ

๒. รังสีรักษา

            หรือที่เรียกกันว่า การฉายแสง ทำได้โดยการให้รังสี จากเครื่องกำเนิดรังสีภายนอกร่างกาย  หรือโดยการฝังแร่กัมมันตรังสี เข้าไปในต่อมลูกหมาก

๓. เคมีบำบัด

เป็นการใช้ยา เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการเจริญเติบโต และการแพร่กระจาย ของเซลล์มะเร็ง

แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่า ผู้ป่วยแต่ละรายควรรักษาด้วยวิธีใด จึงจะเหมาะสม อาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด ในการรักษา

            นอกจากวิธีเดิมเหล่านี้ที่กล่าวแล้ว ยังมีวิธีใหม่ที่ใช้รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก คือ การรักษาด้วยความเย็น โดยการทำให้เนื้อต่อมลูกหมากเย็นลงถึง -๑๔๐ องศาเซลเซียส หรือโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปที่ต่อมลูกหมาก ซึ่งจะทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง ๘๐ องศาเซลเซียส ทั้ง ๒ วิธีนี้จะทำให้เนื้อต่อมลูกหมากถูกทำลาย แต่ยังเป็นวิธีใหม่ ที่ต้องติดตามผลดีและผลเสียของการรักษาต่อไป



หัวอัลตราซาวนด์ทางทวารหนักพร้อมเข็มตัดชิ้นเนื้อ

            การดูแลสุขภาพในระหว่างหรือหลังการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากเป็นสิ่งสำคัญ จากการวิจัยพบว่า อาหารบางชนิด มีส่วนช่วยลดอัตราการเกิดและการกระจายตัวของมะเร็งต่อมลูกหมาก เช่น ชาเขียว มะเขือเทศ ทับทิม ถั่วเหลือง บางชนิดทำให้มะเร็งต่อมลูกหมากลุกลามเร็วขึ้น ได้แก่ เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากนม จึงควรหาความรู้ และขอคำแนะนำ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องอาหาร นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การทำจิตใจให้สดชื่น ไม่เครียด จะทำให้คนปกติทั่วไปมีชีวิตที่ห่างไกลจากโรคมะเร็ง และผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ก็จะมีชีวิตอย่างปกติสุข ต่อไปได้