เล่มที่ 40
รางวัลซีไรต์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประวัติความเป็นมาของรางวัลซีไรต์

รางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write Award) เป็นคำเรียกสั้นๆ ที่ย่อมาจากคำว่า South East Asian Writers Award หรือคำเต็มว่า รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน เป็นรางวัลวรรณกรรมที่มอบให้แก่นักเขียนหรือกวีในกลุ่มประเทศอาเซียน ๑๐ ประเทศ

            รางวัลซีไรต์ก่อเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยความริเริ่มของเคิร์ท ว้าชไฟท์ล กรรมการ และผู้จัดการใหญ่โรงแรมโอเรียนเต็ล ที่ต้องการสนับสนุนนักเขียนรุ่นใหม่จากกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีผลงานดีเด่น เนื่องจากโรงแรมโอเรียนเต็ลมีประวัติความเป็นมา เกี่ยวข้องกับนักเขียนชั้นนำของโลกเป็นเวลานาน มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ และมอบหมายให้ สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการเรื่อง การสรรหา คัดเลือก และตัดสินวรรณกรรมไทยเพื่อรับรางวัลซีไรต์ พร้อมกับเชิญองค์กรวรรณกรรมในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ให้เข้าร่วมโครงการรางวัลซีไรต์ด้วย


            จากจุดเริ่มต้นของรางวัลซีไรต์ ที่มอบให้แก่นักเขียน ๕ ประเทศ ต่อมาได้ขยายไปจนครบ ๑๐ ประเทศ เรียงตามลำดับตัวอักษรไทย คือ กัมพูชา ไทย บรูไนดารุสซาลาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เมียนมา ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

วัตถุประสงค์ของรางวัลซีไรต์ 

            มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ความสามารถในด้านสร้างสรรค์ของนักเขียน ในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นที่รับทราบโดยทั่วไป ให้สาธารณชนได้ประจักษ์อัจฉริยะทางวรรณกรรม ของนักเขียน เป็นการส่งเสริมความเข้าใจ เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพอันดี ในหมู่นักเขียนและประชาชนทั่วไป ในกลุ่มประเทศอาเซียน



เคิร์ท ว้าชไฟท์ล ผู้ริเริ่มรางวัลซีไรต์

หลักเกณฑ์การคัดเลือก

            รางวัลซีไรต์ของประเทศไทยเริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ จากการให้รางวัลวรรณกรรม ประเภทนวนิยาย ต่อมาในปีที่ ๒ จึงพิจารณา ให้รางวัลวรรณกรรมประเภทกวีนิพนธ์ ในปีที่ ๓ ได้พิจารณาให้รางวัลวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้น นับจากปีที่ ๔ เป็นต้นมา ได้เวียนกลับมาให้รางวัลวรรณกรรมตามลำดับประเภทที่เริ่มไว้ คือ นวนิยาย กวีนิพนธ์ รวมเรื่องสั้น และดำเนินเช่นนี้ต่อมา จนปัจจุบัน

            นับจาก พ.ศ. ๒๕๒๒ จนถึง พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นเวลา ๓๖ ปี มีงานประพันธ์ประเภทนวนิยาย บทกวี และเรื่องสั้น ที่ได้รับรางวัลซีไรต์แล้วจำนวน ๓๖ เล่ม คือ นวนิยาย ๑๒ เล่ม กวีนิพนธ์ ๑๒ เล่ม และรวมเรื่องสั้น ๑๒ เล่ม


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานรางวัลซีไรต์ให้แก่คำพูน บุญทวี

            ในช่วงปีแรกๆ ของการพิจารณาตัดสินวรรณกรรมเพื่อรับรางวัลซีไรต์ มีคณะกรรมการประกอบด้วยบุคคลในแวดวงวรรณกรรม ได้แก่ นักเขียน กวี บรรณาธิการ และนักวิชาการวรรณกรรม สรรหาวรรณกรรมและพิจารณาตัดสิน ต่อมากำหนดให้มีการส่งวรรณกรรมเข้าประกวด จึงมีการกำหนดองค์ประกอบของกรรมการอย่างชัดเจน คณะกรรมการตัดสินมีหน้าที่พิจารณาเรื่องที่คณะกรรมการคัดเลือกเสนอและตัดสินให้ได้รับรางวัลซีไรต์เพียง ๑ เรื่อง ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกและตัดสินวรรณกรรมซีไรต์นั้นไม่มีการกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่จากคำให้สัมภาษณ์ของกรรมการตัดสินบางคน กล่าวได้ว่า มีหลักเกณฑ์การประเมินค่าวรรณกรรมคร่าวๆ ๓ ประการ คือ

            ๑) ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในด้านแนวคิดและกลวิธี
            ๒) คุณค่าทางวรรณศิลป์
            ๓) คุณค่าต่อสังคมและมนุษยชาติ

งานพระราชทานรางวัล

            งานพระราชทานรางวัลซีไรต์จะจัดเป็นงานกาล่าดินเนอร์ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมโอเรียนเต็ล ในช่วงแรก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานรางวัล และนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นองค์ประธาน ยกเว้นบางปี ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีผู้แทนพระองค์ และทุกปีจะมีนักเขียนที่มีชื่อเสียงระดับโลกเป็นปาฐกรับเชิญ เพื่อบรรยายเรื่องเกี่ยวกับวรรณกรรม

บทบาทของรางวัลซีไรต์

            ประเทศไทยมีการให้รางวัลวรรณกรรมหลายรางวัล แต่รางวัลซีไรต์เป็นรางวัลวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงโดดเด่นที่สุด เพราะมีผู้ให้ความสนใจ ทั้งนักเขียน สำนักพิมพ์ นักวิชาการวรรณกรรม สื่อมวลชน และสาธารณชนทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้วรรณกรรมซีไรต์เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา หนังสืออ่านเพิ่มเติม และหนังสือเสริมประสบการณ์ ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งมีการศึกษาวรรณกรรมซีไรต์ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก วรรณกรรมซีไรต์จึงมีบทบาทมากในวงการศึกษาไทย