ปัจจุบันมีการนำวิทยาการใหม่ๆ และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มาใช้ในวงการแพทย์ เพื่อตรวจและรักษาโรคต่างๆ เครื่องเลเซอร์ก็เป็นอีกชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ การใช้เลเซอร์ทางการแพทย์จึงเป็นความก้าวหน้าที่น่าสนใจมาก
"เลเซอร์" เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า LASER ซึ่งย่อมาจาก Light Amplification by Stimulated Emission of Radiation อาจแปลเป็นภาษาไทยว่า การขยายสัญญาณแสงโดยการปล่อยแสงแบบเร้า การเกิดแสงเลเซอร์ ต้องมีเครื่องกำเนิดแสงเลเซอร์ ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ ๓ ส่วน คือ
ระบบเลเซอร์แก๊สไนโตรเจน (แสงเลเซอร์ไม่มีสี มองไม่เห็น)
๑. ตัวกลางเลเซอร์
ได้แก่ วัสดุที่ต้องการกระตุ้น ให้เกิดการปล่อยแสงเลเซอร์ อาจเป็นแก๊ส ของเหลว ของแข็ง หรือสารกึ่งตัวนำ
๒. ออปทิคัลเรโซเนเตอร์
ช่วยให้เกิดการขยายสัญญาณแสง ประกอบด้วยกระจก ๒ แผ่น เรียกว่า กระจกหน้า และกระจกหลัง วางหันหน้าเข้าหากัน โดยมีตัวกลางเลเซอร์อยู่ระหว่างกระจกทั้ง ๒ แผ่น กระจกทั้ง ๒ แผ่นมีค่าการสะท้อนแสงต่างกัน กระจกหลัง มีค่าการสะท้อนแสงมากกว่ากระจกหน้า กระจกหลังจะสะท้อนแสงได้หมดหรือเกือบหมด
๓. แหล่งกำเนิดพลังงาน
ใช้ในการให้พลังงานแก่ตัวกลางเลเซอร์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการ ที่จะทำให้เกิดแสงเลเซอร์
ระบบเลเซอร์ของเหลว
เครื่องกำเนิดแสงเลเซอร์ ส่วนมากเรียกสั้นๆ ว่า เลเซอร์ แบ่งออกเป็น ๔ ชนิด ตามประเภทของตัวกลางเลเซอร์ คือ เลเซอร์แก๊ส เลเซอร์ของเหลว เลเซอร์ของแข็ง และเลเซอร์ไดโอด ซึ่งเป็นเลเซอร์ที่มีสารกึ่งตัวนำเป็นตัวกลางเลเซอร์
ระบบเลเซอร์ของแข็ง
ตัวอย่างตัวกลางเลเซอร์ต่างๆ คือ
เลเซอร์แก๊ส
ใช้ตัวกลางเลเซอร์แก๊สต่างๆ เช่น อาร์กอน ให้แสงสีฟ้าถึงสีเขียว คาร์บอนไดออกไซด์ ให้แสงอินฟราเรดซึ่งไม่มีสี มองไม่เห็น
เลเซอร์ของเหลว
ใช้ตัวกลางเลเซอร์ต่างๆ เช่น สีย้อมผสมกับแอลกอฮอล์ สีโรดามีน ๖ จี ให้แสงสีเหลืองถึงสีส้ม
เลเซอร์ของแข็ง
ใช้ตัวกลางหลายชนิด เช่น นีโอดีเมียมแย็ก ให้แสงอินฟราเรด ซึ่งมองไม่เห็น ทับทิมให้แสงสีแดง
เลเซอร์ไดโอด
ใช้ตัวกลางหลายชนิด เช่น แกลเลียมอาร์เซไนด์ ให้แสงอินฟราเรด แกลเลียม-อะลูมิเนียมอาร์เซไนด์ ให้แสงสีแดง
ตัวกลางเลเซอร์บางตัวให้แสงอินฟราเรดซึ่งเป็นแสงที่ร้อนและมองไม่เห็น แพทย์และผู้ช่วยที่ใช้เลเซอร์ในการบำบัดรักษา จึงต้องใส่แว่นตากันแสงเลเซอร์ที่อาจสะท้อนกลับได้
ระบบเลเซอร์ไดโอด
ในทางการแพทย์มีการใช้เลเซอร์ในการบำบัดรักษาได้หลายแบบ ส่วนใหญ่ใช้ในการผ่าตัดแทนมีดผ่าตัด เพราะมีข้อดีกว่าใช้มีด คือ ช่วยให้แผลเล็กลง ไม่เสียเลือดมาก เนื้อเยื่อไม่ช้ำเหมือนใช้มีด ลดการเจ็บปวด และลดอาการบวม อักเสบ หลังผ่าตัด
การใช้เลเซอร์ทางการแพทย์
มีตัวอย่าง คือ
ใช้เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ ผ่าตัดแผลเป็นที่นูนขึ้นให้เรียบลง จี้ไฝหรือขี้แมลงวัน ทำตา ๒ ชั้น เจาะหู ลบรอยย่นบนใบหน้า ลบรอยตีนกา
ใช้เลเซอร์นีโอดีเมียมแย็กลบปานดำ เลเซอร์ทับทิมลบปานแดง เลเซอร์สีย้อมบางชนิดลบปานแดง
นอกจากการบำบัดรักษาอวัยวะภายนอกแล้ว มีการใช้เลเซอร์กับอวัยวะภายในร่างกาย โดยการส่งลำแสงเลเซอร์ตามเส้นใยแก้วนำแสงที่ติดกับกล้องส่องภายในไปยังจุดที่ต้องการรักษา เช่น การอุดตันของเส้นเลือด สลายนิ่วในถุงน้ำดี รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ผ่าตัดก้อนเนื้องอก ผ่าตัดเส้นเลือด สลายเซลล์มะเร็ง
การใช้เลเซอร์ผ่าตัดไต
การใช้เลเซอร์ที่นิยมกันมากอีกอย่างหนึ่งคือ การแก้ปัญหาสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียงด้วยเลเซอร์ แบบที่ใช้กันมากคือแบบที่เรียกว่า เลสิก (lasik) แต่ก็ต้องระมัดระวังว่า มีโรคของตาบางโรคที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้