เล่มที่ 26
เชื้อเพลิง ยานยนต์ และสิ่งแวดล้อม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :


            ยานยนต์ คือ สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น และมีอยู่หลายชนิด เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก เรือยนต์ เรือหางยาว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ ช่วยให้การเดินทางสะดวก และรวดเร็ว กว่าในอดีตอย่างมาก ส่วนเครื่องยนต์ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อช่วยทุ่นแรง และช่วยในการทำงาน เช่น รถไถนา รถบดถนน รถแทรกเตอร์ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องยนต์ที่ใช้ในโรงงานต่างๆ ทำให้มนุษย์มีผลิตภัณฑ์มากมายหลายชนิดที่ทำให้การดำรงชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น

            ส่วนที่เป็นผลเสียต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้น ก็เนื่องมาจากยานยนต์ และเครื่องยนต์ต่างๆ ต้องมีการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง เพื่อให้เกิดพลังงาน ที่ทำให้ยานยนต์สามารถขับเคลื่อนได้ และเครื่องยนต์สามารถทำงานได้ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงนี้เอง ก็เป็นสาเหตุทำให้อากาศเสีย คือ เกิดมลพิษทางอากาศขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาพของมนุษย์ เราทุกคนจะต้องช่วยกันแก้ไขให้ดีขึ้น
เมื่อประมาณ ๑๓๐ ปีกว่ามานี้เอง ที่มนุษย์สามารถประดิษฐ์เครื่องยนต์ขึ้นใช้งานได้ เครื่องยนต์รุ่นแรกใช้ก๊าซถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ต่อมาอีก ๕๐ ปี จึงได้มีการพัฒนาเครื่องยนต์ และเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงเหลว ได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล หรือโซลา ซึ่งได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ และต่อมาได้มีผู้คิดที่จะนำเชื้อเพลิงอื่นมาใช้ทดแทน เช่น ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจีแอลกอฮอล์ น้ำมันปาล์ม และน้ำมันพืชชนิดอื่นที่หาได้ภายในประเทศ



            ไม่ว่าเชื้อเพลิงชนิดใดก็ตาม เมื่อทำให้เกิดการเผาไหม้ จะมีไอเสียเกิดขึ้น และกระจายออกสู่บรรยากาศ ซึ่งมีผลกระทบ ทำให้คุณภาพของอากาศเกิดภาวะมีมลพิษ เมื่อมนุษย์หายใจเอาอากาศที่มีสารพิษเข้าไป ก็จะมีผลเสียต่อสุขภาพ ส่วนจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของสารที่มีอยู่ในเชื้อเพลิงนั้นๆ



ชนิดของเชื้อเพลิง

            เชื้อเพลิงมีหลายชนิด ได้แก่ เชื้อเพลิงที่เป็นของแข็ง เช่น ถ่านหิน ถ่านไม้ ฟาง หญ้าแห้ง ฟืน กระดาษ ผ้า ยาง ฯลฯ เชื้อเพลิงที่เป็นของเหลว เช่น น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันเบนซิน แอลกอฮอล์ ฯลฯ เชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซ เช่น ก๊าซถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลี่ยมเหลว ฯลฯ

            เมื่อเชื้อเพลิงเผาไหม้จะเกิดเขม่า ควันดำ ฝุ่นละออง ไอน้ำ และก๊าซต่างๆ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซค์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซค์ ทำให้เกิดระคายเคืองต่อนัยน์ตา และระบบทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลม และเยื่อหุ้มปอดอักเสบ และอาจเกิดมะเร็งที่หลอดลมและปอดได้ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ามนุษย์หายใจเอาอากาศที่มีสารพิษเข้าไปมากๆ จะทำให้มึนงง หมดสติ และเสียชีวิตได้

            ถ้าในเชื้อเพลิง มีสารตะกั่วเจือปน ก็จะก่อให้เกิดไอพิษ ซึ่งทำให้มีอาการปวดท้อง ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง และไขกระดูก ทำให้เป็นโรงโลหิตจาง ดังนั้น ตำรวจจราจร ที่ปฏิบัติหน้าที่ บนท้องถนนนานๆ ก็อาจได้รับไอพิษจากสารตะกั่ว ทำให้เจ็บป่วย และเสียชีวิตได้