การดำน้ำไม่มีการบันทึกไว้แน่นอนว่า เริ่มครั้งแรกเมื่อไหร่ และโดยผู้ใด เชื่อกันว่า นักดำน้ำสมัยแรกๆ ดำน้ำที่ระดับความลึก ๘๐-๑๐๐ ฟุต โดยดำอยู่นาน ๑-๒ นาที หรือมากกว่า บันทึกของการดำน้ำ ในสมัยโบราณ ส่วนมากเป็นการดำน้ำ ที่เกี่ยวข้องกับสงครามทางทะเลแทบทั้งสิ้น
ทัศนียภาพใต้น้ำ
ความต้องการเคลื่อนไหวอย่างอิสระใต้ท้องทะเล ความอยากรู้ อยากเห็น ความงดงาม และมหัศจรรย์ของโลกใต้ทะเล ตลอดจนความต้องการทรัพยากรธรรมชาติใต้ท้องทะเล เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้มนุษย์พยายามพัฒนาวิธีการดำน้ำ และเครื่องมืออุปกรณ์ดำน้ำมาตลอดเวลานับร้อยปี จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อุปกรณ์ดำน้ำจึงได้รับการพัฒนาขึ้น จนไม่เฉพาะนักดำน้ำมืออาชีพเท่านั้นที่มีโอกาสใช้ บุคคลทั่วไปก็สามารถฝึกใช้ได้ ทำให้การดำน้ำ เพื่อการท่องเที่ยว และการกีฬา เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นตามลำดับ นอกเหนือจากการดำน้ำทางยุทธวิธี และดำน้ำเป็นอาชีพ ขณะเดียวกัน จำนวนผู้เจ็บป่วยทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตจากการดำน้ำเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
การถ่ายภาพใต้น้ำ เป็นลักษณะหนึ่งของการทำงานใต้น้ำ
การถ่ายภาพใต้น้ำ เป็นลักษณะหนึ่งของการทำงานใต้น้ำ
สภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำใต้ทะเล มีธรรมชาติแตกต่างจากบนบกที่มนุษย์คุ้นเคย เมื่ออยู่ใต้ทะเล การทำงานของอวัยวะหลายอย่างของคนเราผิดไปจากปกติ มนุษย์สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมใต้น้ำได้ ต่อเมื่อร่างกายของเขาสามารถปรับตัว หรือปรับเครื่องอุปกรณ์ดำน้ำให้เกิดลักษณะคล้ายคลึงกับสภาวะปกติ อุปสรรคที่เป็นปัญหามากที่สุด สำหรับการปรับตัวของมนุษย์เมื่อดำน้ำ ได้แก่
ความกดดันใต้น้ำ
ในน้ำมีความกดดันสูงกว่าบนบก น้ำยิ่งลึกเท่าใดความกดดันยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ที่ระดับน้ำทะเลมีความกดดัน ๑ บรรยากาศ และทุกๆ ๑๐ เมตร (๓๓ ฟุต) ลึกลงไปในน้ำ จะมีความกดดันเพิ่มขึ้น ๑ บรรยากาศ โดยปกติการดำน้ำ เพื่อการท่องเที่ยวชมธรรมชาติ มักจะดำลึกไม่เกิน ๖๐ เมตร (๒๐๐ ฟุต) ซึ่งมีความกดดัน ๗ บรรยากาศ แตกต่างจากการดำน้ำ เพื่อการทำงานอื่นๆ ของนักดำน้ำมืออาชีพ ซึ่งอาจต้องดำลึกกว่านี้
อันตรายของความกดดัน
ได้แก่ สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บของอวัยวะในร่างกายที่มีโพรงอากาศ เช่น หูชั้นกลาง ปอด โพรงอากาศในจมูก อวัยวะที่เกิดการบาดเจ็บได้บ่อยที่สุด คือ หู จะมีอาการปวดหู และความกดดัน อาจทำให้แก้วหูทะลุ การบาดเจ็บที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของความกดดันที่ก่ออันตรายอย่างรุนแรง และเป็นที่หวาดกลัวของนักดำน้ำ ได้แก่ ภาวะการฉีกขาดของถุงลมปอด
อันตรายที่สำคัญ ซึ่งเกิดจากการที่นักดำน้ำหายใจเอาอากาศที่มีความดันสูงเข้าไป มีอีกสองประการ
ประการแรก คือ ทำให้ก๊าซแต่ละชนิดที่เป็นส่วนผสมของอากาศที่ใช้หายใจออกฤทธิ์ต่อร่างกายมากขึ้น และก๊าซบางอย่าง ทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น ภาวะการเป็นพิษของออกซิเจน ภาวะเมาไนโตรเจน ภาวะคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป เป็นต้น
ประการที่สอง คือ เวลาอยู่ในน้ำ ก๊าซต่างๆ สามารถละลายในเนื้อเยื่อทั่วร่างกายได้มากกว่าเวลาอยู่บนบก ยิ่งดำน้ำลึกเท่าใด การละลายของก๊าซก็จะมากขึ้นเท่านั้น เมื่อนักดำน้ำลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็ว ความดันอากาศที่ลดลงจะเปลี่ยนสภาพก๊าซที่ละลายอยู่ตามเนื้อเยื่อ และไม่สามารถกำจัดออกทางลมหายใจได้ทัน กลายสภาพเป็นฟองอากาศในเลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้เกิดอาการผิดปกติขึ้น เรียกว่า โรคลดความกด หรือโรคน้ำหีบ หรือโรคน้ำหนีบ หรือโรคเคซอง
อันตรายจากการดำน้ำมีมากมาย นอกจากอันตรายที่เกิดจากความกดดันใต้น้ำ และการหายใจเอาก๊าซ ที่มีความดันสูงเข้าไปแล้ว ยังมีอันตราย ที่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำ ได้แก่ การจมน้ำ สำลักน้ำ หายใจไม่ออก อุณหภูมิของน้ำต่ำเกินไป การติดเชื้อในช่องหู การติดเชื้อผิวหนัง ตะคริว อันตรายจากพืชและสัตว์น้ำชนิดต่างๆ
การป้องกันการบาดเจ็บจากอันตรายใต้น้ำ
ทำได้ โดยผู้ดำน้ำต้องมีสภาพร่างกายที่เหมาะสม นั่นคือ มีประสบการณ์ในการดำน้ำ มีความพร้อมก่อนดำน้ำคือ มีสุขภาพสมบูรณ์ ทั้งร่างกาย และจิตใจ ไม่มีอาการ หรือเป็นโรคที่ห้ามต่อการดำน้ำ ทั้งนี้ควรผ่านการตรวจสุขภาพจากแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำ ทั้งก่อนและหลังการลงปฏิบัติการดำน้ำเสมอ ต้องไม่มีพฤติกรรม หรือกิจกรรมที่เป็นสาเหตุให้สภาพร่างกายไม่เหมาะสมต่อการดำน้ำ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา และติดสารเสพย์ติด
เครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์การดำน้ำ ต้องได้มาตรฐาน และปลอดภัย ผู้ดำน้ำต้องมีความสามารถในการใช้ รู้จักวิธีการดูแล และรักษาอุปกรณ์ทุกประเภทเป็นอย่างดี ควรตรวจตราให้เครื่องมืออุปกรณ์เหล่านี้ อยู่ในสภาพ ที่สามารถใช้ปฏิบัติงานได้ อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีการดำน้ำที่ปลอดภัย ผู้ดำน้ำควรมีประสบการณ์ และความรู้ความชำนาญ รวมทั้งผ่านการฝึกอบรม เกี่ยวกับการปฏิบัติการดำน้ำมาก่อน ควรมีผู้ควบคุม (พี่เลี้ยงดำน้ำ) และผู้ช่วยเหลือ (เพื่อนคู่หู ผู้รักษาเวลา) ในการดำน้ำทุกครั้ง
วิธีการดำน้ำที่ปลอดภัย ผู้ดำน้ำควรมีประสบการณ์ และความรู้ความชำนาญ รวมทั้งผ่านการฝึกอบรม เกี่ยวกับการปฏิบัติการดำน้ำมาก่อน ควรมีผู้ควบคุม (พี่เลี้ยงดำน้ำ) และผู้ช่วยเหลือ (เพื่อนคู่หู ผู้รักษาเวลา) ในการดำน้ำทุกครั้ง
นักประดาน้ำที่ได้รับการฝึกมาเพื่อปฏิบัติงานใต้น้ำ
การช่วยเหลือขั้นต้นสำหรับผู้บาดเจ็บจากโรคใต้น้ำ
ทำได้ โดยถ้าผู้บาดเจ็บหยุดหายใจ ให้ทำการช่วยชีวิต โดยการนวดหัวใจ และผายปอด จากนั้นเพิ่มความกดดันซ้ำ โดยอาศัยห้องปรับบรรยากาศ หรือเครื่องระบบความดัน เพื่อให้ฟองอากาศที่เกิดขึ้นในร่างกายผู้บาดเจ็บ ขณะที่ความกดดันลดลง ละลายกลับเข้าไปในเนื้อเยื่อและเลือดอีกครั้ง อาการผิดปกติต่างๆ อันเกิดจากฟองอากาศเหล่านี้จะหายไป ถ้าผู้บาดเจ็บมีอาการชักและกัดลิ้น มีแผลฉีกขาดเลือดออก ให้ทำการปฐมพยาบาล แล้วนำส่งแพทย์ทันที เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ต้องใช้วิธีการเฉพาะมากขึ้น
การปฏิบัติงานของนักประดาน้ำ