วิวัฒนาการเศรษฐกิจไทยสมัยโบราณ
สมัยโบราณ โครงสร้างเศรษฐกิจ และสังคมของไท ยเป็นแบบชุมชนบุพกาลมี "บ้าน" หรือชุมชนหมู่บ้านเป็นรากฐาน การผลิตเป็นแบบพอยังชีพ ทำเองใช้เอง ต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นรัฐ มีเจ้าฟ้าเป็นตัวแทนชุมชนใหญ่ จึงเกิด "เมือง" ซึ่งเป็นศูนย์รวมอำนาจ ส่วนชุมชนหมู่บ้านยังคงทำการผลิตเลี้ยงตนเอง และเลี้ยงเมือง ผ่านระบบส่วย และการเกณฑ์แรงงาน
ชุมชนหมู่บ้านริมฝั่งแม่น้ำ
อยุธยาเป็นรัฐที่เกิดหลังสุโขทัยเล็กน้อย มีระบบเศรษฐกิจแบบศักดินา ที่ตั้งบนรากฐานการเกณฑ์แรงงานจากชุมชนหมู่บ้านเช่นกัน แต่เข้มแข็ง และมั่งคั่งกว่าสุโขทัย เพราะเป็นเมืองท่า และเมืองการค้านานาชาติด้วย เมื่อถึงสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ระบบเศรษฐกิจก็ยังเป็นแบบเดียวกับอยุธยา แต่ลดการเกณฑ์แรงงานลง มีการค้ามากขึ้น และเริ่มมีการจ้างแรงงานอิสระจากแรงงานจีนบ้าง
พัฒนาการสมัยหลังสัญญาบาวริง พ.ศ. ๒๓๙๘
สัญญาบาวริง (พ.ศ. ๒๓๙๘) ทำให้ไทยต้องเปิดการค้าเสรีกับประเทศตะวันตก มีผลให้เศรษฐกิจ และสังคมไทย ต้องเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ มาเป็นแบบผลิต เพื่อขาย ต่อมารัชกาลที่ ๕ ได้ทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ปลดปล่อยแรงงานไพร่และทาส ให้เป็นแรงงานอิสระ ขยายที่นา เร่งผลิตข้าว ไม้ และแร่ส่งออก ปรับปรุงระบบภาษี รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งทำให้ไทยพ้นจากระบบอาณานิคม แต่การอุตสาหกรรมเกิดขึ้นน้อย ขณะที่การค้าและเงินตราหมุนเวียนมากจนเกิดธนาคารต่างชาติขึ้นหลายแห่ง จนถึงในสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงเกิดธนาคารพาณิชย์ของไทยขึ้น คือ แบงก์สยามกัมมาจล ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ เศรษฐกิจโลกตกต่ำ กระทบถึงเศรษฐกิจข้าวของไทย รัฐบาลต้องตัดงบประมาณรายจ่าย ดุลข้าราชการออก พ่อค้า รวมถึงธนาคารหลายแห่งล้มละลาย กรรมกรตกงาน ข้าวมีราคาต่ำ จนชาวนาต้องทิ้งที่นา อพยพเข้าเมือง เพื่อหางานทำ นายทหาร และข้าราชการจำนวนหนึ่ง จึงได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕
ระบอบการปกครองใหม่มีเป้าหมายมุ่งสร้างระบอบประชาธิปไตย และทุนนิยมแห่งรัฐขึ้น แต่กลับพัฒนาอุตสาหกรรมไม่สำเร็จ เกิดทุนภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของระบบทหาร และราชการแทน ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๕๐๓ ยังเกิดปรากฏการณ์ ที่ธนาคารพาณิชย์ไทย ได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้น จนเป็นปึกแผ่น ธนาคารเหล่านี้มักให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งประธาน หรือกรรมการ และถือหุ้นลมจำนวนมาก เพื่อแลกกับการได้รับอภิสิทธิ์ต่างๆ ส่วนเศรษฐกิจข้าวยังคงความสำคัญเป็นรายได้หลักที่เลี้ยงประเทศมายาวนาน และเพิ่งลดความสำคัญลงหลังปี พ.ศ. ๒๕๑๘
ในสมัยโบราณ การผลิตพืชผลทางการเกษตรเป็นการผลิตแบบพอยังชีพโดยทำเองใช้เอง
พัฒนาการสมัยหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๐๔
แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ มุ่งผลิต เพื่อทดแทนการนำเข้า โดยส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และให้สิทธิพิเศษต่างๆ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ธนาคาร และธุรกิจในเครือของคณะทหารขยายตัว รัฐยังส่งเสริมการขยายการเพาะปลูกพืชไร่ต่างๆ ด้วย ทำให้เกิดการบุกเบิกที่ดินทำกินเข้าไปในเขตป่า และในพื้นที่ลาดชันต่างๆ ผลิตผลที่เพิ่มขึ้นทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็วมาก แต่ระบบนิเวศค่อยๆ ถูกทำลายไปพื้นที่ป่าลดลงอย่างมาก จนสมดุลธรรมชาติค่อยๆ เปลี่ยนไป
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เกิดวิกฤตราคาน้ำมัน และเกิดเหตุการณ์ "๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖" มีผลทำลายธุรกิจ ในระบบอุปถัมภ์ เปิดโอกาสให้ธุรกิจใหม่ๆ เติบโตได้มากขึ้น การผลิตเพื่อการส่งออก ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๒๓ เกิดวิกฤตราคาน้ำมันครั้งที่สอง ทำให้เศรษฐกิจซบเซาลง และในปี พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๗ ได้เกิดวิกฤตสถาบันการเงิน ทำให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว
ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ แม้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนั้นจะต่ำมาก แต่สินค้าส่งออกอุตสาหกรรมของไทยเริ่มทำรายได้ แซงหน้าสินค้าเกษตรกรรมเป็นปีแรก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๐ ทั้งญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศสี่เสือเอเชีย ได้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนที่ย่านอาเซียน เพราะต้องการแรงงานราคาถูก และสิทธิจีเอสพีของประเทศในย่านนี้ ทำให้ตัวเลขการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นรัฐบาลจึงเริ่มเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจ มุ่งสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เน้นส่งเสริมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ทำให้ต้องระดมทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งการจูงใจให้มาลงทุนโดยตรง ทั้งผ่านการกู้ยืมเงินทุนจากต่างประเทศ
การบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่าของราษฎรไทยในอดีต
ปี พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๔๐ เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก แต่เป็นการขยายตัวแบบฟองสบู่ โดยเฉพาะในภาคการเก็งกำไร และขยายตัวจากเงินที่กู้ยืมจากต่างประเทศ ต่อมามีการเปิดเสรีทางการเงินในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ยิ่งทำให้มีเงินทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น จนเกิดภาวะวิกฤตหนี้สินท่วมท้น และตามมาด้วยวิกฤตค่าเงินบาท ซึ่งทำให้ไทยต้องสูญเสียทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไปเป็นจำนวนมาก จนต้องขอกู้เงินฉุกเฉินโดยยอมรับเงื่อนไขเข้มงวดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
ตลาดหุ้นเป็นสิ่งวัดสภาวะเศรษฐกิจของประเทศอย่างหนึ่ง
ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะถดถอย ทุนต่างประเทศในฐานะเจ้าหนี้ ได้เข้ามาถือหุ้นในธุรกิจของไทยจำนวนมาก รวมถึงสถาบันการเงินต่างๆ และแม้แต่รัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภค และพลังงาน ก็อาจตกเป็นของทุนต่างประเทศด้วย
ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ เศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง ซึ่งเคยเป็นระบบเศรษฐกิจทางเลือก ในกลุ่มชาวบ้าน ที่ไม่ต้องการผูกกับระบบตลาด ได้กลายเป็นทางออกที่น่าสนใจ เศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง หรือแบบพอเพียงนี้ หากมีสถาบันชุมชน และวัฒนธรรมชุมชนที่เข้มแข็งเป็นเครื่องเกี่ยวร้อย และหากสามารถขยายเชื่อมโยงกันเป็นเศรษฐกิจแห่งชาติ ร่วมกันจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติใหม่บนพื้นฐานการรักษาระบบนิเวศ เศรษฐกิจสังคมไทย ก็ยังอาจพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืนได้