เล่มที่ 24
ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๒)
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            วรรณคดีไทยเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับต้นไม้ในเมืองไทย หากรวบรวมจากวรรณคดีทุกเรื่องแล้ว จะพบว่า มีชื่อต้นไม้มากกว่า ๒๕๐ ชนิด ทั้งไม้ป่า ไม้ผล สมุนไพร และไม้ประดับ เป็นต้น ต้นไม้เหล่านี้เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของคนไทย จนแทบจะกล่าวได้ว่า ชีวิตของคนไทยตั้งแต่เกิดจนตายผูกพันกับต้นไม้ทั้งสิ้น เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย คนไทยก็รู้จักนำต้นไม้ต่างๆมาทำเป็นยารักษาโรคตั้งแต่สมัยโบราณ ส่วนมากเป็นต้นไม้ในป่า จึงต้องเดินทางไปเก็บหามาใช้ ดังบทกลอนในวรรณคดี

รุ่งเช้าเข้าป่ากว้าง ทางโขลง

คลองเก่าเท่าลำกระโดง โป่งช้าง

ซ้ายขวาป่าสมอโมง ไม้อุโลก โมกเอย

กระแบกกระเบาเสลาสล้าง สลับต้นคนทา

นิราศสุพรรณ บทประพันธ์ของหมื่นพรหมสมภัตสร (มี)

ชุมเห็ดเทศ

อินทนิลน้ำ

            ต่อมา จึงนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้าน เพื่อให้หาได้สะดวกขึ้น สมุนไพรไทยมีมากมาย เช่น น้ำใจใคร่ ราชดัด สลัดได ชิงช้าชาลี และบอระเพ็ด บางชนิดใช้รักษาโรคได้หลายอย่าง เช่น สมอไทย สมอพิเภก และสมอดีงู ผลอ่อนใช้เป็นยาระบาย ผลสุกเป็นยาแก้ท้องเสีย และช่วยทำให้เจริญ อาหาร อาการเจ็บป่วยบางอย่าง เช่น เป็นไข้ ท้องเสีย หรือไอ ก็มีสมุนไพร ที่ใช้รักษาได้หลายชนิด ความรู้เรื่องการใช้สมุนไพรเป็นยารักษาโรคได้มีการสั่งสอน และสืบทอดกันมาโดยตลอด

            นอกจากป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์แล้ว แหล่งน้ำทุกแห่งในอดีต ก็มีความอุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกัน น้ำสะอาด มีไม้น้ำเจริญงอกงามอยู่มากมาย บางชนิดอยู่ตามผิวน้ำ เช่น กระจับ จอก บัว บางชนิดอยู่ใต้น้ำ เช่น สันตะวา และสาหร่ายพุงชะโด บางชนิดอยู่ตามริมตลิ่งเรียกว่า ไม้ชายน้ำ เช่น จาก แสม และลำพู ไม้น้ำหลายชนิดเป็นพืชผักที่คนไทยใช้บริโภค เช่น ผักบุ้ง ตับเต่า และแพงพวย ความหลากหลายของไม้น้ำ ไม้ชายน้ำ และความสวยงามของแหล่งน้ำเป็นแรงบันดาลใจให้กวีหลายท่านพรรณนา ไว้ในวรรณคดีอย่างไพเราะ โดยเฉพาะนิราศเรื่องต่างๆของสุนทรภู่ เช่น

สัตตบุษย์บัวแดงขึ้นแฝงฝัง               พรรณผักพาดผ่านก้านบุปผา

แพงพวยพุ่งพาดพันสันตะวา               ลอยคงคาทอดยอดไปตามธาร

สาหร่ายเรียงเคียงทับกระจับจอก            ผักบุ้งออกยอดชูดูสะอ้าน

ภุมรินบินเคล้าสุมามาลย์                ในธาราปลาพล่านตระการตา

ขุนช้างขุนแผน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

            ต้นไม้ที่กล่าวถึงในวรรณคดีไทย บางชนิดเป็นของต่างประเทศ แต่มีการนำเข้ามาปลูกในเมืองไทยในยุคสมัยต่างๆ หลายชนิด นำเข้ามาปลูกนานมากแล้ว จนเป็นทีคุ้นเคย และเข้าใจกันว่า เป็นไม้พื้นเมืองของไทย เช่น ดาวเรือง เบญจมาศ และบานเย็น วรรณคดีช่วยให้ทราบถึงประวัติความเป็นมาส่วนหนึ่งของต้นไม้เหล่านี้ เช่น ยี่เข่ง น่าจะมีการนำเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๓ และยี่โถ มีการนำเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นต้น

ดาวเรือง

เบญจมาศดอกใหญ่

            ต้นไม้บางชนิดมีหลายชื่อ บางชนิดเรียกชื่อซ้ำกัน ทั้งที่เป็นคนละชนิด เช่น กระสัง อาจหมายถึง ไม้ล้มลุกต้นเล็กๆที่ตามโรงเรียนนิยมใช้ทดลองการดูดน้ำของพืช หรือหมายถึง ไม้ต้นขนาดกลางที่อยู่ในวงศ์เดียวกับส้มและมะนาว บางท้องที่เรียกว่า มะสัง ดังนั้น บทกลอนตอนหนึ่งในบทละครเรื่อง รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ที่กล่าวว่า "นกกระสาจับต้นกระสัง โนรีจับรังแล้วบินร่อน" จึงน่าจะหมายถึง กระสังที่เป็นไม้ต้น จัน กับ จันทน์ ออกเสียงเหมือนกัน แต่เป็นไม้คนละชนิด จันเป็นไม้ต้นขนาดกลางที่อยู่ในวงศ์เดียวกับมะพลับและมะเกลือ มีผล ๒ แบบ แบบหนึ่งผลกลมแป้นมีรอยบุ๋มด้านล่างตรงกลาง เรียกว่า ลูกจัน และอีกแบบหนึ่งผลทรงกลม ไม่มีรอยบุ๋ม เรียกว่า ลูกอิน ผลทั้งสองแบบนี้ เมื่อสุกจะมีกลิ่นหอม ส่วนจันทน์เป็นไม้ต้นที่เนื้อไม้มีกลิ่นหอม เช่น จันทน์แดง จันทน์ชะมด ดังนั้น บทกลอนในนิราศพระบาทตอนหนึ่งที่กล่าวว่า

เห็นจันสุกลูกเหลืองตลบกลิ่น                      แมลงภู่บินร้องประคองหวง

พฤกษาพ้องต้องนามกานดาดวง พี่ยลพวงผลจันให้หวั่นใจ

นิราศพระบาท บทประพันธ์ของสุนทรภู่

ต้นจันในบทกลอนนี้จึงหมายถึง จัน หรือจันอิน นั่นเอง


ยี่เข่ง

ยี่โถ

            ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับชื่อต้นไม้ในวรรณคดีต้องอาศัยความรู้ทางด้านพฤกษศาสตร์ มาช่วยพิจารณา จึงจะทำให้สามารถเข้าใจได้อย่างถูกต้อง และไม่เกิดความสงสัยว่า กวีเขียนผิด วรรณคดีจึงมีคุณค่าเสมอ การเรียนรู้เกี่ยวกับไม้ในวรรณคดีไทย จะช่วยให้ตระหนักว่า ต้นไม้เป็นทรัพยากรอันมีค่า ที่ชาวไทยควรอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ตลอดไป