การวางแผนในกิจกรรม ทุกอย่างนับว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด เช่น ในระดับตัวบุคคล ผู้ที่มีการวางแผนชีวิตตลอดเวลา ย่อมจะประสบผลสำเร็จมากกว่า ผู้ที่ไม่มีการวางแผน และปล่อยให้ชีวิตเป็นไปตามยถากรรม เช่น ตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน ก็ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าว่า ในอนาคตอยากจะประกอบอาชีพอะไร ซึ่งโยงไปถึงว่า จะต้องเรียนวิชาอะไร สาขาใด อีกทั้งจะต้องมีการวางแผนการดำเนินกิจกรรม และแผนการเรียน ในวันต่อๆไป เมื่อโตขึ้น การที่จะทำงาน สร้างบ้าน หรือมีครอบครัว ก็ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รวมทั้งมีการวางแผน ในการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับรายได้ เมื่อเกิดอุปสรรค หรือปัญหา ก็สามารถที่จะป้องกัน และแก้ไขได้ ส่วนในระดับที่สูงขึ้นไปจากระดับบุคคล และครอบครัว ก็ต้องมีการวางแผนเช่นกัน เช่น การที่จะเล่นฟุตบอลให้ชนะ ก็ต้องมีการรวมทีม มีการฝึกซ้อม มีการวางตัวผู้เล่น และวางแผนการเล่นให้เหมาะสมกับความสามารถของแต่ละคน การทำศึกสงครามทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา ฝ่ายที่ได้รับชัยชนะคือ ฝ่ายที่มีการวางแผนดี มีการวางกลยุทธ์ที่เหมาะสม โดยทำการประเมินถึงจุดอ่อนจุดแข็งของฝ่ายตน และข้าศึก มีการหาข้อมูล และติดตามสถานการณ์รอบด้านอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา รวมทั้งต้องวางแผนในการรุก-การรับอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
การพัฒนาประเทศลาวดำเนินไปอย่างรอบคอบแน่วแน่
ดั่งคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อให้เการพัฒนามีความมั่นคง ยั่งยืน และประชาชนมีความผาสุก
สำหรับการ พัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม ของประเทศต่างๆ ปรากฏว่า บางประเทศดำเนินการ โดยการจัดทำเป็นแผนพัฒนาฯ แต่บางประเทศมิได้มีการจัดทำแผน ในกรณีของประเทศไทย ได้มีการพิจารณากันอย่างรอบคอบแล้วว่า สมควรที่จะเลือกใช้วิธีการวางแผนพัฒนาฯ ทั้งนี้เนื่องจากทรัพยากร และปัจจัยต่างๆ มีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ ที่ดิน หรือเงินทุน ในขณะที่ความต้องการของคนมีมากขึ้น และขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนการผลิต และการใช้ทรัพยากร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ ทำให้ผลิตผลของประเทศเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีงานทำ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ประเทศ ไทยได้เริ่มแผนพัฒนาฯ ฉบับแรกมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๒) มีแผนพัฒนาฯ รวม ๘ ฉบับ โดยมีการปรับเปลี่ยนวิธีการ จุดเน้ นและสาระสำคัญต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละยุค เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๙) ได้ให้ความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านอุตสาหกรรม เพราะในสมัยนั้นประเทศไทยยังยากจน และต้องพึ่งภาคเกษตรเป็นหลัก รายได้ต่อหัวโดยเฉลี่ยค่อนข้างต่ำคือ ประมาณ ๒,๐๐๐ บาทต่อปี ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ยากจน ขาดบริการพื้นฐาน ทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา ถนนหนทาง และสถานศึกษา ตลอดจนโรงพยาบาล และสถานีอนามัย ซึ่งส่วนใหญ่รวมตัวอยู่เฉพาะในกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ๆ แผนต่อๆ มา ก็มีการขยายขอบเขตการพัฒนาไปในด้านอื่นๆ เช่น ด้านสังคม การศึกษา การลดอัตราการเพิ่มของประชากร ฯลฯ และมีบางแผน ที่จัดทำขึ้น ในขณะที่ประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ และ ๕ แผนพัฒนาฯ ก็ให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้ และความยากจน เป็นต้น
ผลจาก การพัฒนาประเทศ ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ ถึงฉบับที่ ๗ มีหลายเรื่อง ที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เช่น เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๗ - ๘ ต่อปี ประชาชนมีรายได้ต่อหัวเพิ่มจากปีละ ๒,๐๐๐ บาท เป็นปีละประมาณ ๗๖,๖๕๐ บาท สัดส่วนคนยากจนลด จากร้อยละ ๒๓.๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เหลือประมาณร้อยละ ๑๑.๔ ใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ บริการพื้นฐานต่างๆ ทั้งไฟฟ้า ถนน โทรศัพท์ สถานศึกษา และสถานบริการสาธารณสุข ก็ขยายตัว และกระจายไปทั่วประเทศ ถึงแม้ว่าการพัฒนาจะประสบ ความสำเร็จดังข้างต้น แต่ปรากฏว่า มีปัญหาเกิดขึ้นหลายประการ เช่น ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ปัญหาครอบครัว แตกแยก ชุมชนล่มสลาย ตลอดจนปัญหาทางด้านสังคมหลายประการ เช่น ความไม่ปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ปัญหายาเสพย์ติด โสเภณี การละเมิด และการเอารัดเอาเปรียบเด็ก สตรี คนชรา ผู้ด้อยโอกาส ความเมตตากรุณา และความเอื้ออาทรที่เคยมี ต่อกันลดลง ปัญหาข้างต้นนับว่าจะขยายตัวและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และส่งผลกระทบ ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การพัฒนาตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่า เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน ทั้งนี้เกิดจากสาเหตุสำคัญๆ หลายประการ เช่น การพัฒนาที่ผ่านมา เน้นเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากเกินไป โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อคน สังคม และส่วนรวม และเป็นการพัฒนาแบบแยกส่วน หรือทำเป็นเรื่องๆ ขาดการ ประสานและขาดการเชื่อมโยงกัน การวางแผนและการพัฒนามีลักษณะการสั่งการจากส่วน กลาง และทำเฉพาะในระบบราชการ ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ประเทศไทยในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร และบ้านเมืองยังขาดบริการพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
ดังนั้น ในการวางแผน พัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิด ทิศทาง และการะบวนการพัฒนาขึ้นใหม่โดยเริ่มจากการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพ เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนตั้งแต่ต้น มีการกำหนดวิสัยทัศน์ หรือจุดหมายปลายทางของประเทศในอนาคต เพื่อให้ทุกฝ่าย ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ ให้ไปสู่ทิศทางเดียวกัน มีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายการพัฒนา ซึ่งเดิมเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก มาเป็นการเน้นคนเป็นศูนย์กลาง หรือจุดหมายสุดท้ายของการพัฒนา คือ เป็นการ พัฒนา ของคน โดยคน และเพื่อคน มีการเน้นถึงการพัฒนา ในลักษณะองค์รวมแบบบูรณาการ แทนการพัฒนาแบบแยกส่วน คือ คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน โดยจะต้องพัฒนา ทั้ง ตัวคน และ สภาพ แวดล้อมรอบๆ ตัวคน เช่น เศรษฐกิจ สังคม การบริหาร ฯลฯ ไปพร้อมๆ กัน และที่สำคัญที่สุดคือ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ ร่วมติดตามผล และร่วมปรับปรุงการดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อให้ผลการพัฒนาเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะการพัฒนาที่พึงปรารถนา คือ เศรษฐกิจ ดี สังคมไม่มีปัญหา การพัฒนายั่งยืน ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ มีคุณภาพ ชีวิตที่ดียิ่งขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ร่มเย็น-เป็นสุข และอยู่ร่วมกันอย่างรู้รัก สามัคคีตลอดไป