เล่มที่ 24
การผลิตปูนซีเมนต์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ปูนซีเมนต์เป็นวัสดุก่อสร้างชนิดหนึ่ง มีชื่อเต็มว่า ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland Cement) ลักษณะเป็นผงละเอียดสีเทา สามารถก่อตัว และแข็งตัวได้ในน้ำ จึงใช้หล่อในแบบให้เป็นรูปร่างต่างๆ ตามที่ต้องการ

            ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์เป็นคนแรกคือ โจเซฟ แอสปดิน (Joseph Aspdin) ชาวอังกฤษ เมื่อประมาณ ๑๗๐ ปีมาแล้ว เขาได้นำฝุ่นดินกับหินปูนมาเผารวมกัน แล้วนำมาบดจนละเอียด ผลที่ได้ เมื่อผสมน้ำและแข็งตัวแล้ว จะเป็นก้อนสีเหลืองเทา เหมือนก้อนหินจากเหมืองของเมืองปอร์ตแลนด์ (Portland) ในประเทศอังกฤษ เขาจึงเรียกชื่อว่า ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และได้จดทะเบียนสิทธิบัตรการผลิตไว้เป็นหลักฐาน

            ภายหลังจากนั้นอีกประมาณ ๓๐ ปี จึงได้มีผู้พบว่า ถ้าเผาส่วนผสมให้มีอุณหภูมิสูงมาก จนส่วนผสมเยิ้มตัว จะได้ปูนซีเมนต์ที่มีคุณภาพสูงขึ้น นอกจากนี้ โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ของประเทศเยอรมนี ยังได้นำปูนเม็ดมาบดให้เป็นผง ทำให้ได้ปูนซีเมนต์ที่มีคุณภาพดีขึ้นไปอีก

ในปัจจุบันการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์สามารถทำได้สองวิธีคือ วิธีเปียก และวิธีแห้ง วิธีแห้งเป็นวิธีที่นิยมใช้กันมาก เพราะเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับการผลิตจำนวนมาก การผลิตทำได้โดยการบดวัตถุดิบ ซึ่งมีหลายชนิด เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต เป็นต้น จนเป็นผงละเอียดเรียกว่า วัตถุดิบสำเร็จ (Raw Meal) แล้วส่งเข้าเตาเผา (Rotary Kiln)

            เตาเผาเป็นท่อขนาดใหญ่ วางเป็นมุมเอียง และหมุนรอบตัวช้าๆ ปล่อยวัตถุดิบให้ไหลมาในท่อทางด้านต่ำ สวนทางกับไฟที่พ่นเข้าไป โดยน้ำมันเป็นเชื้อเพลิง เผาจนวัตถุดิบเยิ้มตัว ที่อุณหภูมิสูงประมาณ ๑,๕๐๐ องศาเซลเซียส ผลิตผลที่ได้จากการเผาเรียกว่า ปูนเม็ด (Clinker) เมื่อนำปูนเม็ดไปบดให้ละเอียด แล้วผสมแร่ยิปซัม (Gypsum) ลงไปประมาณ ๓ - ๕ เปอร์เซ็นต์ ก็จะได้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ตามที่ต้องการ การผสมยิปซัมลงไป จะช่วยให้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์สามารถแข็งตัวได้ช้าลง เมื่อนำไปใช้งาน

            ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ที่ผลิตได้นี้ ใช้มากในการหล่อคอนกรีตเสริมเหล็ก และคอนกรีตอัดแรง คอนกรีตเสริมเหล็กมีส่วนผสมเป็นหินย่อย ทราย ปูนซีเมนต์ และน้ำ เมื่อผสมส่วนผสมตามสัดส่วนที่ต้องการแล้ว ก็เทส่วนผสมที่ยังเปียกอยู่ลงในแบบที่มีเหล็กข้อผูกเป็นโครงอยู่ภายใน ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วแกะแบบออก จะได้คอนกรีตเสริมเหล็ก ที่มีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน สามารถรับน้ำหนักได้มาก และไม่ติดไฟ นอกจากนั้นยังสามารถทำให้มีรูปร่างทุกอย่างได้ตามต้องการอีกด้วย คอนกรีตเสริมเหล็กจึงมีประโยชน์อย่างมาก ในการก่อสร้างเกือบทุกประเภท

ส่วนคอนกรีตอัดแรงนั้น ต้องใช้ลวดเหล็กที่ทำขึ้นเป็นพิเศษแทนเหล็กหล่อธรรมดา ทำให้ได้คอนกรีตอัดแรงที่มีความแข็งแรง และมีน้ำหนักมากกว่าคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้ในการก่อสร้างคานช่วงยาวๆ ของสะพาน หลังคา และพื้นได้เป็นอย่างดี