เล่มที่ 24
การผลิตรถจักรยานยนต์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

รถยนต์ในสมัยรัชกาลที่ ๕
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

            ประเทศไทยเริ่มมีการนำรถยนต์เข้ามาใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ รถยนต์ที่นำเข้ามาใช้ในระยะแรก ต้องบรรทุกเรือเดินสมุทรมาจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนมากจะมาจากทวีปยุโรป การผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ได้เริ่มขึ้น เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ และได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถผลิต เพื่อการส่งออกได้ในปัจจุบัน

            ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการผลิตรถยนต์ จะกล่าวถึงส่วนประกอบของรถยนต์โดยสังเขป เพื่อให้เข้าใจถึงหน้าที่ และประโยชน์ของส่วนประกอบนั้นๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ ได้ดังนี้

            ตัวถัง เช่น หัวเก๋ง ประตู ฝากระโปรง โครงหลังคา กระบะ ฝาท้าย กันชน เป็นต้น จะมีหน้าที่ในการห่อหุ้ม และป้องกันสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกที่จะเข้ามารบกวน สร้างความเสียหาย ให้แก่บุคคลและทรัพย์สินที่อยู่ภายในรถยนต์ รวมถึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ ผู้เป็นเจ้าของด้วย

            แชสซีส์ และช่วงล่าง เช่น แชสซีส์ แหนบ สปริง โช้กอัพ ปีกนก คันบังคับ คันเร่ง เบรก เป็นต้น มีหน้าที่หลักในการรองรับส่วนประกอบทั้งหมดของรถยนต์ และช่วยลดความสั่นสะเทือนที่จะไปกระทบต่อผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร รวมถึงสัมภาระต่างๆ ด้วย

            เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง เช่น เครื่องยนต์ เพลากลาง เพลาขับ เฟืองท้าย ล้อ เป็นต้น มีหน้าที่ในการแปลงพลังงานเชื้อเพลิง เช่น น้ำมัน ให้เป็นพลังงานกล และถ่ายทอดไปขับเคลื่อนรถยนต์

            อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ระบบสายไฟฟ้าของส่วนต่างๆ ไดสตาร์ต ไดชาร์จ แบตเตอรี่ ไฟหน้า ไฟหลัง ไฟเบรก ไฟเลี้ยว เป็นต้น มีหน้าที่ในการเชื่อมโยงการทำงานของระบบต่างๆ ทั้งหมดของรถยนต์ ที่จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ขับขี่ และแจกจ่ายพลังงานไฟฟ้า

            อุปกรณ์ภายใน เช่น เบาะนั่ง แผงประตู เข็มขัดนิรภัย พรมหลังคา พรมพื้นรถ หน้าปัด แอร์ วิทยุ เป็นต้น มีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกสบาย  และช่วยในการรักษาความปลอดภัย ให้แก่ผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร

            อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ประกอบด้วย ๓ ส่วนหลัก คือ ส่วนของโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วน ส่วนของโรงงานประกอบรถยนต์ สุดท้ายคือ ส่วนของการจัดจำหน่ายและบริการ ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของโรงงานประกอบรถยนต์เท่านั้น