เล่มที่ 20
กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อมหรือโรคเอดส์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            คำว่า "เอดส์" มีที่มาจากภาษาอังกฤษ AIDS เป็นคำย่อจากชื่อเต็ม คือ Acquired Immunodeficiency Syndrome ซึ่งหมายถึง กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อม หรือเรียกง่ายๆ ว่า โรคเอดส์ โดยโรคนี้เกิดขึ้นในผู้ที่เคยมีภูมิคุ้มกันแข็งแรงมาก่อน แต่เมื่อติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งแล้ว ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง จึงเกิดเป็นโรคขึ้น และเนื่องจากมีรอยโรค และอาการหลายประการ และเกิดขึ้นกับอวัยวะหลายระบบ จึงเรียกว่า กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อม

            โรคเอดส์เป็นโรคที่พบใหม่ เชื่อว่าเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑-๒๕๒๒ แต่ที่รายงาน และรู้จักกันแพร่หลาย เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ต่อมานักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสสามารถแยกเชื้อไวรัส สาเหตุของโรคได้ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ และให้ชื่อว่า Lymphadenopathy Associated Virus หรือย่อๆ ว่า LAV ซึ่งหมายถึง เชื้อไวรัสที่เกี่ยวข้องกับโรคต่อมน้ำเหลืองโต ทั้งนี้เนื่องจากแยกเชื้อได้เป็นครั้งแรกจากผู้ป่วยชาย ที่มีต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว (อาการต่อมน้ำเหลืองโตนี้ จะดำเนินต่อไป จนถึงขั้นเป็นโรคเอดส์)

รูปเชื้อ เอชไอวี

            ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันแยกเชื้อไวรัสได้จากผู้ป่วยโรคเอดส์ และให้ชื่อเชื้อไวรัสว่า Human T Lymphotropic Virus type III หรือเรียกย่อๆ ว่า HTLV-III ชื่อนี้มีความหมายว่า เป็นไวรัสของคน และชอบเพิ่มจำนวน ในลิมโฟซัยท์ชนิดที่มีชื่อว่า ที-ลิมโฟซัยท์ ทั้งนี้เนื่องจากเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นโฮสต์ให้เชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าไปเจริญเพิ่มจำนวนคือ ที-ลิมโฟซัยท์ และได้มีการพบไวรัสอื่นที่ชอบเซลล์นี้มาก่อนแล้วสองชนิด และไวรัสก่อโรคเอดส์เป็นเชื้อชนิดที่สามที่พบ

            ต่อมาจึงทราบว่าไวรัสที่นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส และนักวิทยาศาสตร์อเมริกันพบนั้น เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกัน จึงเรียกชื่อว่า เชื้อ HTLV-III/LAV หรือ LAV/HTLV-III และในขั้นสุดท้ายก็ตกลงเรียกชื่อเชื้อไวรัสว่า human immunodeficiency virus และเรียกย่อว่า HIV (เอชไอวี) ซึ่งมีความหมายว่า เป็นเชื้อไวรัสของคน ที่เป็นสาเหตุทำให้ภูมิคุ้มกันเสื่อม

การให้ความรู้แก่ผู้ประกอบอาชีพที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเอดส์

            ในปัจจุบันพบเชื้อเอชไอวีสองชนิดคือ เอชไอวี-๑ และ เอชไอวี-๒ เชื้อแรก คือ เชื้อที่พบดั้งเดิม ระบาดทั่วไปในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ส่วนเชื้อเอชไอวี-๒ พบระบาดในแอฟริกา นอกจากนี้เชื้อเอชไอวี-๑ ยังแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มย่อยอย่างน้อย ๙ กลุ่ม คือ เอ บี ซี ดี อี เอฟ จี เอช โอ ทั้งนี้เนื่องจากมีความแปรปรวนในลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อ เชื้อแต่ละกลุ่มมีการระบาดแตกต่างกันไปตามภูมิภาค เชื้อที่ระบาดในประเทศไทยเป็นกลุ่มย่อยชนิด บี และ อี โดยผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อทางเพศสัมพันธ์มากกว่าร้อยละ ๘๐ เป็นชนิดอี และผู้ป่วยที่เป็นผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น มากกว่าร้อยละ ๗๐ เป็นชนิด บี

เชื้อไวรัสเอชไอวีพบในเลือด และสารคัดหลั่งหลายชนิดของร่างกายได้แก่ น้ำอสุจิ เมือกในช่องคลอดสตรี น้ำนม และอาจพบได้ในปริมาณน้อยๆ ในน้ำลาย น้ำตา และปัสสาวะ เมื่อพิจารณาจากแหล่งเชื้อแล้ว จะพบว่า เชื้อเอชไอวีติดต่อได้หลายวิธีคือ
  • การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ เกิดขึ้นได้ ทั้งในรักร่วมเพศ และรักต่างเพศ 
  • การรับเลือดและองค์ประกอบของเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะ รวมทั้งไขกระดูก และน้ำอสุจิที่ใช้ผสมเทียม ซึ่งมีเชื้อ แต่ในปัจจุบันปัญหานี้ได้ลดลงไปจนเกือบหมด เนื่องจากมีการตรวจเลือด หาการติดเชื้อเอชไอวีในผู้บริจาคเหล่านี้ รวมทั้งคัดเลือกกลุ่มผู้บริจาค ซึ่งไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ไม่รับบริจาคเลือดจากผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น เป็นต้น 
  • ทารกติดเชื้อจากมารดา ทารกมีโอกาสรับเชื้อได้หลายระยะได้แก่ เชื้อไวรัสแพร่มาตามเลือด สายสะดือ สู่ทารกในครรภ์ ติดเชื้อขณะคลอด จากเลือดและเมือกในช่องคลอด ติดเชื้อในระยะเลี้ยงดู โดยได้รับเชื้อจากน้ำนม

การได้รับเลือดของผู้ป่วยซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวี

            จะเห็นได้ว่าวิธีการติดต่อเหล่านี้เหมือนกับไวรัสตับอักเสบ บี ทุกประการ ดังนั้น ถ้าไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ก็จะไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อตับอักเสบ บี ด้วย


            เชื้อเอชไอวีถูกทำลายได้ง่าย การต้มเดือดนาน ๑๐ นาที จะทำลายเชื้อไวรัสได้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังถูกทำลายได้ โดยแอลกอฮอล์ ผงซักฟอก และน้ำยาฟอกผ้าขาว (คลอร็อกซ์) ที่เจือจางหนึ่งต่อเก้า ดังนั้น เชื้อเอชไอวีจึงติดต่อได้ โดยการสัมผัสที่ใกล้ชิดเท่านั้น การใช้ห้องน้ำสาธารณะ และสระน้ำร่วมกัน ไม่ทำให้ติดเชื้อ


            เมื่อเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายจะเพิ่มจำนวนได้ในเซลล์หลายชนิด เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีบทบาทในการสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยเฉพาะเซลล์ที่เชื้อเจริญได้ดีคือ ลิมโฟซัยท์ ชนิด ที ส่วนเซลล์อื่นๆ ที่เชื้อเจริญได้ เช่น โมโนซัยท์ และแมคโครฟาจ ลิมโฟซัยท์ ชนิด บี ตลอดจนเซลล์ประสาท เชื่อว่ายังมีเซลล์อีกหลายชนิดที่ไวรัสเอชไอวีสามารถเข้าไปเจริญเพิ่มจำนวนได้ เมื่อเชื้อเอชไอวีเข้าสู่เซลล์ จะมีการแทรกเอายีโนมของไวรัสเข้าไปรวมอยู่กับโครโมโซมของเซลล์ แล้วจึงมีการเพิ่มจำนวน หรืออาจแฝงตัวสงบอยู่ โดยไม่มีการเพิ่มจำนวน จนกว่าจะมีสิ่งกระตุ้น ในปัจจุบันยังไม่มียาหรือสารต้านไวรัสชนิดใด ที่สามารถกำจัดเอายีโนมของเชื้อไวรัส ที่แฝงอยู่นี้ให้หมดไป เมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้ว ก็จะมีเชื้อนี้แฝงอยู่ในร่างกายไปจนตลอดชีวิต


การติดเชื้อราที่เล็บ

            ประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ ภายหลังได้รับเชื้อ ผู้ติดเชื้อบางรายมีอาการไข้ และมีต่อมน้ำเหลืองโตตามซอกคอ และซอกรักแร้ อาการเหล่านี้เป็นอยู่ไม่นานก็จะหายไปได้เอง การติดเชื้อดำเนินต่อไปอีกหลายปี ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันเสื่อมลง เนื่องจากเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายไปอย่างมาก ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย ต่อมาเริ่มมีอาการไข้เรื้อรัง หรือท้องร่วงเรื้อรัง นานกว่า ๑ เดือน มีฝ้าขาวในปาก ฯลฯ จนถึงระยะเป็นโรคเอดส์เต็มขั้น ผู้ป่วยจะมีการติดเชื้อฉวยโอกาส จุลชีพที่พบบ่อยที่สุดในรายงานจากต่างประเทศ คือ เชื้อปรสิต นิวโมซิสติส คารินิไอ ในประเทศไทยจุลชีพที่พบบ่อยที่สุดคือ เชื้อวัณโรค การติดเชื้อรา ไวรัส และแบคทีเรีย พบได้บ่อย นอกจากนี้ผู้ป่วยเอดส์เต็มขั้นจะเป็นมะเร็ง ชนิดที่ไม่ค่อยพบในคนทั่วไป ได้แก่ มะเร็งแคโปสิ ซาร์โคมา (เป็นมะเร็งของหลอดเลือด) และมะเร็งในกลุ่มลิมโฟมา อาการอื่นๆ คือ อาการทางระบบประสาท อันเนื่องมาจากเชื้อเอชไอวี เช่น เฉื่อยชา ความจำเสื่อม ชักกระตุก ฯลฯ ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักลดรวดเร็ว

ตั้งแต่เชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย จนถึงระยะแสดงอาการโรคเอดส์เต็มขั้น กินเวลานาน ๕-๑๐ ปี โดยเฉลี่ย

            ทารกที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจากมารดา จะมีการดำเนินโรคไปสู่การเป็นเอดส์เต็มขั้นในเวลารวดเร็วกว่าผู้ใหญ่มาก ทารกจะมีน้ำหนักลด ไม่เติบโตตามปกติ ท้องร่วงเรื้อรัง ไข้เรื้อรัง มีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว มีฝ้าขาวในปาก เป็นต้น

ทารกที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดา

            การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี วิธีที่ใช้ทั่วไป สำหรับตรวจผู้ใหญ่คือ การทดสอบหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อตัวเชื้อ ปัจจุบันธนาคารเลือดทุกแห่งตรวจกรองเลือด ที่ติดเชื้อเอชไอวีทิ้ง นักศึกษาที่เดินทางไปศึกษาต่อ หรือผู้ที่ไปทำงานต่างประเทศบางประเทศ จะต้องผ่านการตรวจเลือดเช่นกันว่า ไม่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี

            ในทารกที่อายุต่ำกว่า ๑๕ เดือน ไม่สามารถให้การวินิจฉัยว่า ทารกติดเชื้อเอชไอวีจากมารดา โดยการตรวจหาแอนติบอดีทั่วไป เพราะไม่สามารถบอกได้ว่า แอนติบอดีที่ตรวจพบเป็นแอนติบอดีที่ข้ามรกมาจากมารดา หรือเป็นแอนติบอดีที่ทารกสร้างขึ้นเอง เนื่องจากทารกติดเชื้อ การพิสูจน์การติดเชื้อในเด็ก จำเป็นต้องอาศัยการแยกเชื้อ การตรวจหายีโนม และแอนติเจนของเชื้อไวรัส

ยาดีดีไอ ที่ใช้ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสเอชไอวี

            การดูแลรักษาผู้ป่วยเอดส์ จะเป็นการดูแลทั่วไป รักษาตามอาการ และรักษาโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ส่วนยาที่ออกฤทธิ์ต่อไวรัสเอชไอวีโดยตรง ที่ใช้กันในปัจจุบันคือ อะซิโดไธมิดีน หรือ AZT หรือซิโดวูดีน ยาที่เพิ่งออกมาใหม่ เช่น ดีดีไอ และ ดีดีซี ยาเหล่านี้ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส แต่ไม่สามารถกำจัดยีโนมของไวรัส ที่แอบแฝงอยู่ ออกไปจากเซลล์ของร่างกาย

            วัคซีนสำหรับป้องกันโรคเอดส์ ในปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นศึกษาทดลองในอาสาสมัคร มีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ แต่เกือบทั้งหมดเตรียมขึ้นจากวิธีพันธุวิศวกรรม วัคซีนจะประกอบด้วยโปรตีนโครงสร้างชั้นนอกสุด ที่เป็นส่วนเยื่อหุ้มไขมันของเชื้อไวรัส และจุดมุ่งหวังที่สำคัญคือ การเลือกวัคซีนที่มีความปลอดภัย และสามารถคุ้มกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ ไม่ว่าจะเป็นไวรัสสายพันธุ์ใดจากที่ใดในโลกก็ตาม