เล่มที่ 20
ศาสนาและระบบความเชื่อในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            คนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย ก่อนนั้นคนไทยนับถือศาสนาพรมหมณ์ และนับถือผี ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อพุทธศาสนาเข้ามา จึงมีการผสมผสานกัน ดังจะเห็นได้ในพิธีกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน คือ มีพิธีกรรมทางพุทธศาสนาที่วัด มีพิธีกรรมทางพราหมณ์ เช่น การตั้งศาลพระภูมิ การบายศรีสู่ขวัญ มีพิธีกรรมทางผี เช่น การทำบุญบ้าน การเลี้ยงผี เป็นต้น
พระสงฆ์ประกอบพิธีสังฆกรรมในพระอุโบสถ
พระสงฆ์ประกอบพิธีสังฆกรรมในพระอุโบสถ
            พุทธศาสนามีบทบาทอย่างสำคัญต่อสังคมไทย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ในอดีตนั้น วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน นอกจากเป็นที่ทำบุญฟังเทศน์ และร่วมพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว ยังเป็นที่เรียนหนังสือของลูกหลาน เป็นที่ประชุม ที่พักคนเดินทาง บางแห่งเป็นที่รักษาคนเจ็บป่วย เป็นที่รวมของศิลปะวรรณกรรมต่างๆ

            นอกจากพุทธศาสนา ยังมีศาสนาอิสลาม ผู้นับถือศาสนาอิสลาม เรียกว่า ชาวมุสลิม ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในสี่จังหวัดภาคใต้คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล นอกตั้นอยู่ที่กรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ เกือบทั่วประเทศ

            ชาวมุสลิมจะไปร่วมพิธีสวดมนต์ในมัสยิด หรือสุเหร่าทุกวันศุกร์ จะมนัสการพระเจ้าทุกวัน ซึ่งเรียกว่า นมาซหรือละหมาด วันละห้าครั้ง (เวลา) มีหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่า ชีวิตประจำวัน และการงาน ไม่ได้แยกจากการปฏิบัติศาสนา

            ศาสนาคริสต์ในประเทศไทยมีอยู่สองนิกาย คือ นิกายโรมันคาทอลิก เรียกผู้ที่นับถือนิกายนี้ว่า คาทอลิก หรือคริสตัง และนิกายโปรเตสแตนต์ เรียกผู้ที่นับถือนิกายนี้ว่า โปรเตสแตนต์ หรือคริสเตียน

            นิกายโรมันคาทอลิกเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนนิกายโปรเตสแตนต์เข้ามาในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งสองนิกายมีบทบาทสำคัญทางสังคม คือ ตั้งโรงเรียน และโรงพยาบาลหลายแห่ง มีชื่อเสียงมาถึงทุกวันนี้ เช่น โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โรเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ โรงพยาบาลมิชชัน เป็นต้น

            ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเป็นศาสนาที่มาพร้อมกับชาวอินเดีย พราหมณ์จำนวนหนึ่งเข้ามาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย ส่วนชาวฮินดูเข้ามาเมื่อร้อยปีเศษที่ผ่านมานี้ ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้า ชาวฮินดูนับถือเทพเจ้าต่างๆ เช่น พระพรหม พระนารายณ์ เป็นต้น

            ยังมีชาวอินเดียอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจำได้ง่าย เพราะมีผ้าโพกศีรษะ เรียกว่า ชาวซิกข์ คือ นับถือศาสนาซิกข์ ซึ่งเป็นศาสนาหนึ่งจากอินเดียเช่นกัน ส่วนใหญ่มีอาชีพขายผ้า พวกเขาไม่ตัดผมตลอดชีวิต

            ชาวจีนในประเทศไทยก็มีศาสนา และความเชื่อของตนเองเช่นกัน เช่น นับถือ ลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า พุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งแตกต่างจากพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ในประเทศไทย นอกจากนั้นมีการบูชาเทพเจ้าต่างๆ ชาวจีนจะเคารพนับถือบรรพบุรุษมาก มีพิธีกรรมรำลึกถึงบรรพบุรุษเสมอ โดยเฉพาะเทศกาลเช็งเม้ง นอกนั้นก็มีงานเทศกาลต่างๆ เช่น ตรุษจีน สารทจีน เทศกาลกินเจ เป็นต้น

            ชาวเขา
ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน มีอยู่หลายเผ่า เช่น กะเหรี่ยง ม้ง (แม้ว) อาข่า (อีก้อ) ลาฮู (มูเซอ) ลีซู (ลีซอ) เป็นต้น ส่วนใหญ่ อาศัยอยู่บนเขาตามเขตชายแดนติดกับประเทศพม่าและลาว

            ชาวเขา
มีความเชื่อ และพิธีกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับผี พวกเขาเชื่อเรื่องผี ซึ่งมีอยู่ในธรรมชาติ เกี่ยยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน ถ้าเจ็บป่วย ก็เชื่อว่า ผีเป็นต้นเหตุ ต้องทำพิธีขอขมา หรือไล่ผี พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด และการตาย และพิธีกรรมเมื่อคนเจ็บป่วย มีอยู่ในทุกเผ่า แต่แตกต่างกันในรายละเอียด และวิธีการ

            ศาสนามีความสำคัญต่อชีวิตของคนไทย แม้ว่าจะนับถือศาสนาแตกต่างกัน แต่ทุกคนก็อยู่ร่วมกันด้วยการเคารพกันและกัน ไม่มีการเบียดเบียนคนที่นับถือศาสนาแตกต่างไปจากตน ประเทศไทยไม่เคยมีสงคราม หรือความขัดแย้งรุนแรงระหว่างศาสนา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของทุกศาสนา