เล่มที่ 20
ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญจากสภาพที่ตั้ง และทรัพยากรธรรมชาติ ที่อุดมสมบูรณ์ จนดินแดนบางส่วนได้รับการขนานนามว่า "สุวรรณภูมิ" หรือแดนทอง ซึ่งหมายถึง ดินแดนที่มีค่ามหาศาล เปรียบเหมือนทอง ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในยุโรปสมัยหนึ่ง จึงพากันแสวงหาเส้นทางเดินเรือ มาสู่ดินแดนแห่งนี้ บ้างก็มาเพื่อติดต่อค้าขาย บ้างก็มาเพื่อยึดครองเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตน เมื่อการค้าขายขยายตัว หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากจะเป็นตลาดการค้าที่สำคัญแล้ว ยังเป็นเส้นทางผ่านจากอินเดียไปยังจีน ความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ละยุคแต่ละสมัยในลักษณะต่างๆ ทำให้ภูมิภาคส่วนนี้ รวมทั้งประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศตั้งแต่สมัยโบราณ จนถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมจากต่างแดนทั้งใกล้และไกลได้เข้ามาผสมผสาน และมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทย ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ช่วงแรกวัฒนธรรมอินเดียและจีน จะมีความสำคัญมาก ซึ่งยังคงปรากฎอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ ต่อมาวัฒนธรรมจากยุโรปเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทย ก็ยังมีให้เป็นอยู่เช่นเดียวกัน และล่าสุด วัฒนธรรมของโลกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมอเมริกัน และญี่ปุ่น เริ่มมีความสำคัญเด่นชัดขึ้น แต่คนไทยก็ยังสามารถผสมผสาน และปรับวัฒนธรรมเหล่านั้น โดยผนวกความเป็นไทยๆ เข้าไป ตามลักษณะเด่นของคนไทย คือ มีความยืดหยุ่น และความสามารถในการปรับตัวสูง ประกอบกับมีคนไทยจำนวนมาก ที่ยังช่วยกันถนอมอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงาม ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษวัฒนธรรมไทย จึงยังคงมีความโดดเด่น และรุ่งเรืองตลอดมา

ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับอินเดียและจีน

ในบรรดาประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทย ประเทศอินเดียมีความสำคัญมากที่สุด และมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทย ในหลายด้านดังนี้

๑. ด้านศาสนา

            ศาสนาจากอินเดียที่เผยแพร่เข้ามาก่อน คือ ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ซึ่งนับถือเทพเจ้าหลายองค์ เช่น พระศิวะ พระพรหม พระนารายณ์ พระอินทร์ ต่อมาเมื่อพุทธศาสนารุ่งเรืองในอินเดียสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. ๒๖๙-๓๑๑) ซึ่งได้ส่งสมณทูตออกไปเผยแผ่พุทธศาสนาในหลายแห่ง รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระยะแรกพุทธศาสนาที่เข้ามาเป็นนิกายมหายาน ต่อมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้นิมนต์พระสงฆ์จากจังหวัดนครศรีธรรมราช (ชื่อเมืองเดิมว่า ตามพรลิงค์) ซึ่งเป็นพระนิกายเถรวาท และมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกมาสั่งสอนประชาชน ทำให้พุทธศาสนานิกายนี้เป็นที่ยอมรับนับถือตลอดมา จนถึงปัจจุบัน

๒. ด้านภาษาและวรรณคดี

            เมื่อพุทธศาสนาแพร่หลายเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ภาษาบาลีก็แพร่หลายเข้ามาด้วย เพราะเป็นภาษาในพระไตรปิฎก พร้อมๆ กับภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นภาษาของนักปราชญ์ในอินเดีย อิทธิพลของภาษาบาลี และสันสกฤต ยังมีปรากฎในชื่อนามสกุลของคนไทยมาจนทุกวันนี้

ส่วนวรรณคดีที่แพร่หลายคือ มหากาพย์ ๒ เรื่อง ได้แก่ รามายณะ หรือรามเกียรติ์ และมหาภารตะ และนิทานชาดกต่างๆ

๓. ด้านกฎหมายและระบบการปกครอง

            กฎหมายฉบับเดิมของไทยมีชื่อว่า กฎหมายตราสามดวง ดัดแปลงมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของอินเดีย นอกจากนั้นยังมคัมภีร์อรรถศาสตร์ ซึ่งเป็นตำราทางด้านการปกครอง ราชนีติ หรือความประพฤติของพระราชา และหลักทศพิธราชธรรม หรือธรรม ๑๐ ประการของพระราชา ซึ่งล้วนแต่มาจากอินเดีย และเข้ามามีส่วนในบทบัญญัติการปกครองของไทยตั้งแต่อดีต

๔. ด้านศิลปกรรม

            ศิลปกรรมของอินเดีย ที่มีอิทธิพลต่อศิลปกรรมของไทย ทั้งในด้านปฏิมากรรม ได้แก่ พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ ด้านสถาปัตยกรรม ได้แก่ เจดีย์ และด้านจิตรกรรม ได้แก่ ภาพฝาผนัง นอกนั้นอิทธิพลของเรื่องรามเกียรติ์ ก็ทำให้นาฏศิลป์ของไทยรับนาฏศิลป์ของอินเดียมาบางส่วน ดังปรากฏในการแต่งกาย และท่าร่ายรำ
การปลูกฝังวัฒนธรรมไทยให้แก่อนุชนรุ่นหลัง
การปลูกฝังวัฒนธรรมไทยให้แก่อนุชนรุ่นหลัง
            สำหรับความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับจีนนั้น จะเป็นในด้านการค้าขาย เพราะไทยต้องการสินค้าของจีน ทั้งที่นำมาใช้เอง และขายต่อให้ต่างชาติ

            จีนมีการติดต่อกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลานานในสมัยสุโขทัย เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ พวกมองดกลสามารถโค่นราชวงศ์ซ่งลงได้ และเข้าครอบครองจีน จากนั้นได้ส่งทูตไปยังอาณาจักรต่างๆ เรียกร้องให้ส่งคณะทูตนำบรรณาการไปถวาย พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเฝ้าติดตามดูเหตุการณ์อยู่ระยะหนึ่ง ทรงเล็งเห็นการณ์ไกลว่า ควรจะสานไมตรีไว้ จึงส่งคณะทูตนำบรรณาการไปถวาย จีนกับไทยจึงมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันมา ในลักษณะรัฐบรรณาการ ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนกระทั่งต้นรัชกาลที่ ๔ ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้จึงยุติลง

            นอกจากไทยจะมีความสัมพันธ์แบบรัฐบรรณาการกับจีนแล้ว คนจีนยังได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์ไทยเรื่อยมา ระยะแรกๆ มาเป็นการชั่วคราว แต่ระยะหลังตั้งแต่สมัยธนบุรี และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คนจีนก็เริ่มลงหลักปักฐาน ตั้งรกราก ในเมืองไทย และเข้ารับราชการกับทางการไทยมากขึ้น กอปรกับในระยะนั้น การค้ากับจีน เพิ่มปริมาณมากขึ้น วัฒนธรรมจีนจึงได้รับความนิยมไปด้วย ไม่เฉพาะแต่ทางการค้า ทางด้านศิลปะก็มีมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากภาพจิตรกรรม การสร้างสวนหิน การประดับลวดลายด้วยเครื่องกระเบื้อง ตุ๊กตาจีน เก๋งจีน เป็นต้น
ศิลปกรรมของวัดพระศรีอุมาเทวี (วัดแขก) ถ.สีลม กรุงเทพมหานคร
ศิลปกรรมของวัดพระศรีอุมาเทวี (วัดแขก) ถ.สีลม กรุงเทพมหานคร
            ทางด้านวรรณคดีก็มีการแปลพงศาวดารจีน และวรรณคดีหลายเรื่อง แต่เรื่องที่คนไทยรู้จักมากที่สุด คือ สามก๊ก

            นอกจากไทยจะมีความสัมพันธ์กับอินเดียและจีนแล้ว ก็ยังมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับเปอร์เซีย หรืออิหร่าน ขอม (เขมร) พม่า มอญ ไทยมีการทำสงคราม กับเขมร และพม่าหลายครั้ง แต่กระนั้นก็รับวัฒนธรรมทางภาษา ศิลปะ สถาปัตยกรรม และนาฎศิลป์ ของทั้งสองชาติ เข้ามาผสมผสานกับของไทย ซึ่งยังพอมองเห็นได้ โดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม และนาฏศิลป์ ตัวอย่างเช่น วัดทางภาคเหนือ รับวัฒนธรรมจากพม่า โบราณสถานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รับวัฒนธรรมจากเขมร บทเพลง และท่าร่ายรำ จากทั้งพม่า และเขมร เป็นต้น

            ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมนี้ยังดำเนินต่อมา แม้เมื่อชาติตะวันตกเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี และมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับไทยแล้ว เพียงแต่ลดความสำคัญลงไปบ้าง

ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก

            ประเทศไทยเริ่มมีความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๕๔ ซึ่งตรงกับสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ชาติที่เข้ามาติดต่อเป็นชาติแรกคือ โปรตุเกส ซึ่งไม่เพียงแต่มาติดต่อค้าขายกับคนไทยในกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น ยังมีจุดมุ่งหมายที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมสำคัญคือ คริสต์ศาสนา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงมีพระทัยกว้าง โดยทรงให้คนไทยมีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา มีการสร้างโบสถ์คริสต์ และมีบาทหลวงคาทอลิกหลายคณะเข้ามาเผยแผ่ศาสนา แต่ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จ เพราะคนไทย ลาว มอญ ญวน จีน ซึ่งอยู่ในกรุงศรีอยุธยาขณะนั้นยึดมั่นในพุทธศาสนา ไม่สนใจศาสนาอื่น ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกเจริญสูงสุด คณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้นำศิลปวิทยาการต่างๆ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสำคัญๆ ของตะวันตก มาสู่สังคมไทย เช่น ระบบการศึกษาในโรงเรียน การแพทย์ สถาปัตยกรรม และวิชาภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ต่อมาสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับชาติตะวันตกเสื่อมลง ศิลปวิทยาการต่างๆ มิได้สืบทอดแพร่หลายในหมู่ราษฎร นอกจากคริสต์ศาสนา ซึ่งยังเป็นที่ยอมรับเลื่อมใสในหมู่ชาวต่างชาติ และชาวไทยบางส่วนตลอดมา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวอย่างของวัฒนธรรมตะวันตกที่ปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ เทคโนโลยีด้านการก่อสร้าง เช่น การต่อเรือ การสร้างป้อมปราการ การสร้างบ้านพักอาศัย โดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก การหล่อปืนใหญ่ และการสร้างหอดูดาว
ภาพฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ภาพฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
            ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ วัฒนธรรมตะวันตกได้แพร่หลายมากขึ้น รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้มิชชันนารีชาวยุโรปเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์เป็นครั้งแรก ต่อมาได้มีมิชชันนารีชาวอเมริกัน เช่น หมอบรัดเลย์ หมอสมิธ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมตะวันตก และเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รับกาลที่ ๔) ทรงเปิดโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวัง และทรงจ้างผู้หญิงชาวอังกฤษมาสอน การเรียนภาษาอังกฤษจึงได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยได้มีสัมพันธไมตรีกับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น ประเทศอังกฤษได้ส่ง เซอร์ จอห์น บาวริง เป็นราชทูตเข้ามา เจริญสัมพันธไมตรี และได้ทำสนธิสัญญาชื่อว่า สนธิสัญญาบาวริง โดยอนุญาตให้ชาวต่างประเทศเข้ามาติดต่อค้าขายกับราษฎรโดยเสรี นอกจากสนธิสัญญาบาวริงแล้ว ไทยก็ได้ทำสนธิสัญญาทำนองเดียวกันนี้กับประเทศอื่นด้วย เนื่องจากสนธิสัญญานี้ ทำให้ชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากขึ้น จำนวนมิชชันนารีทั้งจากนิกายคาทอลิก และโปรเตสแตนต์ก็เพิ่มมากขึ้น และกระจายกันเผยแผ่ศาสนา ทั้งในพระนคร และหัวเมืองต่างๆ ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกแพร่เข้าไปในชนบท นอกจากนี้พระองค์ท่านยังทรงปฏิรูปประเทศ และสนับสนุนให้นำศิลปวิทยาการตะวันตกแขนงต่างๆ เข้ามาเผยแพร่ โดยเฉพาะการศึกษา การแพทย์ การคมนาคม และการสื่อสาร เป็นต้น ทั้งยังทรงจ้างชาวต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาความเจริญด้านต่างๆ ได้พระราชทานเงินทุนให้นักเรียนไทยไปศึกษา ณ ต่างประเทศ เพื่อนำความรู้ และวิทยาการใหม่ๆ มาช่วยสร้างความเจริญให้บ้านเมือง ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมตะวันตกจึงได้เข้ามาผสมผสานอยู่ในสังคมไทย แต่ยังไม่มากเท่าหลังปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ซึ่งเป็นปีที่ยกเลิกสนธิสัญญาบาวริง วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มหลั่งไหลเข้ามาสู่สังคมไทยมากขึ้น และได้ผสมปนเป จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของสังคมไทยในปัจจุบัน

            การเผยแพร่วัฒนธรรมตะวันตกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก่อน พ.ศ. ๒๔๘๐ ส่วนใหญ่เกิดจากความเห็นชอบ และการสนับสนุนของรัฐบาล เนื่องจากได้พิจารณาแล้วว่า วัฒนธรรมเหล่านั้นล้วนมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ทัดเทียมนานาประเทศ นอกจากนี้แล้ว เจ้านายในพระราชวงศ์ และขุนนาง รวมทั้งนักเรียนไทยที่จบการศึกษา จากต่างประเทศ เมื่อกลับสู่บ้านเมือง ยังเป็นผู้นำในการรับวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะรูปลักษณ์ภายนอก เป็นต้นว่า การแต่งกาย การกีฬา นันทนาการ กลายเป็นความทันสมัยที่ผู้คนในสังคมถือเอาเป็นแบบอย่าง
เจดีย์แบบพม่าที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
เจดีย์แบบพม่าที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
            จึงกล่าวได้ว่า การรับวัฒนธรรมตะวันตกเกิดจากเหตุผล ๒ ประการ คือ เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า และเพื่อความทันสมัยของผู้ประพฤติปฏิบัติ

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศยุคอุตสาหกรรมใหม่

            รูปแบบของวัฒนธรรมจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในทวีปยุโรป อเมริกา หรือเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เป็นรูปแบบมาตรฐานของสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีแกนหลัก ๖ ประการ ดังนี้

๑. มีการกำหนดมาตรฐาน

            เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น มาตรฐานสินค้า มาตรฐานค่าครองชีพ มาตรฐานการกำหนดตารางการทำงาน การเรียน และมาตรฐานของภาษา ที่จะสื่อให้เข้าใจตรงกัน เป็นต้น เป็นการรวมทุกสิ่งทุกอย่างให้อยู่ในกรอบเดียวกัน นับตั้งแต่วิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า จนเข้านอน การประพฤติปฏิบัติตัว ทั้งการแต่งกาย การทำงาน และการพักผ่อน รวมทั้งกิจกรรมนันทนาการต่างๆ สิ่งเหล่านี้ปรากฏให้เห็นในสภาพสังคมไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ที่ประเทศไทยติดต่อกับประเทศอุตสาหกรรมนั่นเอง

๒. ส่งเสริมการผลิตผู้มีความชำนาญเฉพาะด้าน

            เพื่อควบคุมและดูแลให้ทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ตามความเชื่อที่ว่า ผู้มีความเชี่ยวชาญย่อมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความชำนาญเฉพาะด้านนี้ อาจแยกย่อยออกไปได้อีก เช่น ในวงการแพทย์ อาจแยกออกเป็นผู้ชำนาญเฉพาะอย่าง เป็นต้นว่า จักษุแพทย์ วิสัญญีแพทย์ ทันตแพทย์ ศัลยแพทย์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษา และฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ ในปัจจุบันความต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมีมากมาย จนบางสาขาวิชา ผลิตบุคลากรไม่ทันการขยายตัวของแรงงาน โดยเฉพาะด้านวิศวกรรม และการจัดการ ซึ่งก็เป็นผลของความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของไทยกับต่างประเทศ

๓. สร้างความพร้อมเพรียง


            เพื่อความเป็นหนึ่งเดียว และมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีเวลาเป็นตัวกำหนดในการเริ่มทำงาน และหยุดทำงาน ซึ่งแนวปฏิบัตินี้ก็เป็นผลมาจากการที่คนไทยได้แลกเปลี่ยนข้อคิด และแนวทางการทำงานกับชาวต่างประเทศ

๔. รวมหน่วยย่อยเข้าเป็นหน่วยใหญ่


            เพื่อให้เกิดพลังงานมหาศาล ซึ่งปรากฏมากในด้านประชากร และกระแสเงินทุน

๕. สร้างคุณค่าสูงสุดในสิ่งต่างๆ


            เพื่อความภูมิใจ เป็นค่านิยมที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจมนุษย์ ในสังคมอุตสาหกรรม ที่ชื่นชมกับความเป็นที่สุดในด้านต่างๆ เช่น ตึกสูงที่สุด แม่น้ำสายยาวที่สุด ขนมที่ใหญ่ที่สุด เป็นต้น ความเป็นที่สุดไม่ใช่เพียงสิ่งก่อสร้าง หรือทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่รวมไปถึงความยิ่งใหญ่ทางธุรกิจด้วย เช่น จำนวนผู้เข้ามารับบริการ ปริมาณการจ้างพนักงาน จำนวนขอบข่ายสาขา เป็นต้น ประเทศไทยซึ่งได้หันมาพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นต้นมา ก็รับวัฒนธรรมความเป็นที่สุด มาจากประเทศอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ และวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากทุกฝ่าย ทั้งจากคณะผู้บริหารประเทศ และจากภาคธุรกิจต่างๆ

๖. สร้างศูนย์กลางของหน่วย


            เพื่อควบคุมการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ และมีระบบ อันเป็นวัฒนธรรมจากประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยได้รับมา มี ๒ ลักษณะ คือ

            ๑. ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ โดยมีศูนย์กลางเป็นหน่วยงานแม่ และมีเครือข่ายมากมายทั่วประเทศ หรือทั่วโลก มีการแบ่งพนักงานเป็นระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับผู้บริหารสูงสุด ลดหลั่นลงมา จนถึงระดับพนักงาน การติดต่อสั่งงาน หรือเสนอความเห็น จะเป็นในรูปการสื่อสารเป็นทอดๆ ขึ้นถึงระดับสูง และย้อนกลับลงมา วิธีการนี้ประเทศอุตสาหกรรมถือว่า มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถดำเนินการต่างๆ ได้โดยรวดเร็ว และผิดพลาดน้อย

            ๒. ศูนย์กลางทางการเมือง คล้ายคลึงกับศูนย์กลางเศรษฐกิจ ต่างกันในแง่ที่รวมสารนิเทศ และคำสั่ง ไว้ที่ศูนย์กลางการปกครอง ซึ่งไทยใช้มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อำนาจทุกอย่างอยู่ที่กรุงเทพฯ
ความหลากหลายของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางของประเทศไทย
ความหลากหลายของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางของประเทศไทย
            ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของไทยกับต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่แล้ว ยังเป็นการรับอิทธิพลแนวความคิด และวิถีการดำรงชีวิตจากประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ มาปรับและประยุกต์ใช้ในประเทศ จึงยังคงเป็นความสัมพันธ์ทางเดียวมากกว่า

            การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไทยตามแนวของวัฒนธรรมตะวันตกนั้น มีทั้งผลดี และผลเสีย ผลดีคือ ประชากรมีคุณภาพมากขึ้น จากการได้ศึกษา และดูงานในต่างประเทศ บ้านเมืองเกิดความเจริญรุ่งเรืองจากการนำความรู้ และเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ โดยเฉพาะทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การคมนาคม และระบบเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง ทำให้ประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรือง และยืนหยัดมาได้จนตราบเท่าทุกวันนี้

            ผลเสีย คือ เกิดค่านิยมแนวใหม่ในหมู่คนไทยบางกลุ่มที่มองเห็นว่า วัฒนธรรม ดั้งเดิมเป็นสิ่งคร่ำครึล้าสมัย วัฒนธรรมตะวันตกกลับเป็นสิ่งดีงาม น่าชื่นชมมากกว่า ค่านิยมนี้ทำให้เกิดการหลงผิด และดูถูกวัฒนธรรมของตนเอง บางครั้งยังยึดค่านิยมผิดๆ เช่น ยึดในวัตถุจนละเลยทางด้านจิตใจ และคุณธรรม

            อย่างไรก็ตามนับว่า เป็นโชคดีของชาติไทย ที่ยังมีคนไทยอีกเป็นจำนวนมากที่พยายามรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ และในขณะเดียวกันก็นำความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ จากต่างประเทศมาปรับใช้ให้เกิดความเจริญ และเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง