เล่มที่ 26
ส้ม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ส้มชนิดอื่นๆ ที่มีในประเทศไทย ได้แก่ ส้มจี๊ด ส้มแก้ว ส้มจุก และส้มสายน้ำผึ้งซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ส้มเพชรยะลา หรือส้มโชกุน ส้มแต่ละชนิดจะนิยมปลูกในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ส้มจี๊ดมักนิยมปลูกในกระถางเป็นไม้ประดับ เพราะมีขนาดต้นเล็ก ออกผลง่าย ผลมีสีส้มสด จำนวนมาก แลดูสวยงาม ส้มแก้วมีปลูกมากในภาคกลางที่จังหวัดสมุทรสงคราม ส่วนส้มจุก มีปลูกในภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ส้มที่ปลูกมากที่สุดในประเทศไทยคือ ส้มเขียวหวาน ซึ่งพันธุ์ที่มีรสหวานอร่อย ได้แก่ ส้มเขียวหวานพันธุ์บางมด จังหวัดที่มีการปลูกส้มเขียวหวานพันธุ์บางมดมาก ได้แก่ ปทุมธานี นครนายก สระบุรี และลพบุรี ส่วนส้มเขียวหวานที่เรียกว่า ส้มสีทอง หรือส้มผิวทอง มีปลูกมากที่จังหวัดแพร่ น่าน เชียงใหม่ เชียงราย และสุโขทัย ส้มโอที่มีชื่อเสียง มีรสชาติอร่อย ที่เรียกกันว่า ส้มโอนครชัยศรี ได้แก่ ส้มโอพันธุ์ทองดี ส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง มีปลูกมากที่จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร และราชบุรี นอกจากนี้ยังมีส้มโอพันธุ์ท่าข่อยซึ่งปลูกมากที่จังหวัดพิจิตร ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาปลูกมากที่จังหวัดชัยนาท ส้มโอเป็นผลไม้ที่ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ สร้างชื่อเสียง และรายได้ให้แก่ประเทศไทยอย่างมาก



            การปลูกส้มของเกษตรกร หรือชาวสวนในประเทศไทย มีวิธีการปลูก ๒ แบบ คือ แบบที่ ๑ การปลูกในภาคกลางที่มีพื้นที่เป็นที่ลุ่ม มีแม่น้ำและลำคลองมาก ชาวสวนจะปลูกส้มโดยขุดดินยกขึ้นเป็นแนวปลูก และมีร่องน้ำเล็กๆ อยู่ด้านข้าง เรียกกันว่า ปลูกแบบยกร่อง หรือสภาพสวน และแบบที่ ๒ การปลูกในภาคอื่นๆ ที่มีพื้นที่เป็นที่ราบ ที่เนิน ที่ราบเชิงเขา ชาวสวนจะปลูกส้ม โดยยกแนวปลูกเป็นลูกฟูก สูงจากพื้นดิน เรียกกันว่า ปลูกแบบสภาพไร่



            เมื่อจัดเตรียมพื้นที่ที่จะปลูกเรียบร้อยแล้ว ชาวสวนจะนำต้นพันธุ์ส้มปลูกลงในแปลง โดยมีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ ๓ - ๔ เมตร และระยะห่างระหว่างแถวปลูกประมาณ ๖ - ๘ เมตร หลังจากนั้น จะดูแลรักษาอย่างดี เช่น การรดน้ำ ใส่ปุ๋ย การตัดแต่งกิ่งแห้ง กำจัดวัชพืช ป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรู เพื่อให้ต้นส้มสมบูรณ์แข็งแรง เจริญเติบโต และให้ผลผลิต ชาวสวนจะได้เก็บเกี่ยวไปจำหน่าย เพื่อมีรายได้



            ต้นส้มเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ความสูงของต้นแตกต่างกันไปตามพันธุ์ เช่น ส้มจี๊ดมีขนาดต้นค่อนข้างเล็ก ส้มเขียวหวานมีขนาดความสูง ๔ - ๖ เมตร ส่วนส้มโอที่มีอายุมากๆ มีความสูงได้ถึง ๑๐ - ๑๕ เมตร ภายหลังจากการปลูก ๓ - ๕ ปี ต้นส้มที่เจริญเติบโต และสมบูรณ์แข็งแรง จะเริ่มผลิดอก และติดผลให้เก็บเกี่ยวได้ อายุการเก็บเกี่ยวของผลส้มใช้เวลา ๕ - ๑๐ เดือน นับตั้งแต่วันที่ดอกส้มบาน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามพันธุ์เช่นเดียวกัน


            ดอกส้มเกิดอยู่ที่ปลายยอดอ่อน ลักษณะเป็นดอกเดี่ยว สมบูรณ์เพศ คือ มีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย อยู่ในดอกเดียวกัน กลีบดอกมี ๕ กลีบ ส่วนมากมีสีขาว และมีกลิ่นหอมมาก ผลส้มเกิดจากการผสมพันธุ์ ระหว่างเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย ภายในดอกเดียวกัน หรือผสมข้ามดอก ภายหลังจากกลีบดอกโรย ผลอ่อนจะค่อยๆ พัฒนา และเจริญเป็นผลส้มต่อไป


            ผลส้มที่ผลิตได้ ส่วนใหญ่ใช้บริโภคภายในประเทศ ทั้งในลักษณะผลสด และการแปรรูป เช่น เป็นผลไม้ ใช้ในการปรุงอาหาร คั้นน้ำเป็นน้ำผลไม้ เพื่อใช้ดื่ม เป็นสมุนไพร ทำเป็นแยม ผลไม้เชื่อม สกัดน้ำมันเป็นน้ำมันหอมระเหย ใช้ในอุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอาง ผลส้มส่วนหนึ่ง ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เช่น ส้มเขียวหวาน ส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา ส่วนส้มโอ ส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป ซึ่งนำรายได้เข้าประเทศ ปีละหลายร้อยล้านบาท