ข้าวสาลีเป็นธัญพืชที่มีปริมาณของผลิตผลสูงที่สุด ในหมู่ธัญพืชด้วยกัน ความสำคัญของข้าวสาลีในด้านการใช้เป็นอาหารของมุนษย์ ได้มีมานานนับแต่สมัยโบราณแล้ว คนในซีกโลกตะวันตกถือว่า การมีข้าวสาลีให้บริโภคเป็นอารยธรรมขั้นสูงทีเดียว ปริมาณของข้าวสาลีที่ผลิตได้ในปีหนึ่งๆ ของซีกโลกนี้ ยังเป็นเครื่องชี้ถึงฐานะทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางการเมืองได้ด้วย
การปิ้งจาปาตีแบบพื้นบ้านของชาวอินเดีย ซึ่งทำจากแป้งข้าวสาลี
ในสมัยหิน มุนษย์ใช้แผ่นหินเรียบๆ สองแผ่น บดเมล็ดข้าวสาลีให้เป็นแป้ง ซึ่งไม่ละเอียดดีนัก มนุษย์สมัยนั้นเอาแป้งสาลีหยาบๆ ผสมกับน้ำพอที่จะปั้นเป็นก้อนได้ แล้วเอาไปตากแดดจนแห้ง เพื่อใช้เป็นอาหาร สมัยต่อมา มนุษย์มีความสามารถในการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ การเปลี่ยนรูปเมล็ดข้าวสาลีให้เป็นแป้งและอาหารก็ดีขึ้น ตามลำดับ เช่น มนุษย์รู้จักการหมักแป้งข้าวสาลีกับเชื้อยีสต์ ก่อนเอาไปเข้าเตาอบ ทำให้ได้ขนมปังที่ฟูและอร่อย นอกจากนี้มนุษย์ยังเติมสิ่งปรุงรสต่างๆ ลงไปในแป้งสาลี เช่น นม น้ำตาล ไข่ เนย และเครื่องเทศ ทำให้เราได้ขนมชนิดต่างๆ
การปิ้งจาปาตีแบบพื้นบ้านของชาวอินเดีย ซึ่งทำจากแป้งข้าวสาลี
ข้าวสาลีไม่ใช้พืชพื้นเมืองของไทย การนิยมบริโภคข้าวสาลีของคนไทย เพิ่งเกิดขึ้นมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง ทั้งนี้เนื่องจากอิทธิพลของวัฒนธรรมการบริโภคแบบตะวันตก การทดลองปลูกข้าวสาลีในประเทศไทยได้เริ่มอย่างจริงจัง ในระยะหลังสงครามโลกครั้งนี้สอง และสามารถปลูกเป็นการค้าได้ในภาคเหนือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๗ จนถึงปัจจุบัน
แปลงปลูกข้าวสาลี ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย