เล่มที่ 17
ช้างเผือก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            นอกจากช้างเผือกจะได้เป็นสัญลักษณ์ของไทย โดยปรากฎบนธงชาติ และธงราชนาวีแล้ว ช้างเผือกยังได้เป็นเครื่องหมายของเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดของไทย อีกตระกูลหนึ่งด้วย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก :๑. มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก


            เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงสถาปนาธงช้างเผือกเป็นธงชาติไทยแล้ว พระองค์ยังทรงสร้างตราช้างเผือก สำหรับประดับนอกเสื้อ พระราชทานผู้มียศต่างๆ ในพระราชอาณาจักร และชาวต่างประเทศที่มีความชอบ

            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้น โดยมีลำดับชั้น และสายสะพายขึ้นอีกหลายตระกูล ทรงนำตราช้างเผือกมาสถาปนา เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์อีกตระกูลหนึ่ง พระราชทานนามว่า "เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก" มีลำดับทั้งหมด ๘ ชั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก :๒. ประถมาภรณ์ช้างเผือก

            ถึงแม้ในปัจจุบันนี้ ความเชื่อถือเรื่องความสำคัญของช้างเผือก จะไม่มากเหมือนสมัยโบราณ เพราะช้างบางเชือกมิได้มีสีขาว แต่อาจมีสีบัวโรย สีใบตองแห้งสีทองแดง ฯลฯ ทั้งนี้เพราะช้างเหล่านี้มีลักษณะสำคัญบางอย่าง ซึ่งเข้าข่ายเป็นช้างสำคัญดังมีรายละเอียดในตอนต่อไป

            คนไทยได้รับคติความนับถือช้างเผือกมาจากอินเดีย โดยผ่ายทางการศึกษาวัฒนธรรม ประเพณี วรรณคดี และศาสนา
อย่างไรก็ตามความรู้เรื่องช้างเผือก และประเพณีเกี่ยวกับการยกย่อง และเลี้ยงดูช้างเผือก โดยได้รับการดูแลอย่างดี ในฐานะเป็นช้างของพระมหากษัตริย์ ก็เป็นความรู้ที่สมควรศึกษา

ภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับช้างเผือกที่วัดสุทัศน์เทพวราราม

            ถ้าจะพิจารณาถึงความละเอียดถี่ถ้วนของตำราว่าด้วย ช้างเผือก ช้างสำคัญ และช้างเนียมแล้ว น่าจะเป็นวิธีการสงวนพันธุ์ช้าง ที่มีลักษณะพิเศษหาได้ยาก ไว้เป็นสมบัติของบ้านเมืองสืบไป อีกประการหนึ่ง นอกเหนือไปจากความเชื่อถือว่า ช้างเผือกเป็นสิริมงคลต่อพระมหากษัตริย์ และประชาชนพลเมืองของประเทศนั้นๆ