เล่มที่ 17
การปรับปรุงพันธุ์พืช
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

การทำนาสมัยใหม่ปลูกด้วยข้าวพันธุ์ดีที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์พืช


            การปรับปรุงพันธุ์พืชมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะมนุษย์เราต้องการได้พืชพันธุ์ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้สามารถนำมาปลูกใกล้บริเวณที่อยู่อาศัย ให้มีผลิตผลสูง และให้มีคุณภาพตรงตามต้องการ วิธีการปรับปรุงพันธุ์พืชในสมัยก่อน และสมัยปัจจุบันแตกต่างกันมาก เนื่องจากเราได้เรียนรู้วิชาการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และได้นำวิชาการเหล่านั้น มาใช้ปรับปรุงพันธุ์พืชด้วย วิชาการที่ใช้ ได้แก่ วิชาพืชกรรม พฤกษศาสตร์ พันธุกรรม โรคพืชวิทยา กีฎวิทยา ชีวเคมี สถิติ และการวางแผนทดลอง เป็นต้น ในบรรดาวิชาการต่างๆ เหล่านี้ วิชาพันธุกรรมมีความสำคัญที่สุด การผสมพันธุ์ดีขึ้นมาใหม่ เป็นวิธีสำคัญในการปรับปรุงพันธุ์พืช เริ่มต้นด้วยการคัดเลือกต้นพ่อ และต้นแม่ ซึ่งมีลักษณะดีตามต้องการ แล้วนำเกสรตัวผู้จากดอกของต้นพ่อ มาผสมกับเกสรตัวเมียบนดอกของต้นแม่ เมล็ดที่ได้จากการผสมเกสรเช่นนี้ จะมีลักษณะผสมกันระหว่างต้นพ่อ และต้นแม่ กลายเป็นพืชพันธุ์ใหม่ ซึ่งถ้าคัดเลือกต่อไป ก็จะได้พันธุ์แท้ ซึ่งมีลักษณะที่ดีของพ่อแม่รวมกันอยู่

การทำนาสมัยใหม่ปลูกด้วยข้าวพันธุ์ดีที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์พืช

            ปัจจุบันพันธุ์ลูกผสมเป็นพันธุ์พืช ที่เกษตรกรหัวก้าวหน้าใช้กันมาก เพราะเป็นลูกผสม ซึ่งให้ผลิตผลสูงที่สุด และคุณภาพดีกว่าพ่อแม่ พืชที่ใช้ลูกผสมปลูกเป็นการค้า ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ฝ้าย ผัก และไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ
            
พืชที่ใช้ลูกผสมปลูกเป็นการค้า : ผัก

            การปรับปรุงพันธุ์ เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี สำหรับจำหน่าย จำเป็นต้องใช้เทคนิค อุปกรณ์ สถานที่ทดลอง และใช้เวลานาน ในประเทศไทยมีบริษัทเอกชน และหน่วยงานของรัฐบางแห่งจัดทำอยู่ คือ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยบางแห่ง

พืชที่ใช้ลูกผสมปลูกเป็นการค้า : ข้าวโพด

            นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายความคุมการผลิต และการค้าเมล็ดพันธุ์ เพื่อคุ้มครองเกษตรกรให้มีเมล็ดพันธุ์พืชที่ดี สำหรับใช้ปลูกอย่างเพียงพอ อันเป็นการเพิ่มผลิตผล และเพิ่มคุณภาพของพืช ตลอดจนคุ้มครองผู้ผลิต และผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ ให้สามารถดำเนินกิจการไปด้วยความเป็นธรรม และถูกต้องอีกด้วย

พืชที่ใช้ลูกผสมปลูกเป็นการค้า : ไม้ดอก

            หน่วยราชการที่ทำหน้าที่ควบคุม และปฎิบัติการต่างๆ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ กองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์