ตับอักเสบชนิดไม่ใช่เอ ไม่ใช่บี
หลังจากที่การศึกษาเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบเอและบีก้าวหน้าไปมากมาย มีการตรวจคัดเลือด ที่มีเอชบีเอสแอนติเจนออกไป ไม่นำไปใช้ แต่ก็ยังพบผู้ป่วยตับอักเสบ ภายหลังการรับเลือดเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ผู้ป่วยเหล่านี้ตรวจไม่พบว่า มีการติดเชื้อทั้งไวรัสตับอักเสบเอและบี จึงเรียกว่า โรคตับอักเสบชนิดไม่ใช่เอ ไม่ใช่บี
การศึกษาทางระบาดวิทยา ร่วมกับงานทางห้องปฏิบัติการ ในระยะต่อมาได้พบว่า เชื้อตับอักเสบชนิดไม่ใช่เอ ไม่ใช่บี น่าจะเป็นเชื้ออย่างน้อยสองชนิด ชนิดแรก ติดต่อโดยทางรับเลือด หรือผลิตภัณฑ์เลือด หรือเข็มฉีดยาที่มีเชื้อ เช่นเดียวกับไวรัสตับ-อักเสบบี ให้ชื่อว่า ไวรัสตับอักเสบซี ส่วนชนิดที่สองติดต่อจากการรับประทานอาหาร ที่มีเชื้อปนเปื้อน เหมือนกับไวรัสตับอักเสบเอ และให้ชื่อว่า ไวรัสตับอักเสบอี
ตับอักเสบซี
ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ หรืออาการที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง จนต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล โรคตับอักเสบที่เกิดขึ้นภายหลังการถ่ายเลือดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
ผู้ติดเชื้อตับอักเสบซี บางรายกลายเป็นพาหะเรื้อรัง เกิดตับแข็ง และมะเร็งตับตามมา
การวินิจฉัยโรคตับอักเสบซี ในปัจจุบันทำได้โดยตรวจคัดว่า ไม่ใช่โรคตับอักเสบเอ และตับอักเสบบี และตรวจจำเพาะ โดยการทดสอบหาแอนติบอดีของเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
ตับอักเสบดี
ไวรัสตับอักเสบดี เป็นไวรัสที่ไม่สมบูรณ์ กล่าวคือ ไม่สามารถติดเชื้อเพิ่มจำนวนในเซลล์ตับได้โดยลำพัง จะต้องติดเชื้อร่วมกับตับอักเสบบี แล้วจึงจะมีการเพิ่มจำนวนของไวรัส ทั้งตับอักเสบดีและบี ดังนั้นไวรัสตับอักเสบดี จึงมีวิธีการติดต่อ เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบบี
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดี ร่วมกับไวรัสตับอักเสบบี อาจเป็นการติดเชื้อร่วมพร้อมกัน หรือเป็นการติดเชื้อตับอักเสบดีซ้ำเติม ในผู้ที่เป็นพาหะติดเชื้อไวรัสตับอีกเสบบีอยู่ก่อนแล้ว เชื้อตับอักเสบดี ทำให้เกิดโรคตับอักเสบรุนแรงกว่าเชื้ออื่นๆ และอาจมีการติดเชื้อเรื้อรัง แล้วกลายเป็นตับแข็งได้ในอัตราค่อนข้างสูง
การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี จะป้องกันการติดเชื้อตับอักเสบดีได้ด้วย
ตับอักเสบอี
ไวรัสตับอักเสบอี ติดต่อโดยการรับประทานอาหาร หรือน้ำดื่ม ที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อน มีรายงานการระบาดในหลายประเทศ เช่น พม่า เนปาล ปากีสถาน อินเดีย รัสเซีย ฯลฯ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาวถึงวัยกลางคน ถ้าโรคนี้เกิดขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ จะมีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ ๒๐ ยังไม่พบว่า ไวรัสตับอักเสบอี ทำให้เกิดการติดเชื้อชนิดเรื้อรัง และยังไม่ทราบว่า ทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยไม่ปรากฏอาการหรือไม่ ในปัจจุบันยังไม่มีน้ำยา ที่จะใช้สำหรับการวินิจฉัยโรคตับอักเสบอี ออกจำหน่าย การวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการ ยังกระทำกันในเชิงวิจัยเท่านั้น