เล่มที่ 19
เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ในโรงพยาบาลจะเห็นการทำงานของแพทย์และพยาบาล ที่ใช้เครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรค และรักษาโรค มีโรคหลายอย่างที่ไม่สามารถตรวจวินิจฉัยได้ โดยไม่ใช้เครื่องมือทางการแพทย์ ยิ่งกว่านั้น โรคที่มีความสลับซับซ้อนมาก ก็ยิ่งต้องอาศัยเครื่องมือทางการแพทย์ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ถ่ายภาพอวัยวะภายในร่างกาย เพื่อตรวจดูรายละเอียด จึงจะสามารถวินิจฉัยได้ว่า ผู้ป่วยเป็นโรคอะไร ในการรักษาโรคก็เช่นเดียวกัน ย่อมต้องอาศัยเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อติดตามดูความก้าวหน้าในการรักษา เพื่อแพทย์จะได้ทราบว่า ได้ให้การรักษาพยาบาลได้ถูกต้อง ได้ผลดีหรือไม่ และในปัจจุบันนี้มีเครื่องมือทางการแพทย์หลายอย่าง ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้การรักษาโรค มีประสิทธิภาพมากขึ้น


แสดงภาพของหัวใจขณะทำงาน

ตัวอย่างของเครื่องมือทางการแพทย์ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีดังต่อไปนี้

๑. เครื่องโมนิเตอร์ผู้ป่วย

            มีการใช้เครื่องสำหรับตรวจวัดผู้ป่วยในหอผู้ป่วยหนัก เพื่อให้ทราบความมากน้อยของโรค และยังช่วยติดตามผลการรักษาโรคด้วย สามารถทราบได้ว่า โรคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สามารถบำบัดโรคได้ทันท่วงที เครื่องดังกล่าวเรียกว่า เครื่องโมนิเตอร์ ตัวอย่างเช่น เครื่องตรวจวัดอัตราเต้นของหัวใจผู้ป่วยได้ตลอดเวลา ซึ่งต้องอาศัยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยด้วย

เครื่องโมนิเตอร์ที่ใช้กัน แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

            (๑) เครื่องโมนิเตอร์ข้างเตียงผู้ป่วย มีเครื่องตรวจวัดต่างๆ วางอยู่ข้างเตียงผู้ป่วย สำหรับโมนิเตอร์ผู้ป่วยแต่ละเตียง โดยทั่วไปเครื่องโมนิเตอร์ยังแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ เครื่องโมนิเตอร์ข้อมูลพื้นฐาน และเครื่องโมนิเตอร์ข้อมูลพิเศษ เครื่องโมนิเตอร์ข้อมูลพื้นฐานนั้นใช้โมนิเตอร์ข้อมูล ที่บ่งถึงการมีชีวิตอยู่ของผู้ป่วย ซึ่งได้แก่ อัตราเต้นของหัวใจ คลื่น อี.ซี.จี. และอัตราการหายใจ อาจรวมทั้งความดันเลือดแดงด้วย ส่วนเครื่องโมนิเตอร์ข้อมูลพิเศษนั้น เป็นเครื่องโมนิเตอร์เฉพาะโรคของผู้ป่วย เช่น เครื่องโมนิเตอร์คลื่นไฟฟ้าสมอง และเครื่องโมนิเตอร์ความดันในกะโหลกศีรษะ เป็นต้น

            (๒) เครื่องโมนิเตอร์ที่มีสถานีกลาง ซึ่งประกอบด้วย เครื่องตรวจวัดต่างๆ สามารถตรวจวัดข้อมูลจากผู้ป่วยหลายคน เช่น ๔-๘ คน โดยมีเครื่องตรวจวัดเพียงบางส่วนตั้งอยู่ข้างเตียงผู้ป่วย แล้วเลือกส่งข้อมูลจากตัวผู้ป่วย เพื่อเข้าไปแสดงที่สถานีกลาง โดยอาจแสดงบนจอภาพขนาดใหญ่ และที่สถานีกลางนี้ สามารถเลือกข้อมูลเก็บบันทึกไว้ เพื่อวิเคราะห์ หรือตรวจดูในภายหลังได้

ผู้ป่วยกำลังรับการตรวจจากเครื่องโมนิเตอร์หน้าที่สมอง


            การโมนิเตอร์ด้วยระบบสถานีกลางนี้ มีประโยชน์มาก เพราะทำให้ผู้ดูแลผู้ป่วย ซึ่งได้แก่ แพทย์และพยาบาล สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของโรคได้ที่สถานีกลาง สำหรับการทำงานของระบบโมนิเตอร์ผู้ป่วย ทั้งระบบข้างเตียง และระบบที่มีสถานีกลาง มักมีระบบสัญญาณเตือนร่วมอยู่ด้วย คือ สามารถปรับตั้งเครื่องโมนิเตอร์ไว้ เมื่อข้อมูลจากตัวผู้ป่วยมีค่าผิดไปจากข้อมูลที่ต้องการ ก็จะทำให้เครื่องส่งสัญญาณเตือน ทั้งเสียงและแสง ตัวอย่างเช่น เมื่ออัตราเต้นของหัวใจผู้ป่วยเร็วไป หรือช้าไปกว่าที่ได้ปรับตั้งเอาไว้ เป็นต้น

๒. เครื่องอัลตราซาวนด์ตรวจสภาพการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด

            อัลตราซาวนด์มีบทบาทมาก ทั้งในด้านการตรวจวินิจฉัย และการรักษาโรค คลื่นอัลตราซาวนด์เป็นการสั่นสะเทือนทางเชิงกล ที่มีความถี่มากกว่าคลื่นเสียงที่มนุษย์สามารถได้ยินได้ สำหรับการใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ เพื่อตรวจสภาพการทำงานของหัวใจ และหลอดเลือดนั้น ทำให้ได้ข้อมูลหลายอย่าง เช่น ได้ภาพของหัวใจ รวมทั้งส่วนประกอบต่างๆ เช่น ลิ้นหัวใจ เป็นต้น ได้ภาพการทำงานของหัวใจขณะหัวใจบีบตัว และคลายตัว การเปิดและปิดของลิ้นหัวใจ ตรวจได้ว่า ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ รวมทั้งการไหลของเลือดในหัวใจ ทางด้านหลอดเลือดนั้น ทำให้ทราบความเร็วการไหลของเลือดในหลอดเลือด เมื่อหลอดเลือดมีการอุดตันก็ทราบได้

เครื่องอัลตราซาวนด์ ตรวจสภาพการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด

๓. เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ใช้ร่วมกับการออกกำลังกาย

            เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (อี.ซี.จี.) เป็นเครื่องที่มีประโยชน์มาก เพราะช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจได้หลายอย่าง ในขบวนการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ มีการ สร้างไฟฟ้าขึ้นด้วย เมื่อใช้แผ่นอิเล็กโทรดวางไว้ที่ผิวหนัง จะสามารถรับคลื่นไฟฟ้าที่แผ่กระจายมาจากหัวใจ เมื่อถูกนำเข้าไปในเครื่อง อี.ซี.จี. จะถูกขยายด้วยระบบแอมปลิไฟเออร์ แล้วแสดงให้ทราบ โดยการเขียนภาพของคลื่นไฟฟ้าบนกระดาษ อย่างไรก็ดี โรคหัวใจชนิดหนึ่ง คือ โรคหัวใจที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจได้รับเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอ จากการที่หลอดเลือดหัวใจตีบ ถ้าโรคเป็นมากหรือปานกลาง ก็สามารถตรวจวัดได้ด้วยเครื่อง อี.ซี.จี. ขณะเมื่อผู้ป่วยนั่งหรือนอน อย่างไรก็ดี ถ้าผู้ป่วยเป็นน้อย หรือเริ่มเป็น ก็อาจตรวจไม่พบด้วยวิธีนี้ สำหรับผู้ป่วยดังกล่าวนี้ถ้าต้องไปออกแรงมาก ก็อาจทำให้เกิดอันตรายรุนแรง บางครั้งถึงแก่ชีวิต โดยที่ไม่สามารถรักษาได้ทันท่วงที ดังนั้น จึงได้มีการคิดค้นวิธีการ ตรวจวินิจฉัยโรคนี้โดยการตรวจวัด อี.ซี.จี. ขณะผู้ป่วยออกกำลังกาย

๔. เครื่องถ่ายภาพอวัยวะที่อาศัยพลังแม่เหล็ก

            เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ถ่ายภาพอวัยวะของร่างกายที่คุ้นเคยกันดี คือ เครื่องเอกซเรย์ ต่อมาได้มีเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (เครื่อง ซี.ที.) เพื่อช่วยในการถ่ายภาพตัดขวางของร่างกาย ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคต่างๆ ได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นภาพของเนื้อเยื่ออ่อน อาจเห็นรายละเอียดไม่ชัดเจน นอกจากนั้น เครื่อง ซี.ที. สามารถสร้างภาพแต่ตามแนวตัดขวางเท่านั้น จึงอาจเห็นรายละเอียดของอวัยวะบางอย่างไม่ชัดเจน ต่อมาได้มีการนำเครื่อง ถ่ายภาพอวัยวะโดยอาศัยพลังแม่เหล็กมาใช้ ซึ่งเครื่องดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกทางเทคนิคว่า เครื่องแมกเนติค เรโซนานซ์ อิเมจจิง (เอ็ม.อาร์.ไอ.) ที่สามารถถ่ายภาพของเนื้อเยื่ออ่อน ได้ชัดเจนดี อีกทั้งสามารถถ่ายภาพอวัยวะในระนาบต่างๆ ได้ ทั้งตามแนวยาว หรือตามแนวเฉียง ทำให้เห็นรายละเอียดของอวัยวะต่างๆ ได้ดีขึ้น

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจโดยแสดงข้อมูลที่จอภาพ

๕. เครื่องไตเทียม

            ในปัจจุบันนี้มีเครื่องมือแพทย์หลายอย่างที่ทำหน้าที่เป็นอวัยวะเทียมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทำหน้าที่แทนอวัยวะนั้นๆ เมื่อสูญเสียหน้าที่ไปจากโรค หรือจากอุบัติเหตุ ตัวอย่างในเรื่องนี้ ได้แก่ เครื่องไตเทียม ซึ่งทำหน้าที่แทนไตของร่างกาย เครื่องไตเทียมที่ใช้กันใน ปัจจุบันนี้ อาศัยการแลกเปลี่ยนสารระหว่างเลือดกับไดอะลัยเซต โดยอาศัยการแพร่กระจาย การกรอง หรือโดยออสโมซิส ทำให้ของเสียในร่างกายจะถูกส่งจากเลือดผ่านไดอะลัยเซอร์ เข้าไปยังไดอะลัยเซต จึงทำให้ของเสียในร่างกายที่คั่งอยู่ซึ่งไม่สามารถขับออกได้โดยไต ธรรมชาติก็จะสามารถขับออกได้โดยไตเทียม เครื่องไตเทียมที่ใช้กันนั้น ใช้หลักการของ การไดอะลัยซิสของเลือด ดังนั้น จึงเรียกว่า เครื่องเฮโมไดอะลัยซิส

๖. เครื่องสลายนิ่ว

            โรคนิ่วเป็นโรคที่พบบ่อย โดยเฉพาะโรคนิ่วของทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเป็นก้อนหินปูน อยู่ภายในไต หรือในกระเพาะปัสสาวะ ในอดีตนั้นการรักษาโรคนิ่วใช้วิธีการผ่าตัดเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันได้มีเครื่องที่ออกแบบมา เพื่อใช้สำหรับสลายนิ่ว ดังนั้น การรักษาโรคนิ่วในปัจจุบันส่วนใหญ่ จึงสามารถใช้เครื่องสลายนิ่วได้

เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

            เครื่องสลายนิ่วแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ เครื่องที่สอดใส่เครื่องมือผ่านผิวหนังเข้าไปในร่างกาย เพื่อเข้าไปสลายนิ่ว และเครื่องที่ปล่อยพลังงานของแรงกระแทกจากภายนอกร่างกายเข้าไป เพื่อทำให้นิ่วแตก เครื่องที่ใช้มี ๓ ชนิด คือ

            (๑) ใช้การปล่อยไฟฟ้าแรงสูงให้เกิดแรงกระแทกผ่านตัวกลาง ซึ่งเป็นน้ำ เข้าไปกระทบก้อนนิ่ว

            (๒) ใช้แรงกระแทก โดยการปล่อยคลื่นไฟฟ้าช่วงสั้นส่งไป ทำให้แผ่นโลหะบางๆ สั่นสะเทือน แล้วจึงปล่อยคลื่นแรงกระแทก ส่งไปยังก้อนนิ่วอีกต่อหนึ่ง

            (๓) เครื่องอัลตราซาวนด์ที่อาศัยการสั่นสะเทือนของผลึก ซึ่งมีคุณสมบัติสั่นสะเทือนได้ด้วยความถี่สูง เมื่อป้อนไฟฟ้าความถี่สูงเข้าไป แรงสั่นสะเทือนดังกล่าวจะทำให้นิ่วแตกสลายได้

: เครื่องสลายนิ่ว ชนิดใช้แรงกระแทกโดยการปล่อยคลื่นไฟฟ้าช่วงสั้น
: ก้อนนิ่ว ที่ได้จากการสลายนิ่วด้วยเครื่อง