เล่มที่ 36
โรคไต
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            โรคไตเป็นโรคหนึ่งที่พบมากในประเทศไทย ประมาณกันว่ามีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะต่างๆ รวมกันมากถึงร้อยละ ๑๗.๕ ของประชากรไทย โดยมีผู้ป่วยรอรับไตบริจาค เพื่อการปลูกถ่ายไตใหม่ และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีไตเทียมมากขึ้นทุกปี เฉพาะค่าใช้จ่ายที่ใช้สำหรับการรักษา ด้วยการทำไตเทียม คิดเป็นจำนวนเงินสูงถึงหลายพันล้านบาทต่อปี โรคไตจึงเป็นปัญหา ที่สำคัญอย่างยิ่ง ต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย

            ไตเป็นอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ ร่างกายทุกคนจะมีไตอยู่ที่บริเวณบั้นเอวแต่ละข้าง ข้างละ ๑ อัน มีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วแดงขนาดใหญ่ ความยาวประมาณ ๑ คืบ ไตมีหน้าที่หลักในการกรองของเสียออกจากระบบเลือด โดยในแต่ละวัน เลือดที่ไหลออกจากหัวใจ และผ่านหลอดเลือดแดงใหญ่ จะถูกส่งเข้าไปสู่หลอดเลือดแดงของไตแต่ละข้าง ภายในไตจะมีเนฟรอน ซึ่งเป็นหน่วยไตขนาดเล็กจำนวนมหาศาลทำการกรองเลือด แล้วส่งเลือดที่กรองแล้ว ผ่านหลอดเลือดดำของไต กลับเข้าไปสู่หัวใจอีกครั้งหนึ่ง ของเสียที่กรองได้จากการทำงานของร่างกาย ได้แก่ ยูเรีย และครีอะตินิน จะถูกขับออกมาในรูปของน้ำปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะ


ระบบทางเดินปัสสาวะ

            นอกจากกรองของเสียแล้ว ไตยังมีหน้าที่ปรับสมดุลของน้ำในร่างกาย โดยการขับน้ำส่วนที่เกินความต้องการออกมาทางท่อปัสสาวะ รวมทั้งปรับสมดุลของเกลือแร่และกรด-ด่างในร่างกาย โดยขับเกลือแร่ส่วนเกินหลังรับประทานอาหารที่เค็มจัด หรือขับสาร ที่มีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งเกิดจากโปรตีนที่รับประทานเข้าไป นอกจากนี้ไตยังสามารถผลิตสารสำคัญอีกหลายชนิด เช่น ฮอร์โมนเรนิน สำหรับควบคุมความดันโลหิต และการดูดซึมเกลือแร่ของไต ฮอร์โมนอิริโทรพอยอีติน สำหรับการสร้างเม็ดเลือดแดงจากไขกระดูก วิตามินดี สำหรับการดูดซึมแคลเซียม และเสริมสร้างกระดูก

            โดยปกติแล้ว แม้ว่าจะต้องเสียไตไปข้างหนึ่ง เราก็ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ด้วยไตปกติ ข้างที่เหลือ เนื่องจาก ไตสามารถปรับการทำงานให้สมดุลได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ถ้าร่างกายเกิดการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง เช่น มีอาการท้องเดิน หรือเสียเลือดในปริมาณมาก ไตอาจสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ยิ่งไปกว่านั้น การที่ร่างกายได้รับสารพิษบางอย่าง หรือมีอาการอักเสบอย่างรุนแรง จากการติดเชื้อ ก็สามารถทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้เช่นกัน ซึ่งอาจจำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการฟอกเลือด เพื่อกำจัดของเสีย ที่ค้างอยู่ในร่างกายออกโดยเร็ว เพื่อให้ไตสามารถฟื้นตัว และทำงานได้อีกครั้ง


ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยการฟอกไต

            ความจริงแล้ว ผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่มักไม่สามารถฟื้นฟูไตให้กลับมาใช้งานใหม่ได้ สาเหตุเนื่องจากเป็นโรคไตเรื้อรัง โดยไตของผู้ป่วยจะถูกทำลายช้าๆ อย่างต่อเนื่องและถาวร จากผลของโรคข้างเคียงและปัจจัยต่างๆ จนในที่สุด ผู้ป่วยต้องรักษาด้วยการฟอกเลือด หรือรอการปลูกถ่ายไตใหม่จากผู้บริจาคเท่านั้น ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเป็นโรคไตเรื้อรัง คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดต่างๆ ทำให้หลอดเลือดแดงเล็กของผู้ป่วยหนาขึ้นและแข็งตัว เลือดจึงไหลไปเลี้ยงไตและอวัยวะต่างๆ ได้น้อยลง ส่งผลให้เนื้อไตถูกทำลายทีละน้อยๆ แต่ยังไม่แสดงอาการของโรคอย่างรุนแรง จนกว่าการทำงานของไตเหลือน้อยกว่า ๑ ใน ๔ นอกจากนี้ยังมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ไตที่อักเสบกลายเป็นแผลพังผืด และเสื่อมสภาพไปในที่สุด


เครื่องฟอกไต

            ภาวะไตเรื้อรังยังอาจเกิดจากการอุดตัน ในทางเดินปัสสาวะ เช่น จากนิ่ว ต่อมลูกหมากโต หรือมีเนื้องอกที่ทางเดินปัสสาวะ จนทำให้เกิดการอักเสบ ของระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งลุกลามไปจนทำลายเนื้อไตได้ และยังอาจเกิดการอักเสบของไต จากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งเกิดจากการมีถุงน้ำ เนื้องอกหรือมะเร็งที่ไต การได้รับยาหรือสารพิษอย่างต่อเนื่อง ตลอดจน การเป็นโรคไขข้อและมีกรดยูริกในเลือดสูง รวมทั้ง ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ผู้ที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปีขึ้นไป หรือผู้ที่สมาชิกในครอบครัว เคยป่วยเป็นโรคไต


อาการแรกเริ่มของโรคไต 

            ได้แก่ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร บวมและคันตามตัว ปัสสาวะมากในเวลากลางคืน เหล่านี้ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยหาโรคไตโดยเร็ว ทั้งการตรวจหาโปรตีนหรือเม็ดเลือดที่รั่วปนในปัสสาวะ การตรวจวัดค่าครีอะตินินในเลือด เพื่อดูการทำงานของไต และการถ่ายภาพเอกซเรย์ หรือใช้คลื่นเสียงตรวจดูสภาพของไต ถ้าไตของผู้ป่วยยังไม่เสื่อมสภาพมากนัก อาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาควบคุมระดับความดันโลหิต เกลือแร่ และกรด-ด่างในเลือด ร่วมกับการควบคุมอาหารให้เหมาะสม เพื่อชะลอการเสื่อมของไต แต่ผู้ป่วยโรคไตบางรายอาจไม่มีอาการอะไรนำมาก่อน


ระบบทางเดินปัสสาวะ

            ในกรณีที่ไตของผู้ป่วยเสียการทำงานไปมากแล้ว แพทย์จะให้การรักษาผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายนี้ด้วยวิธีการล้างไต ซึ่งเป็นการฟอกเลือดของผู้ป่วย เพื่อล้างของเสียที่สะสมอยู่ออกจากร่างกาย อาจใช้วิธีให้เลือดของผู้ป่วยออกมาผ่านตัวกรองในเครื่องไตเทียม แล้วหมุนเวียนเลือดดีกลับเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย หรืออาจใช้วิธีล้างไตด้วยการใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้อง รอให้ของเสียในเลือดผ่านเยื่อบุช่องท้องเข้าไปยังน้ำยาล้างไต เพื่อแลกเปลี่ยนกับน้ำยาดี แล้วถ่ายน้ำยาเสียออก ก่อนที่จะทำซ้ำอีกหลายครั้ง ผู้ป่วยจะต้องรับการรักษาเช่นนี้ไปตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะได้รับการผ่าตัดนำไตจากญาติหรือผู้บริจาคที่มีเนื้อเยื่อเข้ากันได้ มาปลูกถ่ายให้ใหม่ในกรณีที่ผู้ป่วยอายุน้อย แข็งแรง และไม่มีข้อห้ามของการปลูกถ่ายไต


อาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไต เช่น อาหารรสเค็มจัด อาหารหวานจัด อาหารหมักดอง อาหารที่มีไขมันสูง

            ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงทุกคนควรตรวจร่างกายเป็นประจำ เพื่อหาสัญญาณของการเป็นโรคไต และโรคที่อาจก่อให้เกิดอาการไตอักเสบได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ โรคนิ่ว และเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้ ควรดูแลรักษาร่างกาย เพื่อให้ไตทำงานเป็นปกติ เช่น พยายามไม่ให้ร่างกายขาดน้ำเมื่อมีอาการท้องเดิน หรือเมื่ออยู่ในที่ที่อากาศร้อนจัด ไม่รับประทานยาแก้ปวดเป็นระยะเวลานานเกินไป ไม่ควรใช้ยาที่โฆษณาอวดสรรพคุณต่างๆ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อไต หรือไม่ใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อไต ตลอดจนงดการสูบบุหรี่ และลดการบริโภคอาหารที่เค็มจัด มีไขมันสูง หรือมีกรดยูริกมาก