เล่มที่ 34
ปริศนาคำทายของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ปริศนา คือ ถ้อยคำหรือรูปภาพที่แต่งหรือประดิษฐ์ขึ้นมาให้มีเงื่อนงำ - ความหมายแฝง ที่ผู้ทายต้องมีความรู้รอบตัว และมีเชาวน์ไวไหวพริบในการตีความจนสามารถทายปริศนานั้นได้ ปริศนาที่เป็นข้อความมักขึ้นต้นว่า "อะไรเอ่ย" แล้วตามด้วยถ้อยคำที่คล้องจองกัน ผู้ตอบต้องสามารถคิดเชื่อมโยง และมีความสามารถในการใช้ภาษา จึงจะโต้ตอบเล่นทายปริศนากันได้สนุก

            การเล่นทายปริศนามีมานานนับตั้งแต่สมัยกรีกจนถึงปัจจุบัน และมีอยู่ในประเทศต่างๆ การทายปริศนาเน้นการฝึกสมอง และความสนุกสนาน และเป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในกลุ่ม

            คนไทยนิยมเล่นทายปริศนากันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน นอกจากผู้ถามต้องมีความสามารถทางการคิด และการใช้ภาษาแล้ว ยังต้องมีความเข้าใจ ด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอีกด้วย ปริศนาคำทายคำตอบเดียวอาจใช้ภาษาถิ่น และสำนวนที่แตกต่างกัน ในแต่ละท้องถิ่น ปริศนาคำทายในแต่ละภาคจึงมีลักษณะเฉพาะตามประเพณี ความเชื่อ และธรรมชาติแวดล้อมในภูมิภาคนั้นๆ

            ปริศนาคำทายแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ แบ่งตามเนื้อหา และแบ่งตามรูปแบบ
            
๑. การแบ่งปริศนาคำทายตามเนื้อหา 

            เป็นการแบ่งโดยพิจารณาว่า ข้อความและคำเฉลยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม มนุษย์ สัตว์ สิ่งของ หรือปรากฏการณ์ต่างๆ ดังตัวอย่าง เช่น

เนื้อหาเกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม

อะไรเอ่ย   สูงเยี่ยมเทียมฟ้า  ต่ำกว่าหญ้านิดเดียว 
(เฉลย : ภูเขา)


เนื้อหาเกี่ยวกับ สัตว์

อะไรเอ่ย    สี่คนหาม  สามคนแห่  สองคนพัด  คนหนึ่งปัดแส้    
(เฉลย  :  ช้าง ๔ ขา   งวงงา   หู   หาง)


เนื้อหาเกี่ยวกับ พืช

อะไรเอ่ย    ต้นเท่าขา  ใบวาเดียว          (เฉลย : ต้นกล้วย)
                  ต้นเท่าแขน  ใบแล่นเสี้ยว     (เฉลย : ต้นอ้อย)
                  ต้นเท่าครก  ใบปรกดิน           (เฉลย : กอตะไคร้)


๑. ต้นกล้วย
๒. ต้นอ้อย
๓. ต้นตะไคร้

๒. การแบ่งปริศนาคำทายตามรูปแบบ  

            เป็นการแบ่งโดยพิจารณาจากรูปแบบการแต่งปริศนา ได้แก่ ปริศนาที่สื่อด้วยถ้อยคำ ซึ่งอาจเป็นร้อยแก้ว หรือคำประพันธ์ร้อยกรอง เช่น โคลงทาย ผะหมี โจ๊ก และอีกรูปแบบหนึ่งเป็นปริศนาคำทายที่สื่อด้วยภาพ

            ปริศนาคำทายมีองค์ประกอบหลัก ๒ ส่วน คือ ปริศนา และคำเฉลย ปริศนา เป็นถ้อยคำ ข้อความ หรือภาพที่อธิบาย บอกใบ้ และบางครั้งลวงให้ผู้ตอบหลงทาง ส่วน คำเฉลย นั้นช่วยสร้างความสนุก ปลุกเร้าความสนใจ ให้แง่คิด ผู้ที่ตอบปริศนาได้ จึงมีความพึงพอใจที่ทำได้สำเร็จ

            เนื้อหาของปริศนาคำทายเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งที่เป็นธรรมชาติ สิ่งของ บุคคล และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ บางครั้งมีการนำลักษณะพิเศษของภาษามาสร้างเป็นปริศนา เช่น คำพ้อง คำผวน หรือนำคำไทยที่ออกเสียงคล้ายกับภาษาอื่น มาแต่งเป็นปริศนาคำทาย เนื้อหาอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การคิดสร้างสรรค์ถ้อยคำที่แหวกแนวและหลายความหมายมาแต่งปริศนา การ            ตอบคำทายรูปแบบนี้ ไม่มีหลักเกณฑ์ความรู้ตามแบบแผน เช่น "อะไรเอ่ย อยู่บนบ้าน" คำเฉลยคือ  "ไม้โท"

            การเล่นปริศนาคำทายบ่งบอกถึงความสามารถทางภาษาไทย และการคิดสร้างสรรค์ของผู้แต่งและผู้ตอบ เพราะมีการเล่นเสียงสัมผัส การใช้คำซ้ำ การใช้คำผวน การใช้ความเปรียบ การใช้คำกำกวม และการใช้ข้อความ ที่มีความหมายขัดแย้งกัน


การเล่นทายปริศนาที่เผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์

            ปัจจุบันสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปทั้งในด้านการดำเนินชีวิตประจำวัน การใช้ภาษา สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เนื้อหาและรูปแบบของปริศนาคำทาย ตลอดจน การนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ก็แปลกใหม่ และเพิ่มรูปแบบหลากหลายขึ้นด้วย การเล่นปริศนาคำทายให้สนุก ผู้ถามและผู้ตอบจึงต้องมีไหวพริบ ช่างสังเกต สนใจสิ่งแวดล้อม และมีความรู้เรื่องภาษา ถ้อยคำ คำศัพท์ การแต่งคำประพันธ์ จึงจะทำให้สามารถถามและตอบได้คล่อง

            ปริศนาคำทายจึงเป็นการละเล่นของไทยแบบหนึ่งที่มีพื้นฐานสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย