เล่มที่ 34
เครื่องประดับ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความหมายและวัตถุประสงค์ในการใช้เครื่องประดับ

            หากจะกล่าวถึงเครื่องประดับโดยทั่วไป เด็กๆ คงนึกถึงของสวยงามที่มนุษย์ใช้ตกแต่งบนร่างกาย นอกเหนือจากเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่คนเราใช้อยู่เป็นประจำ เครื่องประดับมีหลายความหมาย โดยทั่วไปหมายถึง สิ่งที่มีความสวยงาม ใช้ตกแต่งประดับบนร่างกาย อีกความหมายหนึ่งของเครื่องประดับ เป็นความหมายในเชิงสร้างสรรค์ และศิลปะ หมายถึง วัตถุที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น ใช้สวมใส่บนร่างกาย มีความสัมพันธ์ต่อจิตใจ สร้างให้เกิดอารมณ์ต่างๆ ทั้งต่อผู้ใส่เองและผู้ที่พบเห็น


เครื่องทองและเครื่องประดับทองคำ ของกษัตริย์ มเหสี พระราชวงศ์ และขุนนางสมัยอยุธยา

            มนุษย์มีวัตถุประสงค์ในการใช้เครื่องประดับอยู่ ๓ กลุ่มใหญ่ๆ คือ เพื่อการสวมใส่ เพื่อการลงทุน และเพื่อการสะสม อาจกล่าวได้ว่า การใช้เครื่องประดับ เพื่อการสวมใส่มีความสำคัญที่สุด ซึ่งนอกจากจะใช้ประดับตกแต่งแล้ว ยังเพื่อประโยชน์ใช้สอย เช่น ในอดีต มีการใช้กระดุมทองคำรูปดอกบัวที่ถอดเก็บได้เมื่อต้องนำเสื้อไปซัก นอกจากนี้ เครื่องประดับยังเป็นสิ่งแทนความผูกพันทางจิตใจ เช่น การใช้สร้อยคอที่มีรูปภาพบุคคลอันเป็นที่รัก เพื่อเป็นตัวแทนความระลึกถึงบุคคลนั้น ส่วนการใช้เครื่องประดับ เพื่อการลงทุน และการสะสมนั้น มีวัตถุประสงค์ทางการค้า เป็นการเพิ่มมูลค่าทรัพย์สิน หรือความสุขตามรสนิยมส่วนบุคคล


เครื่องถม มีวิธีการทำ โดยใช้การลงยาถมที่มีสีดำทับลงไปในร่องบนผิวงาน เพื่อให้ลวดลายที่เป็นเงิน หรือทองคำเด่นชัดขึ้น


            เครื่องประดับไทยแต่เดิมมีคำศัพท์ที่อธิบายความหมายอยู่ ๒ คำ คือ ศิราภรณ์ หมายถึง เครื่องประดับศีรษะ และถนิมพิมพาภรณ์ หมายถึง เครื่องประดับกาย ปัจจุบันเรียกรวมกันว่า เครื่องประดับ หมายถึง เครื่องตกแต่งร่างกาย ซึ่งผลิตจากวัสดุมีค่า เช่น ทองคำ อัญมณี ที่มีความสวยงามและแสดงถึงทักษะฝีมืออันประณีต รวมทั้งแสดงออกในคติความเชื่อ และความเป็นส่วนหนึ่ง ของสังคมไทย นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสถานภาพของผู้สวมใส่ เช่น เป็นกษัตริย์ พระราชวงศ์ ขุนนางชั้นสูง หรือสามัญชน  ซึ่งเครื่องประดับบางอย่าง ในกฎมณเฑียรบาลจะระบุไว้ว่า สามัญชนไม่สามารถสวมใส่ได้ เครื่องประดับยังสามารถใช้สวมใส่ เพื่อแสดงออกถึงความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนา และความเชื่อ เช่น พระเครื่อง เครื่องรางของขลังต่างๆ

ประวัติของเครื่องประดับไทย มีความต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็น ๓ สมัย คือ สมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์

ทองเพชรบุรี เป็นเครื่องประดับทองคำ
ที่มีคุณภาพสูง มีลวดลายและรูปแบบทองโบราณ ซึ่งมีความประณีต สวยงาม

สมัยสุโขทัย

            พออนุมานได้ว่า เครื่องประดับในสมัยสุโขทัย มีที่มาจากศิลปะของชาวไทยพื้นเมือง ผสมผสานกับศิลปะขอมในสมัยละโว้  และศิลปะของมอญ สมัยทวารวดี ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง โดยสรุปอย่างคร่าวๆ ได้ ๓ รูปแบบ คือ เครื่องประดับของเทวรูป จากอิทธิพลศาสนาพราหมณ์ เครื่องประดับของเทวดา กษัตริย์ บุคคลชั้นสูง และเครื่องประดับของสามัญชน 

สมัยอยุธยา

            มีหลักฐานปรากฏอยู่มาก ทั้งจากโบราณวัตถุ ภาพเขียน ประติมากรรม กฎหมายตราสามดวง กฎมณเฑียรบาล จดหมายเหตุ บันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี และค้าขายในช่วงเวลานั้น โดยแบ่งได้ ๒ ประเภทใหญ่ๆ  คือ 

๑) เครื่องประดับสำหรับกษัตริย์ มเหสี พระราชวงศ์ และขุนนาง ๒) เครื่องประดับสำหรับสามัญชน


ช่างทำทองขึ้นรูปเครื่องประดับด้วยมือ

สมัยรัตนโกสินทร์ 

            ในสมัยรัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๓ ยังใช้เครื่องประดับที่สืบต่อมาจากสมัยอยุธยาทั้งหมด จนถึงรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การใช้เครื่องประดับจึงเริ่มเปลี่ยนแปลง เพราะสมัยนี้มีการติดต่อกับต่างชาติมากขึ้น ที่สำคัญคือ มีพระราชดำริให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นในประเทศไทย เพื่อพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบ ในการปฏิบัติราชการแก่พระราชวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสยุโรป ทำให้มีการใช้เครื่องประดับตามอย่างชาวตะวันตกมากขึ้น เช่น การใช้เข็มกลัดติดเสื้อ การประดับเครื่องแบบ ด้วยเครื่องหมายของหน่วยงาน การจัดทำเหรียญที่ระลึกในโอกาสต่างๆ ปัจจุบันการใช้เครื่องประดับ แบบที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยานั้น ก็ยังคงมีอยู่ แต่มักใช้กันเฉพาะในโอกาสสำคัญเท่านั้น ส่วนในชีวิตประจำวัน มีการสวมใส่เครื่องประดับแบบดั้งเดิม และแบบที่ผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมของชาวตะวันตก   


ชิ้นงานที่ขึ้นรูปแล้ว พร้อมที่จะเชื่อมต่อกันให้เป็นเครื่องประดับรูปแบบต่าง


  การผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับในประเทศไทย

ประเทศไทยมีการผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับหลายประเภทคือ

๑. เครื่องประดับไทยแบบโบราณ 

            ในประเทศมีแหล่งผลิตอยู่หลายแห่ง เช่น เครื่องทองโบราณ ที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดเพชรบุรี เครื่องถม ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เครื่องเงินแบบล้านนา ที่ถนนงัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ การทำเครื่องประดับทองคำแบบโบราณ ที่อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย