เล่มที่ 30
หอพระไตรปิฎก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ในสมัยก่อน วัดเป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนของเด็กไทย คนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนานิยมสร้างคัมภีร์ หรือหนังสือทางศาสนา โดยเฉพาะพระไตรปิฎก ถวายให้แก่วัด เพื่อใช้ในการศึกษาเล่าเรียน การสร้างหนังสือถวายวัดไม่เพียงแต่จะเป็นการส่งเสริม ให้มีการสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องเท่านั้น ยังมีความเชื่อว่า จะส่งผลให้ได้รับบุญกุศลแห่งการกระทำนั้น และบุญที่ทำเหล่านั้น ยังเผื่อแผ่แบ่งให้แก่ผู้อื่นได้ตามความปรารถนาด้วย


ตัวอย่างหนังสือพระไตรปิฎกที่จารลงบนคัมภีร์ใบลาน


หอพระไตรปิฎก เป็นที่เก็บหนังสือพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระธรรม   เพราะพระไตรปิฎกคือ หนังสือที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ทั้งหมด  แบ่งออกเป็น ๓ หมวดใหญ่ๆ คือ

            ๑) พระวินัยปิฎก หรือหมวดพระวินัย มีเนื้อหาเกี่ยวกับบทบัญญัติต่างๆ เกี่ยวกับพระสงฆ์

            ๒) พระสุตตันตปิฎก หรือหมวดพระสูตร มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ที่ตรัสแก่บุคคลต่างๆ และ

            ๓) พระอภิธรรมปิฎก หรือหมวดพระอภิธรรม มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอธิบายหลักธรรมต่างๆ

            คนสมัยโบราณนิยมสร้างหอพระไตรปิฎกไว้กลางสระน้ำ เป็นวิธีการป้องกันมิให้มด ปลวก หนู หรือแมลงเข้าไปกัดกินหนังสือ ทั้งยังช่วยรักษาอุณหภูมิภายในหอพระไตรปิฎกไม่ให้ร้อนมาก เป็นวิธีการรักษาหนังสือให้คงทน ปลอดภัย และมีอายุการใช้งานได้นาน


หอพระไตรปิฎก วัดหน้าพระธาตุ บ้านตะคุ ต.ตะคุ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา 

            ปัจจุบันวัดไม่ได้เป็นสถานศึกษาที่สำคัญเหมือนดังแต่ก่อน  การสร้างหนังสือถวายวัด ก็เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการพิมพ์ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แทนการเขียนด้วยมือบนกระดาษข่อย หรือการจารลงบนใบลาน หอพระไตรปิฎกจึงลดความสำคัญลง และมักไม่ค่อยมีการสร้างขึ้นใหม่ ส่วนวัดที่มีหอพระไตรปิฎกอยู่แต่เดิม ก็มักปล่อยให้ทรุดโทรมปรักหักพังไปตามกาลเวลา อย่างไรก็ตาม ยังคงมีวัดบางแห่ง ที่เห็นความสำคัญของหอพระไตรปิฎก และทำนุบำรุงรักษาไว้ ให้มีสภาพดี และใช้งานได้ยาวนานสืบไป ที่สำคัญคือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ในพระบรมมหาราชวัง มีหอพระไตรปิฎกซึ่งเรียกว่า หอพระมณเฑียรธรรม ปัจจุบันยังคงใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกของหลวง ซึ่งสร้างขึ้น เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์