เล่มที่ 30
วัสดุการแพทย์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            มนุษย์รู้จักการนำวัสดุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุตามธรรมชาติ หรือวัสดุที่สังเคราะห์ขึ้น มาช่วยอำนวยความสะดวกสบาย ในการดำรงชีวิตประจำวันของเรา โดยจะเห็นได้ว่า อารยธรรมของมนุษย์ตั้งแต่ยุคสมัยโบราณเป็นต้นมามีการนำวัสดุต่างๆ มาใช้งาน และได้พัฒนามาเป็นลำดับในแต่ละยุค ชื่อของยุคสมัยต่างๆ ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ก็มีการนำเอาประเภทของวัสดุที่มีประโยชน์ใช้สอยอย่างกว้างขวางในสมัยนั้นมาตั้งเป็นชื่อยุค ไม่ว่าจะเป็นยุคหิน (Stone Age) ยุคสำริด (Bronze Age) และยุคเหล็ก (Iron Age) ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคของซิลิคอน (Silicon Age) ซึ่งเป็นวัสดุ ที่นำมาใช้กับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศกันอย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้


นิ้วเท้าเทียมที่ทำจากไม้ ซึ่งพบในซากศพมนุษย์ในยุคโบราณ

            นอกจากความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตแล้ว สิ่งที่มนุษย์เราแสวงหา และต้องการอีกอย่างหนึ่งคือ การปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ในกรณีนี้ ได้มีการประยุกต์ใช้ประโยชน์ของวัสดุประเภทต่างๆ ในการช่วยตรวจ และรักษาความเจ็บป่วยของคนเราอีกด้วย โดยอาจเป็นการใช้งานเพื่อช่วยในการรักษา เสริมสร้าง หรือทดแทนเนื้อเยื่อ อวัยวะ หรือระบบการทำงานของร่างกายที่เสียหาย ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือเสื่อมสภาพไปตามวัย จากการขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า ในอดีต ชาวโรมัน ชาวอียิปต์ ชาวอินคา และชาวจีน มีการใช้วัสดุประเภทต่างๆ ที่สามารถหาได้ในสมัยนั้น เช่น ทองคำ แก้ว ไม้ มาประดิษฐ์เป็นอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนอวัยวะเทียม เพื่อประโยชน์ในการรักษา ทางการแพทย์ เช่น ฟันปลอม ลูกนัยน์ตาปลอม ขาเทียม


เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบ ๑ ห้อง ซึ่งสามารถควบคุมได้ครั้งละ ๑ ห้องหัวใจ

            วัสดุทางการแพทย์ต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุสังเคราะห์ กึ่งสังเคราะห์หรือวัสดุธรรมชาติ เช่น คอมโพสิต พอลิเมอร์ เซรามิก และโลหะ หรือวัสดุที่มีชีวิต เช่น เซลล์ สามารถที่จะนำมาใช้งานทางการแพทย์ได้ แต่วัสดุเหล่านั้น จะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื้อเยื่อหรือเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย เช่น ทำให้เกิดการระคายเคือง อาการแพ้ การติดเชื้อ ความเป็นพิษ ก่อให้เกิดเนื้องอกหรือมะเร็ง นอกจากนี้ ตัววัสดุเองก็จะต้องไม่เสื่อมสภาพ หรือกัดกร่อนเนื่องจากการใช้งาน และสามารถทำการฆ่าเชื้อได้ ดังนั้น ก่อนที่จะนำวัสดุประเภทใดประเภทหนึ่งมาใช้งานทางการแพทย์ได้ จะต้องผ่านขั้นตอนการทดลองและทดสอบต่างๆ และมักใช้ระยะเวลายาวนาน เพื่อให้แน่ใจได้ว่า เมื่อนำมาใช้งานแล้ว จะมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ


เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบ ๑ ห้อง ซึ่งสามารถควบคุมได้ครั้งละ ๑ ห้องหัวใจ

            ในการนำวัสดุการแพทย์มาใช้งานนั้น อาจใช้ตัววัสดุเองในการทำหน้าที่ต่างๆ หรืออาจใช้เป็นวัตถุดิบ ในการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่จะนำไปใช้งานทางการแพทย์อีกต่อหนึ่งก็ได้ ซึ่งถ้าหากเรามองไปรอบตัวแล้ว ก็จะพบเห็นการใช้งานของวัสดุการแพทย์ต่างๆ มากมาย โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน ได้แก่
  • ใช้ในการทดแทนส่วนของร่างกายที่เสียหาย เช่น ข้อเทียม หมอนรองกระดูกสันหลังเทียม เครื่องล้างไตเทียม
  • ช่วยในการรักษาการบาดเจ็บของร่างกาย เช่น ไหมเย็บแผลสำหรับ ยึดติดเนื้อเยื่อที่ฉีกขาด เฝือก แผ่นดามกระดูก และสกรูดามกระดูกสำหรับยึดในบริเวณที่เกิดการแตกหักของกระดูก
  • ปรับปรุงแก้ไขการทำงานของร่างกาย เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจสำหรับควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจให้เป็นไปตามปกติ เลนส์สัมผัสที่ใช้แก้ไขความผิดปกติของสายตา
  • เพื่อเพิ่มความสวยงาม เช่น เต้านมเทียม คางเทียม หรือดั้งจมูกเทียม
  • ช่วยในการวิเคราะห์โรคและการรักษา เช่น สายสวน สายล้าง และท่อยางต่างๆ