เล่มที่ 30
คลื่นสินามิ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            คนไทยรู้จักชื่อ คลื่นสึนามิ กันเป็นอย่างดี นับตั้งแต่เกิดพิบัติภัยครั้งใหญ่จากคลื่นนี้เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ก่อนหน้านั้นคำว่า สึนามิ ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า คลื่นอ่าวจอดเรือ รู้จักกันเฉพาะในหมู่นักวิชาการเท่านั้น

คลื่นสึนามิที่ซัดขึ้นมาบนหาด ที่เกาะภูเก็ต แสดงการเคลื่อนที่ของน้ำเข้าท่วมพื้นที่ชายฝั่งอย่างรวดเร็ว


            คลื่นสึนามิเป็นคลื่นขนาดใหญ่มาก ส่วนใหญ่เกิดจากแผ่นดินไหวรุนแรงที่ใต้ท้องทะเล แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ทำให้มวลน้ำเกิดการเคลื่อนที่แผ่กระจายออกไปโดยรอบจากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว กลายเป็นคลื่นที่มีพลังแรงมาก สามารถเคลื่อนที่ไปได้เป็นระยะทางไกลๆ ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว คลื่นสึนามิจึงแตกต่างจากคลื่นที่เกิดจากลมพัด ผ่านเหนือพื้นผิวน้ำ เพราะคลื่นที่เกิดจากลมนั้น การเคลื่อนไหวของน้ำมีเฉพาะที่ระดับของพื้นผิวน้ำ และเคลื่อนที่ได้ในระยะทางจำกัด ส่วนคลื่นสึนามิเป็นการเคลื่อนไหวของมวลน้ำทั้งหมด ตั้งแต่ระดับพื้นผิวน้ำลงไปจนถึงระดับลึก และเคลื่อนที่ไปได้ไกลมาก อย่างเช่นคลื่นสึนามิที่เกิดในทะเลอันดามันครั้งที่แล้ว มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ซึ่งอยู่ทางตะวันออกสุดของทะเลอันดามัน แต่สามารถเคลื่อนที่ไปได้ไกลจนถึงชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา ในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเริ่มต้นราว ๕,๕๐๐ กิโลเมตร

            อาจเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคลื่นสึนามิกับคลื่นธรรมดาที่เกิดจากลม โดยการทดลองอย่างง่ายๆ ดังนี้คือ นำอ่างซักผ้าขนาดใหญ่มาใส่น้ำประมาณ ๓ ใน ๔ ของความจุของอ่าง แล้วเปิดพัดลมให้ลมพัดไปที่น้ำ หากลมแรงพอ ก็จะทำให้น้ำในอ่าง เกิดการเคลื่อนไหวเป็นริ้วเล็กๆ บนผิวน้ำ เคลื่อนที่ไปตามทิศทางลม นี่คือคลื่นที่เกิดจากลม แต่ถ้าเรากระดกก้นอ่างแรงๆ หลายครั้งติดต่อกัน ให้น้ำในอ่างกระเพื่อมไปมา การเคลื่อนไหวของน้ำจะเป็นไปทั่วทั้งอ่าง และถ้ากระเพื่อมรุนแรงขึ้น บางส่วนของน้ำ ก็อาจกระฉอกออกนอกขอบอ่าง นี่คือคลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้ท้องทะเล


คลื่นสึนามิที่ซัดขึ้นมาบนหาด ที่เกาะภูเก็ต แสดงการเคลื่อนที่ของน้ำเข้าท่วมพื้นที่ชายฝั่งอย่างรวดเร็ว

            บริเวณที่มักเกิดคลื่นสึนามิ แต่เดิมคิดว่ามีอยู่เฉพาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และได้มีความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ที่อยู่ติดต่อกับมหาสมุทรนั้น ในการติดตั้งระบบเตือนภัย และการหนีภัย ส่วนในทะเลอันดามัน ถึงแม้จะมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ้างก็ตาม แต่ไม่เคยมีปรากฏการณ์คลื่นสึนามิที่รุนแรง ประเทศในแถบนี้จึงมิได้มีการเตรียมป้องกันภัยแต่อย่างใด เมื่อเกิดคลื่นสึนามิขึ้น ความเสียหายจึงมีมากเป็นพิเศษ

บทเรียนที่ประเทศไทยได้รับจากพิบัติภัยคลื่นสึนามิมีหลายประการ

            ประการแรก เราจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับคลื่นสึนามิอย่างแท้จริง ว่าเกิดจากอะไร มีลักษณะอย่างไร และทำความเสียหายได้มากน้อยเพียงใด โดยบรรจุไว้เป็นเนื้อหา ของวิชาในหลักสูตรของโรงเรียน รวมทั้งเผยแพร่เป็นความรู้ ทางด้านสารคดีแก่ประชาชนทั่วไปด้วย

            ประการที่ ๒ จะต้องสร้างระบบเตือนภัย และการหนีภัย ให้ประชาชนในท้องถิ่นทราบ เมื่อเกิดมีภัยคลื่นสึนามิขึ้นในส่วนหนึ่งส่วนใดของทะเลอันดามัน ที่อาจมีผลกระทบมาถึงประเทศไทย จะได้หนีภัยได้ทัน

            และประการที่ ๓ จะต้องเตรียมความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการให้ความช่วยเหลือและการบรรเทาสาธารณภัยแก่ประชาชน เมื่อเกิดพิบัติภัยขึ้นแล้ว