เล่มที่ 11
หุ่นยนต์อุตสาหกรรม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            เด็กๆ ส่วนมาก คงจะเคยเห็นหุ่นยนต์ในภาพยนตร์ หุ่นยนต์เหล่านั้นมีรูปร่างหน้าตาเหมือนคน รับคำสั่งให้เดินไปเดินมา หยิบถืออะไรให้เราได้ แต่ในภาพยนตร์นั้น มักจะไม่ใช้หุ่นยนต์จริง แต่เป็นคนแต่งตัวเป็นหุ่นยนต์

            ในชีวิตจริง ก็มีการสร้างหุ่นยนต์ขึ้นใช้ ๒ ประเภท คือ หุ่นยนต์ใช้ในบ้าน และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม

            หุ่นยนต์
ใช้ในบ้าน มักจะมีรูปร่างคล้ายๆ คน มีหัว มีตัว มีแขน มีขา สามารถเคลื่อนไหวไปมาได้ สามารถฟังคำสั่งที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งให้ทำอะไร เช่น คำสั่งหนึ่งอาจจะสั่งให้เคลื่อนไหวไปเปิดประตูบ้าน พาแขกเข้ามาห้องรับแขก เป็นต้น หุ่นยนต์ชนิดนี้ ในต่างประเทศมีใช้กันบ้างแล้ว แต่ในประเทศไทย มีการสั่งเข้ามา เพื่อศึกษาหาความรู้เท่านั้น มิได้ใช้กันในบ้าน

            หุ่นยนต์สำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ใช้ในงานที่ต้องเสี่ยงอันตราย เช่น งานในโรงงานผลิตยาฆ่าแมลง หรืองานที่ต้องการความละเอียดถูกต้อง และรวดเร็ว เช่น งานทำฟันเฟืองนาฬิกา หรืองานที่ต้องทำซ้ำๆ ซากๆ และน่าเบื่อหน่าย เช่น งานประกอบรถยนต์ เป็นต้น
            หุ่นยนต์อุตสาหกรรมนั้น ไม่จำเป็นต้องมีรูปร่างเหมือนคน แต่มักจะมีลักษณะเป็นแขนเดียวที่สามารถเคลื่อนไหว และหยิบจับอะไรได้ การใช้หุ่นยนต์ทำงาน อาจจะโดยการกดปุ่มสั่งให้แขนนั้น เคลื่อนไหวตามจังหวะที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เช่น เลื่อนมือต่ำลง หยิบวัตถุที่วางไว้ข้างหน้า เลื่อนมือสูงขึ้น หมุนไป ๙๐ องศา เอาวัตถุในมือวางลง เหล่านี้ เป็นต้น จังหวะการทำงานของหุ่นยนต์อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ โดยการเปลี่ยนชุดคำสั่ง เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแถบตลับเพลง ให้เครื่องเล่นเล่นเสียงเพลงใหม่ให้ฟัง

            หุ่นยนต์บางตัวอาจจะมีประสาทรู้สึก เช่น มีกล้องโทรทัศน์ติดเอาไว้ทำให้มองเห็นได้ เป็นต้น

            ในต่างประเทศ ใช้หุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มคุณภาพ และลดต้นทุน เหตุที่เพิ่มคุณภาพได้ก็เพราะ หุ่นยนต์ไม่เหมือนคน มันไม่รู้จักเหนื่อย และไม่รู้จักเบื่อ ส่วนที่ลดต้นทุนได้ก็เพราะ หุ่นยนต์ทำงานได้แม่นยำ ผลิตภัณฑ์จึงมีคุณภาพสม่ำเสมอ ไม่มีจุดบกพร่อง ทำงานได้เร็วและนานกว่ามนุษย์